ททท. กางโรดแมปปูพรมเปิดประเทศ 43 จังหวัดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

09 ก.ย. 2564 | 03:39 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2564 | 13:13 น.

ท่องเที่ยวไทยตกหลุมดำโควิดการเร่งฉีดวัคซีนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจึงเลี่ยงไม่ได้ “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)มีคำตอบถึงไทม์ไลน์ใหม่การเปิดประเทศใน43จังหวัดที่จะเกิดขึ้น และแผนกระตุ้นท่องเที่ยวไทยหลังคลายล็อกดาวน์

ใกล้จะเข้า 2 ปีที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยตกหลุมดำโควิด-19 และด้วยจำนวนการจ้างงานในระบบที่สูงถึง20% รวมถึงไทยมีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง11%ของจีดีพี การเร่งฉีดวัคซีนเพื่อเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าการท่องเที่ยวไม่ขยับเศรษฐกิจไทยก็ไปต่อลำบากเช่นกัน  “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)มีคำตอบถึงไทม์ไลน์ใหม่ในการเปิดประเทศ120 วันที่จะเกิดขึ้น และแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยหลังคลายล็อกดาวน์

 

 

เปิด2โครงการไทยเที่ยวไทย1ต.ค.นี้

 

หลังจากรัฐบาลเริ่มคลายล็อกดาวน์  สิ่งที่แรกที่ททท.จะเร่งกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ก่อน คือการเปิดให้ประเทศให้มีการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยเตรียมเปิดตัวโครงการ “เราเที่ยวด้วยกันเฟส3” ที่รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่พัก40% ค่าตั๋วเครื่องบิน 40%  อี-เวาเชอร์ 600 บาทต่อวัน และ “ทัวร์เที่ยวไทย”ที่รัฐสนับสนุนวงเงินสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท เพื่อเดินทางท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์ ซึ่งทั้งสองโครงการมีกรอบเงินกู้คงเหลืออยู่ราว 1 หมื่นกว่าล้านบาท จากเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 วงเงินราว 5,700  ล้านบาท และทัวร์เที่ยวไทย 5,000 ล้านบาท

โดยททท.จะเปิดให้เริ่มเปิดทั้ง 2 โครงการนี้ให้เดินทางเที่ยวกันได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป  ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจเพราะคนหยุดอยู่บ้านมานานหลายเดือนแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาโครงการเราเที่ยวกันก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจที่ดี โดยผลทางตรงคือมีการใช้จ่ายเงินของประชาชนในโครงการนี้แล้วกว่า 15,038.74 ล้านบาท เป็นเงินจากรัฐบาลสนับสนุนอยู่ที่ 9,320 ล้านบาท  ที่ก็จะช่วยต่อลมหายใจให้แก่ผู้ประกอบการได้ และในปีนี้ททท.คาดว่าตลาดไทยเที่ยวไทยจะมีการเดินทางในประเทศไม่ต่ำกว่าปี 2563 ที่อยู่ที่ 90 ล้านคน-ครั้ง

 

ททท. กางโรดแมปปูพรมเปิดประเทศ 43 จังหวัดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ททท. กางโรดแมปปูพรมเปิดประเทศ 43 จังหวัดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

ดัน43จังหวัดรับต่างชาติ

 

ส่วนการเปิดเมืองเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วไม่ต้องกักตัวนั้น ตามไทม์ไลน์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นเบ็ดเสร็จแล้วไทยจะมีการเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งหมด 43 จังหวัด โดยการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติททท.จะเน้นการเลือกจังหวัดใน 3 กรอบใหญ่ ได้แก่

 

1.เมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 15% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด จึงประกอบไปด้วย กรุงเทพฯ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน สุโขทัย ปทุมธานี อยุธยา ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง สมุทรปราการ หนองคาย กระบี่ ตรัง นราธิวาส พังงา ภูเก็ต ยะลา สงขลา สุราษฏร์ธานี  ขอนแก่น นครราชสีมา

2.จังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร อุดรธานี บึงกาฬ เลย อุบลราชธานี ระนอง สตูล น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี

 

3.พื้นที่นำร่องที่มีสินค้าการท่องเที่ยวด้านศิลปะวัฒนธรรมที่โดดเด่น ประกอบด้วย ลำพูน แพร่ นครศรีธรรมราช พัทลุง

 

ดังนั้นจากกรอบใน 3 เรื่องนี้ททท.จึงได้จัดทำไทม์ไลน์ในการเปิดประเทศใหม่ที่ตั้งเป็นตุ๊กตาไว้แล้วเพื่อจะผลักดันให้มีการเปิดพื้นที่นำร่องเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ ซึ่งในช่วงไตรมาส3 ที่ผ่านมา สามารถผลักดันให้เปิดพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัดเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้แล้ว ผ่านโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ สมุยพลัส โมเดล และ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 7+7 ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักของไทย

 

ส่วนสิ่งที่กำลังจะเดินต่อไปคือการนำร่องเปิดประเทศในช่วงไตรมาส 4 ที่มองไว้ 2 ช่วง คือวันที่ 1 ต.ค.นี้จะเริ่มใน 5 จังหวัด คือชาร์มมิ่ง เชียงใหม่ ( อ.เมือง,อ.แม่ริม,อ.แม่แตง,ดอยเต่า) จ.เชียงใหม่ พัทยามูฟออน ( พัทยา บางละมุง สัตหีบ)  หัวหิน รีชาร์จ (อ.หัวหิน)  ชะอำ จ.เพชรบุรีและกรุงเทพฯและวันที่ 15 ต.ค.นี้ที่จะเพิ่มขึ้นมาอีก 16 จังหวัด คือ เชียงราย แม่ฮ่องสอน  ลำพูน แพร่   สุโขทัย   ปทุมธานี อยุธยา สมุทรปราการ ตราด  ระยอง หนองคาย ขอนแก่น นครราชสีมา  นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง

 

ขณะที่ในไตรมาสแรกปีหน้า ที่จะเริ่มวันที่ 1-15 ม.ค.65 ก็จะเปิดในลักษณะการจับคู่ท่องเที่ยวระหว่างประเทศ(ทราเวลบับเบิ้ล)กับประเทศเพื่อนบ้าน ตามพื้นที่ชายแดน เช่น กัมพูชา ก็สามารถทำบับเบิ้ลได้กับ สุรินทร์ (ช่องจอม) สระแก้ว (อรัญประเทศ) ตราด (เกาะกง) พม่า จับคู่กับ เชียงราย (ท่าขี้เหล็ก) ตาก (แม่สอด) ระนอง (เกาะสอง)  ลาว  ทำกับ นครพนม หนองคาย  มุกดาหาร  มาเลเซีย จับคู่กับ  ยะลา (เบตง) นราธิวาส (สุไหวโกลก) สงขลา (ด่านนอก ปาดังเบซาร์) สตูล (วังประจัน) เป็นต้น

ททท. กางโรดแมปปูพรมเปิดประเทศ 43 จังหวัดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

ยกโมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ใช้กับทุกที่          

 

อย่างไรก็ตามการเปิดในพื้นที่เหล่านี้ไม่ได้เปิดทั้งจังหวัดแต่ต้องไปดูพื้นที่ที่เหมาะสม โดยการเปิดรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่นำร่องในจังหวัดหวัดต่างๆเหล่านี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขเหมือนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ คือนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วไม่ต้องถูกกักตัว ซึ่งเราสามารถใช้ต้นแบบการบริหารจัดการในแบบ Island Approach ในส่วนที่เป็นพื้นที่เกาะได้อยู่แล้ว จากการนำร่องเปิดเกาะต่างๆใน 4 จังหวัด ดังนั้นต่อไปการเปิดพื้นที่เกาะที่จะเกิดขึ้นเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเกาะกูด เกาะช้าง ที่จังหวัดตราด ก็ใช้รูปแบบเดียวกันได้ หรือถ้าเป็นพื้นที่บนแผ่นดินหรือInland Approach ก็สามารถใช้การเปิดเขาหลัก จ.พังงา ในการทำ Sealed routes ที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวได้โดยไม่ต้องถูกกักตัว ซึ่งเราสามารถนำต้นแบบที่มีอยู่ไปใช้ในพื้นที่อื่นๆที่จะเตรียมเปิดได้

 

ที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่าการมีหลายโมเดลไม่ประสบความสำเร็จ อย่างโครงการสมุยพลัสโมเดล ที่มีข้อจำกัดในเรื่องการกักตัว จึงมีนักท่องเที่ยวอยู่ที่ราว 585 คนเท่านั้น และล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้สมุยพลัสโมเดลก็จะมีการปรับรูปแบบการเปิดพื้นที่ใหม่ให้เป็นแนวทางเดียวกับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์แล้ว ดังนั้นจากนี้ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัดก็ไม่ควรจะมีหลายโมเดล อย่างโมเดลพัทยา มูฟออนหรือชาร์มมิ่ง เชียงใหม่ ที่จะเป็นแบบกักตัวก็ไม่ได้ช่วยเรื่องการท่องเที่ยว

 

