เคาะแล้ว มาตรการดึงต่างชาติศักยภาพสูง "พำนักยาว"ในไทย ปลุก ศก.1ล้านล้าน

14 ก.ย. 2564 | 07:52 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2564 | 15:00 น.

มติที่ประชุมครม.ล่าสุด เห็นชอบมาตรการดึงดูดชาวต่างชาติ “ศักยภาพสูง” พำนักระยะยาว (long-term stay) ในไทย เพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 1 ล้านล้านบาท 

วันที่ 14 ก.ย. 64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดย "มาตรการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง" สู่ประเทศไทย ในลักษณะผู้พำนักระยะยาว (long-term stay)  โดย มี 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 

  1. กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง
  2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ
  3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย
  4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ  

 

นายธนกร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ มาตรการ ฯ ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก คือ 

  1. การออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa)  กำหนดวีซ่าประเภทใหม่ให้กับกลุ่มของชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง  ซึ่งจะได้ข้อยกเว้นและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การยกเว้นให้ผู้ถือวีซ่าประเภท ผู้พำนักอาศัยระยะยาวและวีซ่าประเภท Smart visa ทั้งหมดไม่ต้องมีหนังสือแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบหากอยู่ในประเทศเกิน 90 วัน 
  2. การแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง  เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน  การบริหารจัดการการทำงานและอนุญาตให้คนต่างด้าวสามารถทำงานให้นายจ้างทั้งที่อยูในและนอกราชอาณาจักรได้  การยกเว้นหลักเกณฑ์การกำหนดให้การจ้างคนต่างด้าว 1 คน ต้องจ้างงานพนักงานคนไทยทำงานประจำ 4 คน   การยกเว้นภาษีประเภทต่าง ๆ และระเบียบวิธีปฏิบัติด้านการศุลกากร

โดยคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ดำเนินการหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเปิดเผยว่า  สศช. ได้คาดระยะเวลาดำเนินการมาตรการ ฯ ภายใน 5 ปีงบประมาณ (2565-2569)  จะช่วย ดังนี้

  • เพิ่มจำนวนชาวต่างชาติที่พักอาศัยในไทย 1 ล้านคน
  • เพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 1 ล้านล้านบาท
  • เพิ่มการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท
  • สร้างรายได้จากการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น 2.7 แสนล้านบาท 

 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพียงพอให้กับภาคธุรกิจที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) ในประเด็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต และโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์และดิจิทัล 

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังเห็นชอบคามที่สศช.  เสนอให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ภาพรวมโครงการ ฯ ทุกๆ 5 ปี   รวมทั้งสิทธิประโยชน์ด้านภาษีและการถือของที่ดินก็ให้สิ้นสุดหลังจากวันที่เริ่มบังคับใช้แล้ว 5 ปี  รวมทั้งให้ประเมินมาตรการต่างๆ  เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศก็สามารถพิจารณาขยายระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปได้ตามความเหมาะสมด้วย