ตลาดเครื่องปรับอากาศหรือแอร์ ที่มีมูลค่าตลาดกว่า 3 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงสภาพอากาศที่ผันผวนแต่ก็ยังมีการเติบโตเฉลี่ย 0.2% ขณะที่ในไตรมาสแรกปีนี้ พบว่าด้วยสภาพอากาศและกำลังซื้อที่ลดลงทำให้ตลาดรวมเครื่องปรับอากาศหดตัวลง 2% จากเดิมที่เคยเป็นช่วงไฮซีซัน ผู้บริโภคเตรียมซื้อแอร์ใหม่ก่อนเข้าหน้าร้อนเต็มตัว
โดยแบรนด์ที่ทำตลาดในเมืองไทย มีทั้งแบรนด์สัญชาติญี่ปุ่น อาทิ Mitsubishi electric, Mitsubishi Heavy Duty, Sharp, Hitachi, Toshiba, Daikin และ Fujitsu สัญชาติเกาหลี เช่น Samsung , LG สัญชาติจีน เช่น Haier, Midea และสัญชาติอื่นๆ เช่น Carrier, Trane ฯลฯ
รวมถึงสัญชาติไทย อาทิ Saijo-denki Central Air ฯลฯ ก็ยังคงแข่งขันกันทำตลาดเพื่อชิงยอดขายและส่วนแบ่งตลาด แต่ล่าสุดพบว่า แบรนด์จีนและแบรนด์ที่รับจ้างผลิตโดยโนฮาวของจีนกำลังเข้ายึดตลาดเมืองไทย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและตลาดเครื่องปรับอากาศอย่างมาก
นายสมศักดิ์ จิตติพลังศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตลาดเครื่องปรับอากาศเมืองไทยสูญเสียตลาดให้กับทุนจีนทั้งแบรนด์เครื่องปรับอากาศจีนที่เข้ามาทำตลาดในเมืองไทย และการรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับแบรนด์ต่างๆ ในเมืองไทย
โดยพบว่าปัจจุบันแบรนด์เครื่องปรับอากาศจีนและแบรนด์ OEM จากจีนครองส่วนแบ่งตลาดแอร์เมืองไทยแล้ว 65-70%
ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทั้งภาคการผลิตและการขาย โดยทำให้การกระจายรายได้ของประเทศต่ำลง การพัฒนาเทคโนโลยีลดลง หันไปมุ่งผลิตในราคาที่ถูกกว่า โอกาสในการพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ การจ้างงานที่ลดลง สูญเสียโปรดักต์ทิวิตี้ของประเทศ
“แบรนด์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือแบรนด์เกาหลี รองลงมาคือแบรนด์ญี่ปุ่น รวมถึงแบรนด์ไทย ที่แม้จะมีส่วนแบ่งตลาดไม่มาก แต่ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย”
อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าหลายแบรนด์หันไปมุ่งพัฒนาด้านนวัตกรรม โดยเฉพาะการรุกเซ็กเม้นต์แอร์เพื่อสุขภาพ เพื่อให้ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ที่แตกต่าง ตามเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน ซึ่งทั้งสอบปัจจัยเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ ซึ่งนอกเหนือจาก 2 ปัจจัยแล้ว ซัยโจฯเองจะให้ความสำคัญกับเรื่องของการสร้างความตระหนักรู้ถึงผลประโยชน์ที่ได้รับซึ่งอาจจะน้อยกว่าสิ่งที่ต้องสูญเสียไป ซึ่งวันนี้เริ่มเห็นแล้วว่า เมื่อทุนจีนเข้ามา ทุนญี่ปุ่นที่ไม่สามารถแข่งขันเรื่องของราคาได้ ก็ต้องย้ายออกไป
กลยุทธ์ที่ซัยโจฯ นำมาใช้เพื่อแข่งขันในตลาดคือการนำเทคโนโลยีอินเวอร์เตอร์ที่พัฒนาขึ้นและใช้ในเครื่องปรับอากาศของซัยโจฯ มาต่อยอดสู่นวัตกรรมระบบแลกเปลี่ยนอากาศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างแรงดันลบ (Negative Pressure) เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ของบุคลากรทางการแพทย์ในขณะปฏิบัติหน้าที่ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทได้ติดตั้งระบบแลกเปลี่ยนอากาศด้วยระบบความดันลบให้กับโรงพยาบาลต่างๆแล้วกว่า 1,000 เตียง
ส่วนในอนาคตมีแผนขยายไปยังหอผู้ป่วยทั่วไป รวมถึงสถานที่ทำงานและบ้านพักอาศัย ที่ต้องการสุขอนามัยที่ดี ซึ่งการรุกขยายไลน์ธุรกิจดังกล่าวทำให้ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมียอดขายราว 1,400-1,500 ล้านบาท เติบโตขึ้น 30% จากปีก่อนที่ได้รับผลกระทบทำให้ยอดขายเติบโตเพียง 5-10% และในปี 2565 ตั้งเป้าหมายที่จะเติบโต 30% เช่นกัน
ด้านนายสราวุธ เต็มภัทรศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด กล่าวว่า ตลาดเครื่องปรับอากาศเมืองไทยในไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีการแข่งขันด้านราคาที่ดุเดือด ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยทั้งเรื่องผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัส รวมถึงผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจปัจจัยด้านราคามากขึ้น โดยเลือกซื้อรุ่น-ยี่ห้อที่ราคาถูกลง ทำให้มีแนวโน้มที่มูลค่าตลาดอาจจะลดลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ดีไดกิ้นให้ความสำคัญกับเรื่องของนวัตกรรมเพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำในกลุ่มพรีเมี่ยมซึ่งปัจจุบันไดกิ้นมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 30% ในตลาดแอร์ระดับพรีเมี่ยม จึงพัฒนาไดกิ้น เซ-ต้าสขึ้น ซึ่งเซ-ต้าส เป็นโดลที่ได้แรงบันดาลใจมาจากประเทศญี่ปุ่น ด้วยเทคโนโลยีสตรีมเมอร์ ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ของไดกิ้นประเทศญี่ปุ่น จะทำให้อากาศสะอาด รวมทั้งระบบควบคุมความชื้นอัตโนมัติ ที่ทำงานผ่านมือถือได้ด้วย
คงต้องจับตาดูต่อไปว่าตลาดแอร์เมืองไทย จะพลิกกลับสู่โหมดใดเมื่อสถานการณ์และเศรษฐกิจในประเทศยังมีความผันผวน
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,689 วันที่ 20 - 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :