สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) ร่วมกับ ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพันธมิตร จัดสัมมนาออนไลน์ CMA-GMS Business Forum 1/2021 CLMV TODAY: Fighting for Future “กลางวิกฤต COVID โอกาสทางธุรกิจยังมีอยู่ไหม? ” เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 27 ส.ค.2564
โดยวิทยากรจากนักวิชาการ และผู้บริหารองค์กรธุรกิจที่มีบทบาทแถวหน้าในกลุ่มประเทศ CLMV เห็นร่วมกันว่า ตลาดเพื่อนบ้านรอบประเทศ คือ กัมพูชา เวียดนาม สปป.ลาว และเมียนมา เป็นโอกาสของธุรกิจไทย แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าผลจากการระบาดเชื้อโควิด-19 หรือการแข่งขันชิงจัดระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกาและจีนที่เข้มข้นขึ้น โดยมีภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์หลัก มีรายละเอียดดังนี้
รศ. ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า ธุรกิจไทยยังได้อานิสงส์จากแบรนด์ไทยแลนด์ ที่สินค้าไทยยังได้รับความยอมรับจากผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็ชี้ว่าตลาดซีแอลเอ็มวี.กำลังปรับตัวอย่างรวดเร็ว จากปัจจัยหลัก 2 ประการ คือ การระบาดเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทุกส่วน และยาวนานพอที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค หรือระเบียบวิถีชีวิตปกติใหม่หลังโควิดคลี่คลาย และการแข่งขันจัดระเบียบโลกระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งมีภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ
นโยบายเส้นทางสายไหมไหม่(BRI)ของจีน ที่จีนพร้อมสนับสนุนโครงการลงทุนของประเทศต่าง ๆ หากมาหนุนเสริมนโยบายนี้ ทำให้จีนมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกัมพูชา ลาว หรือกระทั่งเมียนมา ล่าสุด ลาวจะเปิดใช้ทางรถไฟจีน-ลาว 2 ธ.ค.2564 นี้ ซึ่งเชื่อมเข้ากับระบบรถไฟของจีน ที่ต่อเนื่องไปถึงสุดยุโรปตะวันตก และกำลังต่อขึ้นไปถึงสแกนดิเนเวีย เปิดอีกทางเลือกของสินค้าจากอาเซียนและซีแอลเอ็มวี สามารถไปถึงทุกเมืองในยุโรปได้แม้จะแพงกว่าทางเรือ 2 เท่า แต่ถึงเร็วกว่าใน 25-30 วันเช่นกัน
ขณะที่สหรัฐเองชี้ว่าจีนคือภัยคุกคาม ใช้ยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน โดยขยายพื้นที่ทำการกองเรือที่ 7 จากเดิมอยู่เฉพาะมหาสมุทรแปซิฟิก ให้ข้ามมาถึงช่องแคบมะละกา และมหาสมุทรอินเดีย หรือ"อินโด-แปซิฟิค" ทับซ้อนแนวเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีนโดยตรง ต้องระวังกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ และกรณีเมียนมาเป็นจุดที่อ่อนไหวที่สุด จากสถานการณ์ความขัดแย้งภายในระหว่างกองทัพกับภาคประชาสังคม ที่อาจถูกมหาอำนาจเข้าแทรกแซง ถือหางหรือติดอาวุธกลุ่มต่อต้าน จนอาจถลำเป็นสงครามกลางเมืองแบบซีเรีย ซึ่งอาเซียนต้องร่วมมือกันหาทางคลี่คลายและรักษาสมดุล
