ล่ารายชื่อ จี้ “เปลี่ยนอธิบดีกรมปศุสัตว์” แก้ “โรคลัมปีสกิน” ล้มเหลว

29 มิ.ย. 2564 | 05:25 น.

“เกษตรกรเลี้ยงวัวควาย” ล่ารายชื่อเปลี่ยนอธิบดีกรมปศุสัตว์ แห่ล่ารายชื่อ จี้ เปลี่ยนอธิบดีกรมปศุสัตว์ แก้ “โรคลัมปีสกิน” ล้มเหลว ไร้ศักยภาพ

จากปัญหาเรื่องโรคลัมปีสกิน ที่มีการระบาดอย่างรวดเร็ว ในประเทศไทย มาจากการที่ กรมปศุสัตว์ที่ดูแลโดย นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ไม่มีการป้องกันการเกิดโรคที่ดีพอ ทั้งๆที่โรคลัมปีสกิน เกิดในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่สามารถเอาวัคซีนมาฉีดได้ก่อนการเกิดโรค เพียงแค่ประกาศห้ามเคลื่อนย้าย แต่ก็มีการเกิดโรคที่แรกในจังหวัด ร้อยเอ็ด และกระจายต่อไป ในหลายพื้นที่ ทำให้ “วัว-ควาย” ตายเป็นจำนวนมาก

 

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจของเกษตรกรเลี้ยงวัวควาย ได้สร้างแคมเปญ ล่ารายชื่อผ่านเว็บไซต์ https://www.change.org/    เรื่อง “เปลี่ยนอธิบดีกรมปศุสัตว์” โรคลัมปีสกินระบาดหนัก “ไม่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาที่ดีพอ” เพื่อร้องเรียนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้มีอำนาจตัดสินใจอื่นอีกคน (นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำกับดูแลหน่วยงานกรมปศุสัตว์)

 

“โรคลัมปีสกิน” ถึงแม้โรคนี้จะพึ่งเกิดในประเทศไทย แต่ก็เคยเกิดในประเทศอื่นมาแล้ว ซึ่งไม่ใช่ข้ออ้างที่ดีในการปฏิเสธความรับผิดข้อ และมาตราฐานการจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ทันต่อโรคที่กำลังระบาดในประเทศ เช่น มาตราการ การฉีดวัคซีน ควรจะกำหนดมาตรการไว้ก่อนที่จะนำวัคซีนมา พอได้วัคซีนมาก็ไม่สามารถทำตามข้อกำหนดได้ เพราะ ทำให้เจ้าหน้าที่ยากต่อการทำวัคซีน จึงทำให้ฉีดวัคซีนได้ล่าช้าออกไป

 

ปัจจุบันการแก้ปัญหาที่ล่าช้าที่เกิดขึ้น ทำให้มีคนลักลอบนำเข้า “วัคซีนเถื่อน” มาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เกษตรกรต้องแบกรับภาระค่าวัคซีน แพงเกินจริง 5-10 เท่ากว่าที่ควรจะเป็น เพราะไม่สามารถรอวัคซีนที่ดำเนินการล่าช้า จากกรมปศุสัตว์ได้ ในส่วนเกษตรกรที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน วัว-ควาย ก็ตายไป

 

 

อดุลย์ วังตาล

 

ต่อกรณีนั้น นายอดุลย์ วังตาล นายกสมาคมผู้เลี้ยงโคนมไทยโฮลส์ไตน์​ฟรีเชี่ยน เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ผมคิดว่าข้าราชการก็พยายามทำอย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว แต่ต้องยอมรับว่ามีเงื่อนไขเยอะ เพราะเป็นเรื่องด่วน จะไปจองได้อย่างรวดเร็วยาก เหมือนกับวัคซีนโควิด และคิดไม่ถึงว่าจะรุนแรง และล้มตายเป็นจำนวนมาก ทั้งที่จริงอัตราการตายควรจะมีน้อย ปรากฏว่าเยอะกว่าที่คาด และกว่าที่จะตรวจไวรัส เพราะให้ตรงกับวัคซีนที่ถูกต้องต้องใช้เวลา เพราะหากใช้วัคซีนที่ไม่ถูกต้องก็ไม่มีประโยชน์

