สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่วิกฤติรุนแรง ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ใกล้เข้าสู่ระดับหลักหมื่นคนต่อวัน ส่งผลให้รัฐบาลต้องออกประกาศล็อกดาวน์ ใน 10 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา โดยมีมาตรการควบคุมต่างๆ ออกมา รวมถึงประกาศเคอร์ฟิวงดการเดินทางที่ไม่จำเป็นและจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด เป็นต้น
มาตรการล็อกดาวน์ดังกล่าว แม้ว่าจะจำกัดอยู่เพียง 10 จังหวัด แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นเวลานี้ได้ขยายวงออกไปกว้างมากขึ้น ไม่เพียง 9 ประเภทสาขาที่รัฐบาล ออกมาตรการเยียวยากลุ่มผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกด้วย
ภาคผลิตกระทบหนัก
นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การล็อกดาวน์ 14 วันส่งผลให้คนเริ่มค้าขายลำบาก หากยังไม่สามารถแยกผู้ติดเชื้อ และคนที่ไม่ติดเชื้อออกจากกันได้ การแพร่ระบาดก็จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง ภาคเอกชนก็จะลำบาก เศรษฐกิจคงยากจะฟื้นกลับมาเหมือนเดิม
ขณะที่การส่งออกเองก็เริ่มชะงักหลายๆ โรงงานใหญ่ๆ เริ่มมีคนติดเชื้อ แรงงานบางส่วนต้องกักตัว โรงงานต้องล็อกดาวน์ตัวเองทำให้เกิดการสะดุด ภาคอุตสาหกรรมต้องยอมรับว่าทุกวันนี้โควิดมีผลกระทบเยอะพอสมควร
ส่วนภาคการท่องเที่ยวเอง ต้องยอมรับว่า ช่วงที่มีการปิดประเทศนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเข้ามาในประเทศได้ แต่ตัวเลขการท่องเที่ยวกลับดีขึ้นเติบโต 20-40% แต่ถึงตอนนี้ตัวเลขการเติบโตนั้นลดลงเหลือไม่ถึง 5% สิ่งสำคัญคือ ต้องเร่งแยกผู้ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อออกจากกัน และทยอยเปิดพื้นที่ เช่น อุตสาหกรรมไหน หรือร้านอาหารที่พนักงานฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม สามารถเปิดกิจการได้ เป็นต้น
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลพวงจากมาตรการดังกล่าว ภาคผลิตอุตสาหกรรมขอให้ภาครัฐช่วยดูแลไม่ให้ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดใน 23 อุตสาหกรรม และขอให้ภาครัฐ งัดแผนเดิมที่เคยนำเสนอในการดูแลอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ไม่ให้ได้รับผลกระทบ โดยดูแลอย่าให้โรงงานต้องหยุดผลิตหรือมีปัญหาความล่าช้าจากการขนส่งวัตถุดิบเข้าโรงงาน หรือขนส่งสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศ หรือเพื่อส่งออกจากการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่คุมเข้มการเคลื่อนย้ายประชาชน โดยต้องมีการประสานงานกันให้ดีระหว่างจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ค้าปลีกยอดขายร่วงระนาว
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การล็อกดาวน์ครั้งนี้มี 2 สิ่งที่แตกต่างจากล็อกดาวน์ปีที่แล้ว คือ ครั้งนี้ปิดพื้นที่เสี่ยง 10 จังหวัด แต่เมื่อปีที่แล้วปิดทั้งประเทศ แต่10 จังหวัดที่ล็อกดาวน์เป็นจังหวัดที่มีอิทธิพลเรื่องเศรษฐกิจของประเทศถึง 70% ของ GDP ประการต่อมาวิกฤติโควิดครั้งนี้มีความรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา คนติดเชื้อเกือบหมื่นคนและมีคนเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น
การล็อกดาวน์ครั้งนี้จึงมีผลกระทบธุรกิจด้านค้าปลีกจังหวัดที่ถูกปิดบริการเป็นอย่างมาก ในภาพรวมของธุรกิจแต่ละประเภท มีตั้งแต่ติดลบ 20% ถึง 90% ของยอดขายปกติ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังดี คือ ธุรกิจค้าปลีกมีหลายธุรกิจมีการปรับตัว เสริมทัพทั้งออนไลน์ ใช้สาขาให้มีประโยชน์ และแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ ทำให้ธุรกิจค้าปลีกสามารถทำรายได้ประมาณ 20 - 30% ของยอดขายปกติ