ภายในแต่ละประเทศของซีแอลเอ็มวีเองก็มีพลวัตรหรือลักษณะจำเพาะ โดยกัมพูชาเองมีความก้าวหน้าสูงมากเรื่องการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ได้ฉีดวัคซีนให้ประชากรเป็นสัดส่วนสูงสุดของกลุ่มอาเซียน จนมั่นใจว่าภายในก.ย.นี้จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ เป็นจุดแข็งการดึงดูดการลงทุน เพิ่มจากเรื่องการเมืองที่มีเสถียรภาพและความต่อเนื่อง สปป.ลาว กำลังจะเปิดโครงข่ายเส้นทางรถไฟเชื่อมจีน สร้างทางเลือกการขนส่งสินค้าเชื่อมเอเซียกับยุโรป ส่วนเวียดนามนั้นประสบความสำเร็จในการปฎิรูปเศรษฐกิจ จากการวางพื้นฐานกฎหมายที่เอื้อการลงทุน สร้างความเชื่อมั่น ผนวกตัวเองเข้าในห่วงโซ่อุปทานหลักของโลก เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ที่เป็นอีกดาวรุ่งอาเซียน การเปลี่ยนเปลงเหล่านี้ธุรกิจไทยต้องติดตามใกล้ชิดและปรับตัวให้ทัน
ด้านเวทีเสวนาของผู้บริหารองค์กรธุรกิจ ที่ดำเนินงานในกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองโอกาสธุกิจนั้น นางสาวจันทรา พงศ์ศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดสตาร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำผลไม้ และผลิตภัณฑ์จากน้ำผลไม้ อภิปรายว่า จุดเริ่มต้นของการบุกตลาดเพื่อนบ้าน มาจากวางขายผลิตภัณฑ์ทั่วประเทศ พบว่าทันทีที่เปิดด่านพรมแดนยอดสั่งซื้อจะเพิ่มขึ้นทันที จึงสนใจเข้าศึกษาตลาด
จากค้าชายแดนค่อยขยับสู่การเข้าไปทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน ควบคู่กับการหาข้อมูลจากหน่วยงานรัฐบาลต่าง ๆ จนถึงการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในพื้นที่ ต้องเข้าใจประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ตลอดจนอัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละที่ โดยการขยายตลาดสู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ต้องไม่ให้กระทบกับคู่ค้าที่ทำการค้าชายแดนอยู่เดิม หรือต้องเติบโตไปด้วยกัน
ผู้จัดการฟู้ดสตาร์รับว่า ทุกครั้งที่สินค้าขาดตลาดก็เป็นโอกาสของผู้ผลิตในพื้นที่ที่จะเติบโตขึ้น สถานการณ์โควิด-19 ทำให้การเดินทางข้ามพื้นที่ทำได้จำกัด ไม่สามารถเดินทางไปติดตามภาวะตลาดในประเทศเพื่อนบ้านได้ ต้องอาศัยเครือข่ายคู่ค้าที่มีอยู่ ตลอดจนลูกจ้างแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในเมืองไทย ช่วยหาข้อมูลสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่มาให้ โดยเวลานี้การเติบโตของตลาดออนไลน์หรือสังคมไร้เงินสดเพื่อลดการแพร่ระบาดกำลังเติบโตสูงมากทุกที่ ซึ่งทุกปัญหาหรือผลกระทบนั้นผู้บริหารต้องมีสติตั้งรับและค่อยแก้ไขปัญหาไปตามลำดับ
ส่วนนางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)(พีทีที.โออาร์) เล่าว่า ประสบการณ์การขยายผลิตภัณฑ์ของพีทีที.ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จากที่สินค้าของพีทีที.ได้รับการยอมรับดีอยู่แล้ว จึงเข้าไปลงทุนตั้งสถานีบริการพีทีที.ในกัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่าน โดยลงทุน 100 % พบว่า การเดินเรื่องช้ามาก เนื่องจากมีสถานะเป็นบริษัทต่างชาติในประเทศเพื่อนบ้านนั้น ๆ
แผนลงทุนในเมียนมาและเวียดนามที่เพิ่งทำจึงเปลี่ยนเป็นการไปตั้งบริษัทร่วมกับทุนท้องถิ่น โดยเลือกลงทุนกับผู้ประกอบการที่มีความแข็งแกร่งคนละด้านเพื่อนำมาเสริมกัน พบว่าการเดินเรื่องตามขั้นตอนต่าง ๆ ทำได้เร็วกว่าเดิมมาก โออาร์มีเป้าหมายจะขยายการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน 10 ประเทศ ด้วยกุญแจแห่งความสำเร็จ 2 ประการคือ 1.คุณภาพผลิตภัณฑ์แบรนด์ไทยที่เพื่อนบ้านยอมรับอยู่แล้ว และ2.เน้นการเติบโตไปด้วยกัน ทั้งคนในพื้นที่ สังคม ชุมชน และองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะในช่วงเผชิญปัญหาหรือความทุกข์ หากเราได้ช่วยเหลือแบ่งปันก็จะได้ใจกัน
ด้านนายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการ บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ผลิตภัณฑ์บริษัท ซึ่งเกี่ยวกับเสื้อผ้าและความงามกระทบหนัก ห้างถูกปิด แต่ในวิกฤตเรากำลังเปลี่ยนแปลง โดยปรับผลิตภัณฑ์สู่เสื้อผ้าสู่กลุ่ม Medgrade หรือเสื้อผ้าทางการแพทย์
การระบาดโควิด-19 รอบแรก เป็นโอกาสให้ได้เรียนรู้ แม้จะระบาดช่วงสั้นแต่เป็นภาวะที่ขาดองค์ความรู้ทุกเรื่อง ชุดพีพีอี(ป้องกันการติดเชื้อ)ก็ขาดแคลน เราปรับใช้สปันบอนด์มาผลิตชุดพีพีอี. เพื่อแก้ปัญหา ซึ่งแรก ๆ ก็ยังกันได้ไม่ดีนัก แต่การเข้ามาทำงานร่วมกับทีมแพทย์และนักวิจัย ทำให้ได้โจทย์เพื่อนำกลับไปวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ จนต่อมาสามารถผลิตชุดพีพีอีออกมาเป็นรุ่น ๆ เช่น รุ่นเราสู้ รุ่นเพื่อหมอ ที่เย็บแบบตะเข็บพิเศษกันน้ำได้
มีชุดพีพีอีสำหรับหมอฟัน รุ่น 1 รุ่น 2 พัฒนาเพื่อแก้ปัญหาได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมไม่มีหมวก หมอใช้งานไม่สะดวก ก็ทำแบบมีหมวกในตัว หรือชุดพีพีอีแบบถอดสะดวกปลอดภัย เนื่องจากชุดพีพีอีตอนใส่ไม่ต้องระวังมาก แต่ตอนถอดต้องไม่ให้สัมผัสเชื้อ หรือชุดพีพีอีลดความร้อน เดิมจะใช้แบบเติมลมพบว่าทำงานไม่สะดวก มีหมอมาแนะนำให้ใช้ถุงน้ำแข็ง ต่อมาพัฒนาเป็นใช้ถุงเจลเย็น เป็นต้น และกำลังพัฒนาถึงเสื้อผ้ากันเขื้อสำหรับคนทั่วไป
นายปณิธานย้ำว่า กุญแจความสำเร็จการทำธุรกิจในซีแอลเอ็มวีนั้น ต้องมีKnow How องค์ความรู้ทั้งสินค้า ตลาด ผู้บริโภค รู้จักตัวบุคคล (Know Who) ใครจะสามารถช่วยเราแก้ปัญหานั้น ๆ ได้ โดยต้องมีการสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ ไปมาหาสู่ ช่วยเหลือกัน และไม่ย่อท้อในการแก้ปัญหา รวมถึง Know GU รู้ว่าตัวเองว่าจะทำอะไรได้บ้าง โดยอย่าเครียดอย่าท้อรอวันกลับไปใช้ชีวิตปกติใหม่ที่จะมาถึง
ทั้งนี้ นายปณิธานทิ้งท้ายว่า บทเรียนจากโควิด-19 ถึงเวลาต้องปรับวิธีคิดใหม่ ในการใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 ให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ใช้ความก้าวหน้าของชุดตรวจเชื้อเร็ว (ATK) ระบบหมอพร้อม การเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม ควบคู่กับการจัดระบบ Bubble & Seal ในระบบการทำงาน จะทำให้สามารถใช้ชีวิต หรือติดโควิดไม่ต้องปิดโรงงาน ยังสามารถทำงานได้ต่อไป