 

ส่วนลักษณะของไวรัสระบาดไปแล้ว ในพื้นที่อยู่ในตัวสัตว์แล้วเราไปฉีดก็จะปะทุขึ้นมา สัตว์ก็ยิ่งเจ็บป่วยจำนวนมาก นโยบายจะต้องฉีดสัตว์ที่ไม่ได้รับเชื้อเท่านั้นเพื่อป้องกัน แต่โรคนี้มาพริบตาเดียวแค่ 3-4 วัน ระบาดถึงกันหมดเลย เพราะป้องกันยุงไม่ได้ เพราะฉะนั้นผมว่าใครทำนโยบายนี้ก็ลำบาก ไม่มีทาง อารมณ์เหมือนวัคซีนโควิด ในขณะนี้ จะให้แก้ปัญหาฉับพลัน ผมเห็นใจ แต่ตอนนี้ทางกรมปศุสัตว์ก็พยายามทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมเห็นใจ อีกด้านก็สงสารเกษตรกรรายย่อย อยากจะให้แก้ไขโรคนี้ให้จบโดยเร็ว

 

นัยฤทธิ์ จำเล

 

ด้านนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่ง​ประเทศไทย จำกัด กล่าว ถึงการที่ ทัวร์มาลง อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในความเป็นจริงต้องไปดูระดับนโยบาย ผมว่าอธิบดีทำงานแอคชั่น! แต่ที่สมาชิกทางภาคอีสาน รายงาน ว่าโดนผู้ใหญ่สกัดเพื่ออะไรมิทราบ แต่ที่ทราบอธิบดีพยายามจะปิดโรค เช่น มีโรคแถวชายแดน มุกดาหาร สั่งปิด ห้ามเคลื่อนย้าย แต่อธิบดีโดนใครไม่รู้เบรกกลางอากาศ ฝ่ายสมาชิกก็ร้องเรียนมายังประธานฯ ว่าไม่ไหวแล้ว โรคระบาดหนักมาก แต่หลังจากนั้นท่านเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็เลยสั่งการด้วยตัวเอง จึงมีที่มาที่ไปประมาณนี้แต่ผมไม่รู้ตื้นลึกหนาบางผมไม่รู้ แต่มีสมาชิกทางภาคอีสานแนวตะเข็บชายแดนรายงานมาให้ทราบ

 

“วันนี้เหมือนไม่เด็ดขาด โรคลัมปีสกิน มาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ปี 2562 ปลายปี ไม่ใช่เพิ่งมารู้ปี 2564 แล้วถ้าทราบก็ซื้อวัคซีนมาป้องกันไว้ ก็จบแล้ว ปล่อยเรื่องเนิ่นนาน ช้าไป 1 ก้าว ถ้าทำงานรวดเร็วน่าจะดีกว่านี้ ผมไม่ได้โทษอธิบดี ผมไม่ได้โทษใคร วันนี้ก็เหมือนวัคซีนคน “วัคซีนโควิด” ตัดสินใจชักเข้าชักออก เหตุการณ์บานปลาย ทำให้ธุรกิจโคเนื้อ โคนมเสียหายมาก”

 