เมื่อยอดขายหายไปของกลุ่มการค้าปลีกมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ส่วนในกลุ่มการค้าปลีกมี sme มากกว่า 3.1 ล้านราย และได้มีการจ้างงานมากกว่า 12 ล้านคน สิ่งสำคัญที่สุดคือ sme ถือเป็นกระดูกสันหลังของประเทศเมื่อเจอผลกระทบแบบนี้ ก็เหมือนเศรษฐกิจของไทยเป็นอัมพาตไปกว่าครึ่งตัวโดยทั้ง 3 ภาค คือ ภาคค้าปลีก ภาคการผลิต และภาคการท่องเที่ยว มีความเชื่อมโยงและเกื้อหนุนกัน เมื่อเกิดวิกฤติกับภาคใดภาคหนึ่งทำให้เกิดผลกระทบที่เรียกว่า domino effect กับสองภาคที่เหลืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และผลกระทบครั้งนี้ ส่งผลให้ นี้ sme บางส่วนไปต่อไม่ได้ และตายไปจากระบบ
แอร์ไลน์อ่วมเที่ยวบินวูบ
นายกิตติพงษ์ กิตติขจร รองผู้ว่าอำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า มาตรการล็อกดาวน์ใน 10 จังหวัด ส่งผลให้จำนวนการเดินทางสำหรับเส้นทางบินภายในประเทศลดลงไปกว่า 70% ส่งผลให้สายการบินต่างๆต้องยกเลิกและลดปริมาณเที่ยวบินในช่วงนี้ อีกทั้ง มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องทุกวัน เห็นได้จากจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 มีเที่ยวบินในประเทศ 97 เที่ยวบินต่อวัน จำนวนผู้โดยสาร 6,544 คนต่อวัน แต่ในวันที่14 กรกฎาคม มีเที่ยวบินในประเทศเหลืออยู่ 25 เที่ยวบิน จำนวนผู้โดยสารเหลือ 1,900 คน
ร.ท.สัมพันธ์ ขุทรานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณการเดินทางเข้า-ออก ท่าอากาศยานดอนเมือง หลังจากรัฐบาลออกมาตรการจำกัดการเดินทาง 14 วันนี้ ส่งผลให้สายการบินขอปรับลดเที่ยวบินและยกเลิกเที่ยวบินลง เนื่องจากมีผู้โดยสารน้อยมาก โดยสายการบินไทยแอร์เอเชียประกาศหยุดบินไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ขณะที่สายการบินที่ยังเปิดให้บริการอยู่ก็ขอปรับลดจำนวนเที่ยวบินลงส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินของสนามบินดอนเมืองจากเดิม 100 เที่ยวบินต่อวัน วันนี้เหลืออยู่ที่ 35 เที่ยวบินต่อวัน จำนวนผู้โดยสารจาก 8-9 พันคนต่อวัน เหลืออยู่ราว 2 พันคน ลดลงไปกว่า 60% ซึ่งผู้โดยสารหากได้รับผลกระทบจากการเลื่อนหรือยกเลิกเที่ยวบินก็สามารถตรวจสอบกับสายการบินต่างๆเพื่อใช้สิทธิการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 ตามกฏหมายที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.)กำหนด เช่น ถ้ายกเลิกโดยแจ้งก่อน 3 วัน สายการบินต้องชดเชยเงินให้ผู้โดยสาร1,200 บาท เป็นต้น
ขยายเวลาช่วยเหลือ
ขณะที่การเยียวยาสายการบิน ทางคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ได้ขยายเวลาการช่วยเหลือสายการบินต่างๆของไทย โดยได้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ของสายการบินที่ปกติต้องชำระค่าธรรมเนียมการบินเข้าหรือออกประเทศ และขยายมาตรการปรับลดและยกเว้นค่าบริการสนามบินที่ให้บริการทั้งเที่ยวบินภายในและระหว่างประเทศสำหรับไตรมาสที่ 3 ปีนี้
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่ามาตรการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้น ได้มีการเยียวยาทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน เพื่อรักษาการจ้างงานให้เดินต่อไปได้ขณะที่โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้นั้นยังมีอยู่ ซึ่งรัฐบาลอยู่ระหว่างศึกษาปรับปรุงเพิ่มเติมอยู่ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่า รัฐบาลมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทุกวัน พร้อมเตรียมแผนเยียวยาและฟื้นฟูต่างๆ ให้เร็วและทันต่อความต้องการของประชาชนให้เร็วที่สุด
หน้า 1 นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,697 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 18-21 ก.ค.64