เช็กด่วน  34 จังหวัด เสี่ยงแล้ง มีที่ไหนบ้าง

28 มิ.ย. 2564 | 10:54 น.

เช็กด่วน ​​​​​​กนช. เปิดพื้นที่ 34 จังหวัด 1,603 ตำบล 272 อำเภอ เสี่ยงแล้ง ผงะ อีสานนำโด่ง 16 จังหวัด 204 อำเภอ  1,344  ตำบล  "สมเกียรติ" อัพเดท​ "บัญชีแหล่งน้ำทั่วประเทศ" ตามกฎหมายน้ำ ทั้งตามธรรมชาติ มนุษย์สร้างขึ้น น้ำใต้ดิน ครบวงจร

ประวิตร วงษ์สุวรรณ

 

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2564  ผ่าน VDO Conference ไปยังผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณ เป็นต้น ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

 

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เผยว่า ในที่ประชุมในวันนี้ ได้รับทราบสถานการณ์น้ำและความก้าวหน้าการดำเนินงานตาม 10 มาตรการรับมือฝนปี 2564 โดยกำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการตาม 10 มาตรการอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการสื่อสารไปยังประชาชนต้องเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้รับทราบในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาชนจะได้เตรียมตัวรับมือต่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และให้ทุกหน่วยงานเตรียมแผนป้องกันในระหว่างที่อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง

 

คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว โดยคาดการณ์ พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งเนื่องจากฝนน้อยกว่าค่าปกติ พบว่าในเดือนสิงหาคม จะมีพื้นที่เสี่ยงมากที่สุด จำนวน 1,603 ตำบล 272 อำเภอ 34 จังหวัด

 

โดยแบ่งเป็น "ภาคเหนือ" จำนวน 12 จังหวัด 49 อำเภอ 209 ตำบล ประกอบด้วย จังหวัด  เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก ลำปาง ลำพูน สุโขทัย  และอุทัยธานี  

 

"ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" 16 จังหวัด 204 อำเภอ  1,344  ตำบล ประกอบด้วย จังหวัดชัยภูมิ กาฬสินธุ์ นครราชสีมา อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด เลย ขอนแก่น บุรีรัมย์ มหาสาคาม มุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ หนองคาย อำนาจเจริญ และอุดรธานี

 

"ภาคกลาง" มี 5 จังหวัด 19 อำเภอ 50 ตำบล ได้แก่ จังหวัดชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง

 

พลเอก ประวิตร  กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานจัดหาแหล่งน้ำสำรองและเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด รวมทั้งเร่งเตรียมความพร้อมแผนงาน/โครงการในการแก้ไขปัญหา หากจะต้องพิจารณาเสนอของบประมาณเพิ่มเติม เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ภัยด้านน้ำต่างๆ

 

สมเกียรติ ประจำวงษ์

 

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า การจัดทำแผนปฏิบัติการน้ำ ปี 2566-2570 แบ่งเป็น 3 ช่วงโดยเริ่มที่หน่วยงานและจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการและยืนยันแผนในระบบภายในเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2564 จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการในพื้นที่คืออนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และ คณะกรรมการลุ่มน้ำในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 และเข้าสู่การพิจารณาของ กนช.

 

 โดย สทนช. ในฐานะเลขานุการ กนช. จะวิเคราะห์และจัดทำแผนปฏิบัติการน้ำของประเทศ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 และเสนอ กนช. พิจารณาภายในเดือนธันวาคม 2564 เพื่อให้ทันตามปฏิทินงบประมาณ ปี 2566 ที่คาดว่าสำนักงบประมาณจะให้หน่วยงานเสนอแผนผ่านระบบ budgeting ช่วงเดือนมกราคม 2565

 

ในส่วนความก้าวหน้าการจัดทำทะเบียนแหล่งน้ำ สทนช. ได้รวบรวมข้อมูลบัญชีแหล่งน้ำ โดยแบ่งขนาดของแหล่งน้ำตามความจุ ดังนี้ แหล่งน้ำขนาดเล็ก คือ แหล่งน้ำที่มีขนาดน้อยกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร จำนวน 142,234 แห่ง แหล่งน้ำขนาดกลาง คือ แหล่งน้ำที่มีขนาด 2 ถึง 100 ล้านลูกบาศก์เมตร จำนวน 659 แห่ง และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ คือ แหล่งน้ำที่มีขนาดมากกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร จำนวน 38 แห่ง รวมทั้งแบ่งตามประเภทของแหล่งน้ำและทางน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น และแหล่งน้ำใต้ดิน

 

โดยที่ประชุมเห็นชอบและได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานดำเนินการลงทะเบียนแหล่งน้ำ ผ่านระบบ Thai Water Resources ( คลิกที่นี่) เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการเสนอขอตั้งงบประมาณ พิจารณาแผนงาน/โครงการ สามารถตรวจสอบหน่วยงานที่รับผิดชอบ ลดความซ้ำซ้อนของแผนงาน/โครงการในแหล่งน้ำเดียวกัน โดยให้เชื่อมโยงกับระบบ Thai Water Plan ซึ่งจะทำให้การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศมีความสมบูรณ์ ครอบคลุมในทุกมิติ สะดวกและรวดเร็ว มีความโปร่งใส สามารถใช้งบประมาณได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด