กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จับมือ 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำเดินหน้าพัฒนาโครงการส่งเสริมปลูกสมุนไพร และสกัดสารสำคัญ ตั้งเป้าลดปริมาณนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศที่ไทยใช้เป็นส่วนผสมการผลิตมากถึง 95% ของวัตถุดิบทั้งหมด มูลค่าปีละ แสนล้าน ชี้ต้องเร่งพัฒนาพันธุ์และส่งเสริมเกษตรกร
นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมสมุนไพรไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจผลิตสินค้าเสริมอาหารและเครื่องสำอาง จะต้องนำเข้าวัตถุดิบที่เป็นสมุนไพรไทยจากต่างประเทศถึง 95% ของวัตถุดิบทั้งหมด ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 5% เท่านั้นที่เป็นวัตถุดิบภายในประเทศ ปัญหาสำคัญเกิดจากประเทศไทยไม่สามารถหาวัตถุดิบที่เป็นสมุนไพรที่ดีมาใช้ในการผลิตสินค้าได้ เนื่องจาก 2 สาเหตุสำคัญ ได้แก่ 1. ปัญหาการเพาะปลูกพืชสมุนไพรมีไม่เพียงพอ และ 2. กรรมวิธีการสกัดเพื่อให้ได้สารสำคัญที่มีคุณภาพดีเพียงพอยังไม่สามารถทำได้
“เป้าหมายสำคัญหลังจากได้เข้ามาเป็นประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึงที่ผ่านมาได้ทำงานในสมาคมสมุนไพรไทย และเป็นประธานสมาพันธ์สุขภาพและความงาม จึงอยากเห็นประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในเรื่องของสมุนไพร เนื่องจากเป็นประเทศที่มีภูมิอากาศเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก ซึ่งให้ผลผลิตที่ดีและยังต่อยอดสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกด้วย จึงอยากเห็นประเทศไทยโด่งดังในเรื่องของสุขภาพ”
ด้านการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชสมุนไพร ได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ 4 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ในการพัฒนาพันธุ์ต้นกล้าสมุนไพรและนำไปให้เกษตรกรเพาะปลูก รวมถึงการส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรให้เพาะปลูกได้อย่างถูกต้อง เพื่อที่จะได้คุณภาพสมุนไพรที่ดี ซึ่งเกษตรกรจะต้องรวมกลุ่มกันในลักษณะวิสาหกิจชุมชน และจัดทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง เพื่อจัดซื้อวัตถุดิบในราคามาตรฐาน
ขณะเดียวกันได้เตรียมประสานงานกับหน่วยงาน ที่มีความรู้และเทคโนโลยีด้านการสกัดสมุนไพร เพื่อให้ได้สารสำคัญมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งจะนำไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรเพื่อสกัดสมุนไพร ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าได้มากขึ้น โดยอาจจะมีการนำเครื่องสกัดไปให้แต่ละชุมชนได้ใช้งาน เนื่องจากราคาเครื่องสกัดสารยังมีราคาที่สูง รวมถึงการส่งเสริมให้โรงงานสกัดสมุนไพรที่มีอยู่ปัจจุบันมีมาตรฐานการสกัดสมุนไพรให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด
นายนาคาญ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในแต่ละปีมีมากกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งสัดส่วนของวัตถุดิบที่ใช้มีมากถึง 30-40% หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท หากสามารถสกัดสารสำคัญที่เป็นสมุนไพรไทยได้ และนำมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนจากต่างประเทศได้เพียง 50% จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายลงได้กว่า 5 หมื่นล้านบาท และหากมีการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น ด้วยวัตถุดิบของประเทศไทยเชื่อว่าจะทำรายได้เข้าประเทศกว่า 1 แสนล้านบาท
“ประเทศไทยควรหันมาจับตลาดสุขภาพและความงาม เพราะเป็นเทรนด์ของตลาดโลกในยุคปัจจุบัน ที่คนเริ่มมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นและต้องใช้สินค้าต่างๆ เหล่านี้ และยังสามารถต่อยอดไปยังธุรกิจอื่นๆ ได้อีกมากมายเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันประเทศไทยมีตำรับยาสมุนไพรกว่า 5 แสนสูตรของแพทย์แผนไทย ซึ่งสปาไทยเองเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาก็ได้รับความนิยมสูง และสมุนไพรไทยที่โด่งดังมีนับ 100 ชนิด เราคงจะส่งเสริมสมุนไพรที่ได้รับความนิยม 30 ชนิดเพื่อให้เกิดการเพาะปลูกและสกัด ซึ่งขณะนี้มีสมุนไพรที่มีศักยภาพและโอกาสทางการตลาด อาทิ กระชายดำ ใบบัวบก ไพร ขมิ้น และกวาวเครือ เป็นต้น ที่จะมีการพัฒนาและส่งเสริมให้มีการเพาะปลูก โดยโครงการนี้คงต้องใช้ระยะเวลา 4-5 ปีกว่าจะเห็นผลในการได้วัตถุดิบ” นายนาคาญ์ กล่าว
Photo :
Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,153 วันที่ 1 - 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559