นายนัยฤทธิ์ กล่าวอีกว่า วันนี้ทางชุมนุมฯ ได้ทำเป็นตัวอย่างให้ทุกภาคส่วนได้มองเห็น ถ้าเราไม่ทำ จะรอวันตายไม่ได้ วันนี้โคนม จะต้องขับเคลื่อนเรื่องของซื้อบริจาควัคซีนลัมปีสกิน 7 หมื่นโด๊ส วันนี้เราไม่ได้เอาหน้า โดยที่ประชุมคณะกรรมการชุมนุมฯ มีนโยบายนำเข้าวัคซีนโดยไม่รองบประมาณจากรัฐบาลแล้ว ล่าสุดกรมปศุสัตว์ และรัฐมนตรีช่วยฯ บอกว่าจะนำเข้า ครม.อีก 5 ล้านโด๊ส ผมประเมินได้เลยว่าจะเข้ามาใช้เดือน ตุลาคมก็ยังไม่ได้ฉีด เพราะกว่าจะผ่านขั้นตอนยุ่งยาก รอไม่ได้ วันนี้ที่สั่งซื้อวัคซีน เมื่อวาน  28 มิถุนายน ผ่านมา วัคซีนถึงท่าเรือคลองเตยเรียบร้อยแล้ว

 

นายนัยฤทธิ์  กล่าวว่า ผมก็ยังมองการทำงานของท่าน ก็ขับเคลื่อน แต่ไม่ทันสถานการณ์ แต่ความรู้ผมคิดว่ายังคงมีคนที่ใหญ่กว่าอธิบดี อธิบดีอำนาจไม่เพียงพอ วันนี้โคนม-โคเนื้อ มี จำนวน 7 ล้านตัว ช้าไปแล้ว เกิดโรคไปแล้ว แล้ววัคซีนราคาก็ไม่ได้แพง โด๊สละ 41-43 บาท แต่ กรมปศุสัตว์นำเข้ามาล็อตแรกแค่ 6 หมื่นโด๊ส  แลกกับชีวิตโคตัวละ 5 หมื่น-6 หมื่นบาท ผมสงสารเกษตรกร และเศรษฐกิจแบบนี้ แล้วหากปล่อยไว้แบบนี้ผู้บริโภคจะทำให้ไม่กล้ารับประทานเป็นโรคยิ่งแย่ใหญ่ หากโคนม เป็นโรค ก็ส่งน้ำนมดิบไม่ได้ ปล่อยไว้ปัญหาจะบานปลาย

 

“ตอนนี้สมาชิกก็มาร้องเรียนกันเป็นจำนวนมาก ในเรื่องการจัดสรร "โควตาวัคซีนโรคลัมปีสกิน" ว่า จังหวัดนั้น ทำไมจัดสรรวัคซีนได้แค่นี้ จังหวัดนี้ทำไมได้แค่นั้น โดนหลายเด้งจนทุกคนมองว่า กรมปศุสัตว์ทำอะไรอยู่ แต่ในความเป็นจริงก็มองว่ากรมก็ทำนะแต่ว่ายังขับเคลื่อนไม่เต็มที่หรือไม่ หรือโดนฝ่ายการเมืองบีบหรือไม่ ว่าจะต้องจัดสรรวัคซีนไปจังหวัดโน้น เท่านี้ ที่เราเห็นตัวเลขเยอะผิดปกติ แต่ทำไมจังหวัดที่มีวัวนม มีวัวเนื้อทำไมจัดสรรโควตาวัคซีนมาน้อย จะต้องชี้แจงให้เกษตรกรเข้าใจและรับรู้ว่าเพราะอะไร เคลือบแคลงใจ ส่วนจังหวัดที่จัดสรรโควตาวัคซีนไปเยอะ ต้องมีเหตุผลให้เพราะอะไร อยากทราบวิธีการจัดสรรจัดด้วยหลักอะไร ก็รู้สึกน้อยใจ และก็ต้องทำใจ เพราะ "ค่าวัคซีนโรคลัมปีสกิน" ราคาโด๊สละ 41-43 บาท รับประทานข้าว 1 มื้อ ยังมากกว่านี้

อัพเดทโพลล์ล่าสุด เวลา 14.30 น.วันที่ 29 มิถุนายน 2564

ล่ารายชื่อ จี้ “เปลี่ยนอธิบดีกรมปศุสัตว์” แก้ “โรคลัมปีสกิน” ล้มเหลว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง