นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ต่างด้าว พ.ศ. 2542) ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวและปกป้องธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมในการแข่งขัน โดยกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้มากว่า 20 ปี ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานทำให้ตัวบทกฎหมายฯ มีความล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่มีกฎหมายอยู่ในการกำกับดูแลต้องดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องภายใต้หลักการมีกฎหมายเท่าที่จำเป็น ลดอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต หรือการประกอบอาชีพ เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน
รวมทั้ง ตรวจสอบเนื้อหาของกฎหมายให้มีระบบอนุมัติ/อนุญาตเท่าที่จำเป็น เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ พิจารณาระบบคณะกรรมการให้มีองค์ประกอบที่เหมาะสม กระทัดรัด และการทบทวนโทษทางอาญาให้มีเฉพาะในความผิดที่ร้ายแรง เพื่อไม่ให้ผู้กระทำความผิดมีประวัติอาชญากรรม โดยประเด็นต่างๆ ที่เปิดรับฟังความคิดเห็น เช่น ความหมายของคำว่า ‘คนต่างด้าว’ จำนวนทุนขั้นต่ำที่คนต่างด้าวใช้ในการประกอบธุรกิจ การปลดล็อกธุรกิจบัญชีท้ายและสร้างกลไกในการกำกับดูแล อัตราส่วนทุนต่อเงินกู้ที่คนต่างด้าวสามารถกู้มาใช้ในการประกอบธุรกิจ และการกำกับดูแลคนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจนอกบัญชี เป็นต้น
เบื้องต้น กรมฯ กำหนดช่องทางการรับฟังความคิดเห็นฯ จำนวน 2 ช่องทาง ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยช่องทางออนไลน์บุคคลทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นฯ ผ่านทางระบบกลางทางกฎหมาย http://lawtest.egov.go.th และเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th >> กฎหมาย >> แสดงความคิดเห็นร่างกฎหมาย
สำหรับช่องทางออฟไลน์ กรมฯ จะส่งหนังสือและแบบแสดงความคิดเห็นให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อแสดงความคิดเห็นฯ ลงในแบบฟอร์มที่กำหนด นอกจากนี้ กรมฯ จะดำเนินการชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นฯ ผ่านทาง Facebook Live ของสำนักกฎหมาย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า : DBD Bureau of Law ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2564 นี้
กรมฯ จะนำความคิดเห็นทั้งหมดมาใช้ประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายฯ และหากมีประเด็นที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงจะดำเนินการในลำดับถัดไป สำหรับธุรกิจที่ไทยยังไม่มีความพร้อมแต่นักลงทุนพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนในไทย เช่นบริการขุดเจาะปิโตรเลียม ,การออกแบบระบบ การติดตั้ง การบริหารจัดการ และการบำรุงรักษา ระบบควบคุมการจัดการจราจร,การออกแบบทางวิศวกรรม วางระบบและทดสอบเครื่องจักรและอุปกรณ์ สำหรับโครงการศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าอัจฉริยะระหว่างประเทศ,บริการทางวิศวกรรมในการเป็นที่ปรึกษาเพื่อตรวจสอบและให้คำปรึกษาแนะนำ ภายใต้โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง