แม้ 5 เดือนแรกปี 2564 การส่งออกของไทยในภาพรวมจะส่งออกได้ถึงมูลค่า 108635 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(3.27 ล้านล้านบาท)ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.7% โดยเดือนพฤษภาคมคมล่าสุดไทยส่งออกได้ถึง 23,057.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(7.14 แสนล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 41.59% เป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี โดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ฟื้นตัวขยายตัวเป็นบวกยกแผง แต่ในจำนวนนี้ยกเว้นสินค้าข้าวที่การส่งออกยังดำดิ่ง โงหัวไม่ขึ้น
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ไทยส่งออกข้าวได้เพียงประมาณ 1.8 ล้านตัน เทียบกับคู่แข่งขันแล้วสถานการณ์ยังน่าห่วง เช่น อินเดียส่งออกได้ถึง 8 ล้านตัน ขณะที่เวียดนามส่งออกได้มากกว่า 2 ล้านตัน ซึ่งตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาข้าวไทยขายยากจากยังมีราคาแพงกว่าคู่แข่งขัน (ตัวอย่างราคาข้าวขาว 5% ราคาส่งออกเอฟโอบีไทย ณ มิ.ย.64 อยู่ที่ 447 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เทียบข้าวชนิดเดียวกันจากอินเดียอยู่ที่ 388-392 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน)
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ทำให้การส่งออกมีต้นทุนที่สูงจากค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ค่าระวางเรือจากกรุงเทพฯไปนิวยอร์คของสหรัฐฯขนาด 25ฟุต (บรรจุ 20 ตัน) จากปีที่ผ่านเฉลี่ยที่ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้(124,000 บาทต่อตู้ คำนวณที่ 31 บาทต่อดอลลาร์) ปัจจุบันอยู่ที่ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (465,000 บาท) ต่อตู้ (หรือสูงขึ้นกว่า 341,000 บาทต่อตู้)
“เทียบราคาข้าวหอมมะลิที่เราส่งออกที่ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน(24,800 บาท) ค่าระวางเรือตก 600 ดอลลาร์สหรัฐฯตัน(18,600 บาท) จากในอดีตราคาข้าวหอมมะลิส่งออกของไทยกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ค่าระวางเรือหรือค่าเฟรทเพียง 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันเท่านั้น แต่ปัจจุบันค่าเฟรทอย่างเดียวตกกว่า 600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันซึ่งต่างกันมาก และยังมีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการส่งออก ทำให้ส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าเกิดความล่าช้า เช่น ออเดอร์จาก 100% เวลานี้ส่งมอบได้จริงเพียง 30% ที่เหลือต้องรอตู้หมุนเวียนกลับมา ดูแล้วสถานการณ์ปีนี้น่าห่วงมาก”
นายชูเกียรติกล่าวอีกว่า จากผลพวงข้าวไทยราคาแพง ทำให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯเปลี่ยนจากการบริโภคข้าวหอมมะลิไทยไปบริโภคข้าวเมล็ดสั้นที่ผลิตในสหรัฐฯ หรือข้าวนำเข้าจากประเทศมากขึ้น ขณะที่ตลาดข้าวไทยที่ได้รับความนิยมในหมู่ชาวเอเชียในสหรัฐฯก็ถูกข้าวเวียดนามแย่งตลาดไปมากขึ้น ทำให้การส่งออกข้าวไทยไปสหรัฐฯปรับตัวลดลงอย่างมากในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ ซึ่งเป้าหมายการส่งออกข้าวไทยไปทั่วโลกปีนี้ที่ 5 ล้านตันปีนี้จะถึงหรือไม่คงลุ้นเหนื่อย
สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรระบุ ช่วง 5 เดือนแรกปี 2564 ไทยส่งออกข้าวได้ 1.77 ล้านตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วส่งออกได้ 2.57 ล้านตัน หรือลดลง 31% ส่วนแง่มูลค่า 5 เดือนแรกอยูที่ 34,392 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ที่ 54,234 ล้านบาท หรือลดลง 36.5%(ลดลงเกือบ 2 หมื่นล้านบาท)
โดยตลาดส่งออก 5 อันดับแรกได้แก่ สหรัฐอเมริกา ส่งออกมูลค่า 6,132 ล้านบาท -46%, แอฟริกาใต้ 3,712 ล้านบาท +15%, จีน 2,520 ล้านบาท -18%, ญี่ปุ่น 2,216 ล้านบาท +37% และฮ่องกง 2,023 ล้านบาท -36%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
4 เดือนไทยร่วง อันดับ 4 ส่งออกข้าวโลก
ส่งออกข้าวมกราฯ64 ไทยร่วงอันดับ 4 โลก
ส่งออกข้าวไทยQ1วูบหนัก ลุ้นอินโดฯ-บังกลาเทศซื้อล็อตใหญ่