ยังเป็นข้อกังขาของสังคม กรณีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติ 4 : 3 อนุญาตให้เครือซีพี ควบรวมธุรกิจกับเทสโก้โลตัสไปเมื่อปลายปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้มีอำนาจเหนือตลาด เป็นเหตุให้ 37 องค์กรผู้บริโภคได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางขอให้พิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่ง กขค. ซึ่งเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2563 ศาลมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองต่อคำร้องดังกล่าว โดยระบุการอนุญาตของ กขค.ให้มีการควบรวมธุรกิจดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 กำหนด จึงไม่มีเหตุที่จะรับฟังได้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ล่าสุดบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือซีพี ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีก โดยโอนกิจการทั้งหมดของ บริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (CPRH) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 99.99% ในบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ Lotuss Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. ให้กับบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO มูลค่ารวมทั้งสิ้น 217,949.04 ล้านบาท ซึ่งหมายถึง MAKRO จะเป็นเจ้าของโลตัสส์ 100% เป้าหมายเพื่อเสริมความแข็งแกร่งและส่งเสริมกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัทในการก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในระดับภูมิภาค ส่งผลให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นใน MAKRO เปลี่ยนแปลงไป ซีพีออลล์ (CPALL) จะถือหุ้น 66% (เดิม 93%) ซีพีกรุ๊ป ถือ 20% (เดิม 20%) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ถือ 10% (เดิม 20%)และผู้ถือหุ้นรายย่อย 3% (เดิม 7%)
ขณะที่คนในวงการชี้ให้เห็นว่าการโอนกิจการครั้งนี้ เนื่องจากหนี้ของกลุ่มธุรกิจในเครือเต็มเพดานแล้ว จึงให้แม็คโคร ซึ่งมีหนี้น้อยสุดมารับภาระโลตัสส์ไป ซึ่งจะทำให้มีช่องในการกู้ยืมเงินและเพดานหนี้ของซีพี-ซีพีออลล์-ทรูฯ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยติดขัดในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน
กขค.สั่งลุยตรวจสอบ
นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การโอนกิจการดังกล่าวได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ไปพิจารณาว่าจะเป็นการขัดกับเงื่อนไขที่ กขค.กำหนดไว้ในการควบรวมธุรกิจของซีพีกับเทสโก้โลตัสหรือไม่ ( 1 ใน 7 ข้อที่ซีพีต้องปฏิบัติคือ ห้ามเครือซีพีและธุรกิจในเครือควบรวมธุรกิจค้าปลีกค้าส่งรายอื่นนาน 3 ปี ไม่รวมอี-คอมเมิร์ซ) โดยให้ได้ข้อสรุปในเร็ววัน นอกจาก นี้ให้ไปศึกษากรณีการโอนกิจการระหว่างผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งเช่นนี้เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศหรือไม่ เพื่อใช้ในการเทียบเคียงว่าทำให้มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ และจะแก้ปัญหาอย่างไร
เพิ่มอำนาจเหนือตลาดชัด
แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีก กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้หารือกับคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างน้อย ที่คัดค้านการควบรวมธุรกิจธุรกิจซีพีกับโลตัส แต่แพ้โหวต โดยกรรมการเสียงข้างน้อยระบุว่า เคยเตือนแล้วว่า อาจเกิดการควบรวมธุรกิจระหว่างโลตัสส์กับสยามแม็คโคร เพราะเป็นธุรกิจที่อยู่ในเครือเดียวกัน แต่กรรมการเสียงข้างมากระบุโลตัสส์และแม็คโครทำธุรกิจคนละอย่างไม่ควรนำมาคิดรวบว่าทำให้เกิดการผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ โดยโลตัสส์ทำธุรกิจค้าปลีก ส่วนแม็คโครทำธุรกิจค้าส่ง ซึ่งในข้อเท็จจริงแม็คโครไม่ได้ทำธุรกิจค้าส่ง 100% แต่มีสัดส่วน 20-30% ที่เป็นการค้าปลีก
ดังนั้น การที่ MAKRO เป็นเจ้าของโลตัสส์ 100% จะยิ่งเป็นการเพิ่มอำนาจเหนือตลาด ขณะที่เครือซีพีมีธุรกิจต้นน้ำยันปลายน้ำทำให้ได้เปรียบและและช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งอาจนำไปสู่การผูกขาดทางการตลาดค้าปลีกค้าส่งของเมืองไทยได้
ดันค้าปลีกแข่งขันเวทีโลก
ขณะที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับโครงสร้างในครั้งนี้ เครือซีพีตั้งเป้าหมายที่จะขยายร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง รวมถึงสยามแม็คโครและศูนย์ค้าปลีกค้าส่งรูปแบบอื่นๆ อย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ในจีน มาเลเซีย อินเดีย กัมพูชา เมียนมา รวม 337 ร้านค้า โครงสร้างใหม่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเครือซีพีบนเวทีนานาชาติ หลังการปรับเปลี่ยน “สยามแม็คโคร” ยังเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 2,400 ล้านบาท เป็น 5,586 ล้านบาท โดยเป้าหมายสำคัญคือการขยายธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งช่องทางค้าปลีก คือเป็น “ปลายน้ำ” สำคัญที่เครือซีพีต้องการ และจะช่วยเติมเต็มให้ “ต้นน้ำ” และ “กลางน้ำ” ที่แข็งแรงอยู่แล้ว แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
“ซีพีให้ความสำคัญกับ Scale เพราะเชื่อว่า ขนาดของธุรกิจ เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของธุรกิจค้าปลีกระดับโลก คือ ถ้าไม่ใหญ่พอ ไม่สามารถแข่งขันกับยักษ์ใหญ่บนเวทีโลกได้ การควบรวม การปรับโครงสร้างครั้งนี้ จึงมีเป้าหมายที่ชัดจน มีเงินทุนที่เพียงพอ ที่จะสร้างเครือข่ายในต่างประเทศ
5 ปีครองค้าปลีกเอเชีย
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สะท้อนให้เห็นว่า การควบรวมโครง สร้างกลุ่มค้าปลีกในครั้งนี้ จะทำให้การก้าวสู่สนามค้าปลีกอาเซียนทำได้ง่ายขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าแบรนด์ซีพีในเอเชีย เป็นที่ยอมรับในมาตรฐานและคุณภาพอยู่แล้ว ซึ่งในเรื่องของอาหารแข็งแรงกว่ารายอื่นในอาเซียน มีโรงงานผลิตอยู่ในเกือบทุกประเทศ การลงทุนในกลุ่มค้าปลีก จะเป็นการเชื่อมต่อธุรกิจจากโรงงานที่มีอยู่มาขายผ่านร้านค้าได้ทันที
ดังนั้น ธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ จะสร้างความแข็งแกร่ง และทำให้เครือซีพีเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นสเต็ปแรกในการรุกตลาดอาเซียนแบบสมบูรณ์ โดยมองว่าสเต็ปที่ 2 จะเป็นการขยายสู่ตลาดตะวันออกกลาง อินเดียและแอฟริกา เพราะเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง ต้องการสินค้าที่มีมาตรฐาน ส่วนสเต็ปที่ 3 จะเป็นการขยายตลาดไปยังยุโรปและอเมริกา
“ด้วยศักยภาพของซีพี เชื่อว่าจะใช้เวลา 2-3 ปี ก็ครองตลาดอาเซียนได้ และ 5 ปี มีโอกาสครองตลาดเอเชียได้ไม่ยาก โดยตลาดใหญ่ที่เป็นความท้าทายคือ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย”
MAKRO เสริมแกร่งโลตัสส์
นายธนวัฒน์ รื่นบันเทิง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า การโอนโลตัสส์ให้ MAKRO เป็นการปรับโครงสร้างภายในบริษัทเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อหนี้สินให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด อีกทั้งไม่มีการใช้กระแสเงินสดในดีลดังกล่าว จึงไม่มีผลใดๆ ต่อฐานะการเงิน
นอกจากนี้ การปรับสัดส่วนการถือหุ้นของ CPALL ใน MAKRO จะเป็นประโยชน์กับ CPF และ CPH จากการถือหุ้นทางอ้อมใน MAKRO เพิ่มขึ้น อีกทั้ง การควบรวมกันของทั้ง 2 บริษัท ไม่ได้ส่งผลใดๆ ต่อกลุ่มค้าปลีกโดยรวม เพราะโลตัสส์ยังต้องดำเนินธุรกิจตามกรอบที่เคยได้ตกลงไว้ก่อนปิดดีลกับซีพี ในระยะเวลา 2 ปี คาดว่าจะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกัน ในระยะยาวนั้น การโยกไปอยู่กับ MAKRO จะช่วยให้โลตัสส์แข็งแกร่งและเติบโตได้ดีในอนาคต