ดังนั้นการเอาภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ยกมาปรับใช้ในแต่ละพื้นที่จะทำให้ช่วยเรื่องการท่องเที่ยวได้ดีกว่า เพราะพื้นที่เหล่านี้ล้วนแต่เป็นพื้นที่นำร่องของไทยในการเปิดแซนด์บ็อกซ์ทั้งสิ้น และการจะเปิดพื้นที่นำร่องได้ทันกับไทม์ไลน์ที่วางไว้หรือหรือ ขึ้นอยู่กับการจัดวัคซีนเข้าสู่พื้นที่เหล่านี้เป็นหลัก ที่ประชากรต้องได้รับการฉีดอย่างน้อย70% ขึ้นไป ซึ่งเราต้องตั้งเป็นไทม์ไลน์ไว้เพื่อทำให้เกิดการจัดสรรวัคซีนลงไปในพื้นที่เหล่านี้ เพื่อให้เปิดเมืองได้ตามแผน

 

ขณะที่การเดินทางในการเข้าไปเที่ยวในพื้นที่นำร่องเปิดประเทศเหล่านี้ ก็จะทำได้ใน 3 รูปแบบ คือ 1. เดินทางโดยเครื่องบินบินตรงเข้าไปสำหรับจังหวัดที่อยู่ไกล 2. การเดินทางต่อโดยทางรถที่จะเป็นการเดินทางแบบ Sealed routes เข้าพื้นที่ เช่น จากสนามบินสุวรรณภูมิ นั่งรถSHA+มายังหัวหิน เป็นต้น และ3.การเดินทางในลักษณะ 7+7 ผ่านเครื่องบินลงไป

 

นอกจากนี้ทางททท.ยังอยู่ระหว่างเตรียมหารือกับศบค.เพื่อขอให้พิจารณาลดวันพำนักในพื้นที่ หรือวันกักตัวลง จากกำหนดไว้ที่ 14 วัน เหลือ 7 วัน ตามที่ ศบค.ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ก่อนจะเลื่อนการบังคับใช้ออกไป เพราะเกิดการระบาดโควิดในประเทศ ซึ่งถ้าการระบาดในประเทศเริ่มลดลง ก็อยากให้มีการพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวไทยสามารถแข่งขันได้ เนื่องจากหลายประเทศได้เปิดการท่องเที่ยวแบบไม่กักตัวแล้ว

 

ขณะเดียวกันจากเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามมาตรการที่วางไว้ โดยไม่ต้องกักตัว ที่ผ่านมาก็ได้พิสูญจน์แล้วว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาก็ไม่ได้เข้ามาแพร่เชื้อให้คนในท้องถิ่น และคนในท้องถิ่นก็ไม่ได้แพร่เชื้อให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งการติดเชื้อที่ผ่านมาจะเป็นการติดเชื้อภายในประเทศกันเองมากกว่า ซึ่งอย่างภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และสมุยพลัส มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 2.6 หมื่นคน พบมีการติดเชื้อเพียง 82 คนเท่านั้น เป็นการติดเชื้อในสมุย 2 คน ภูเก็ต 80 คน คิดเป็น0.03% ซึ่งเป็นจำนวนน้อยมาก

 

รวมถึงททท.ก็จะมีการศึกษาในการกำหนด พื้นที่สีน้ำเงิน (บลูโซน) หรือระดับสีทางเศรษฐกิจขึ้น เนื่องจากการกำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจขณะนี้ขึ้นอยู่กับการแบ่งระดับสีที่บ่งบอกความรุนแรงของการระบาดโควิดในพื้นที่ ซึ่งสาธารณสุขจะเป็นผู้กำหนดว่าสามารถดำเนินกิจกรรมอะไรได้บ้าง ทำให้ในบางพื้นที่แม้เป็นจังหวัดสีส้ม แต่หากสามารถจัดการเรื่องความปลอดภัยในการท่องเที่ยวได้ หรือในจังหวัดนั้นมีพื้นที่ที่ไม่พบการระบาดรุนแรงถึงระดับสีของจังหวัด ก็อาจจัดทำเป็นสีของเศรษฐกิจ ที่มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดประเทศรับต่างชาติ

 

ในปีนี้ททท.ตั้งเป้าว่าไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ  1.2 ล้านคน แต่ขณะนี้หวังให้เห็นที่ 1 ล้านคนให้ได้ก่อน เพราะจากข้อมูลจำนวนต่างชาติเดินทางเข้าไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 40,000 คน บวกกับเข้ามาในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์อีก 26,400 คน ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ที่ผ่านมา รวมเกือบ 100,000 คน ซึ่งเหลืออีก 900,000 คน ที่ต้องเข้ามาในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี หากสามารถมาได้เดือนละ 300,000 คน รวมถึงนโยบายการกักตัวของประเทศต้นทางไม่ได้กำหนดให้เมื่อเดินทางกลับประเทศต้นทางแล้วต้องกักตัว เชื่อว่ายังมีโอกาสได้เห็นที่ 1 ล้านคนในปีนี้อยู่

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,712 วันที่ 9 - 11 กันยายน พ.ศ. 2564