นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ได้ออกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องหลักเกณฑ์การจัดสรรเส้นทางบินให้กับผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พ.ศ. 2564
โดยระบุว่าตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่26 มีนาคม 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศสถาน การณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป เป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่30 กันยายน 2564
รวมถึงได้มีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) ประกาศ ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 กำหนดมาตรการที่มุ่งลดและจำกัดการเคลื่อนย้าย การเดินทางของบุคคล และการดำเนินกิจกรรมในระบบขนส่งสาธารณะให้มากที่สุดเพื่อลดการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน
รวมทั้งตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) ที่ 10 /2564 เรื่องพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูงตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องแนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศในเส้นทางการบินภายในประเทศ ในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 3)
ส่งผลให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพล เรือนไม่สามารถปฏิบัติการบินรับส่งผู้โดยสารเข้าหรือออกจากสนามบินดอนเมืองหรือสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม2564 เป็นต้นไป
ดังนั้นเพื่อประโยชน์สาธารณะในการส่งเสริมให้มีการใช้บริการขนส่งทางอากาศที่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ต้องการเดินทางทางอากาศเพื่อกลับภูมิสำเนาหรือปฏิบัติภารกิจอันจำเป็น รวมถึงช่วย บรรเทาผลกระทบของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนให้สามารถดำรงสถานะทางการเงินและให้บริการแก่ประชาชนต่อไปได้
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยจึงเห็นควรสนับสนุนและเปิดโอกาสให้มีการปฏิบัติการบินรับส่งผู้โดยสารเข้าหรือออกจากสนามบินอู่ตะเภา ระยอง พัทยา ซึ่งเป็นการทำการบินในเส้นทางสายย่อย (เส้นทางที่มีผู้โดยสารใช้บริการไม่ถึงหนึ่งแสนคนต่อปี)
ทั้งนี้ ตามข้อ 6 (3) ของประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ การจัดสรรเส้นทางบินให้กับผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ พ.ศ. 2560 กำหนดว่า เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ได้รับใบอนุญาตที่ทำการบินในเส้นทางสายย่อย ผู้อำนวยการสำนักงานการบิน พลเรือนแห่งประเทศไทยจะอนุญาตให้มีผู้ได้รับใบอนุญาตในเส้นทางสายย่อยในแต่ละเส้นทางไม่เกิน3ราย
ดังนั้นเพื่อเป็นการผ่อนคลายข้อกำหนดการจัดสรรเส้นทางบินสำหรับเส้นทางสายย่อยดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในข้อ 30 วรรคสอง ของข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่97 ว่าด้วยการอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน ประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์และประเภท การทำงานทางอากาศ
ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยจึงออกประกาศกำหนด หลักเกณฑ์การจัดสรรเส้นทางบินภายในประเทศให้กับผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) ไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ เรียกว่า "ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรเส้นทางบินให้กับผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) พ.ศ. 2564"
ข้อ 2 ในการจัดสรรเส้นทางบินภายในประทศในเส้นทางสายย่อยตามประกาศสำนักงาน การบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรเส้นทางบินให้กับผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ พ.ศ.2560 ผู้อำนวยการจะพิจารณาอนุญาตให้มีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ การบินพลเรือนแบบประจำมีกำหนดที่ทำการบินรับส่งผู้โดยสารเข้าหรือออกจากสนามบินอู่ตะเภา ระยอง พัทยาได้มากกว่า3ราย
ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนแบบประจำมีกำหนดที่ได้รับการจัดสรรเส้นทางบินสายย่อยตามวรรคหนึ่งจะทำการบินในเส้นทางดังกล่าวได้จนถึงวันที่30 ตุลาคม2564
ข้อ 3 บรรดาคำขอรับการจัดสรรเส้นทางบินในเส้นทางสายย่อยซึ่งได้ยื่นไว้ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับและยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ให้ถือว่าเป็นคำขอตามประกาศนี้และให้ดำเนินการกับคำขอดังกล่าวตามประกาศนี้
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 30 ตุลาคม2564 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
สาระสำคัญของประกาศดังกล่าว คือ กพท.หรือ CAAT ได้เปิดโอกาสให้สายการบินในประเทศขออนุญาตทำการบินเข้า-ออกสนามบินอู่ตะเภาฯ เพิ่มเติมได้มากกว่า3ราย
จากเดิมที่เส้นทางจากสนามบินอู่ตะเภาฯ ถือเป็นเส้นทางสายย่อย (เส้นทางที่มีผู้โดยสารใช้บริการไม่ถึง 1 แสนคนต่อปี) ซึ่งมีข้อกำหนดว่า มีสายการบินให้บริการได้ไม่เกิน 3 ราย
ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2564 หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง