ทย.แจงโอน3สนามบินให้ทอท.เช่าบริหารผ่านธนารักษ์ทรัพย์สินยังเป็นของรัฐ

15 ก.ย. 2564 | 06:17 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ย. 2564 | 14:20 น.

ทย. แจงโอน3 สนามบินอุดรธานี กระบี่ และบุรีรัมย์ ให้ทอท.บริหารแทนเท่านั้น ย้ำสนามบินยังเป็นของรัฐ โดยยกสิทธิ์ให้บริหารจัดการผ่านสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ ส่วนรายได้ของกรมที่หายไปทอท. จะชดเชยให้ ยันขานรับนโยบายรัฐบาลเสริมศักยภาพการบริหารจัดการท่าอากาศยานของประเทศ

หลังจากกระทรวงคมนาคมได้ข้อสรุปในการโอนสนามบินอุดรธานี-บุรีคมนาคมได้ข้อสรุปกรมท่าอากาศยานเดินหน้าโอนย้าย 3 สนามบินภูมิภาค "อุดรธานี-กระบี่-บุรีรัมย์" ให้ ทอท.บริหารแทน โดยกรมธนารักษ์ จะคิดค่าผลประโยชน์ค่าที่ดินในอัตราเดียวกับที่ ทอท. กับ 6 สนามบินของทอท.ในปัจจุบัน คาดดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมภายใน 1 ม.ค.65 

 

 

ล่าสุดกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ออกแถลงข่าวว่าทย. ขานรับนโยบายรัฐบาล ในการกำหนดยุทธศาสตร์ท่าอากาศยานของประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ด้วยการเสริมศักยภาพการบริหารจัดการ และใช้ทรัพยากรท่าอากาศยานของภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยดำเนินการตามแนวทางการมอบความรับผิดชอบการบริหารจัดการท่าอากาศยานให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ใน 3 ท่าอากาศยาน คือ ท่าอากาศยานอุดรธานี กระบี่ และบุรีรัมย์ เพื่อเพิ่มปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารทั้งต่างประเทศและในประเทศ รวมถึงการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบินได้อย่างคล่องตัว

                                                                             

ท่าอากาศยานอุดรธานี

 

ท่าอากาศยานบุรีรัมย์

 

สำหรับแนวทางนี้เป็นการดำเนินงานเพื่อร่วมกันพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการท่าอากาศยาน ที่มีอยู่ของกรมท่าอากาศยานซึ่งเป็นท่าอากาศยานของภาครัฐ ให้มีความสามารถในการจัดหารายได้ให้มากขึ้น โดยที่กรมท่าอากาศยานยังได้รับเงินชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากการมอบความรับผิดชอบดังกล่าว รวมถึงจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการบริหารงานที่คล่องตัว ของ ทอท. ด้วย ซึ่งรายได้ชดเชยดังกล่าว กรมท่าอากาศยานจะนำไปบริหารจัดการท่าอากาศยานที่เหลืออยู่ เพื่อลดการใช้เงินงบประมาณของภาครัฐในการดำเนินงาน

 

ท่าอากาศยานกระบี่

ทั้งนี้ เป็นการมอบความรับผิดชอบในบริหารจัดการ ไม่ได้มีการโอนทรัพย์สินของรัฐไปให้กับทาง ทอท. แต่อย่างใด แต่เป็นการมอบความรับผิดชอบในการบริหารจัดการผ่านสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ ส่วนรายได้ของกรมท่าอากาศยานที่หายไป ทาง ทอท. ก็มีการชดเชยให้ เหมือนในขณะที่กรมท่าอากาศยานบริหารจัดการเอง โดยอยู่ระหว่างการศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมากำหนดรูปแบบที่เหมาะสม ซึ่งประเทศจะได้รับประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรรัฐร่วมกันระหว่างกรมท่าอากาศยานและ ทอท. ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสาร รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการบินเพิ่มมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศในอนาคต

 

นอกจากนี้ กรมท่าอากาศยานยังคงมีภารกิจในการพัฒนาและจัดสร้างสนามบินแห่งใหม่ เพื่อรองรับการเดินทางและการขนส่งทางอากาศของประเทศในอนาคต อาทิเช่น มุกดาหาร บึงกาฬ เป็นต้น ดังนั้นแนวการมอบความรับผิดชอบการบริหารจัดการท่าอากาศยาน ให้ ทอท. จะทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณในการลงทุน เนื่องจาก ทาง ทอท. จะเป็นผู้ลงทุนและบริหารจัดการแทน ภายใต้ข้อกำหนดและกรอบระยะเวลาการลงทุนที่ชัดเจน

 

ทย.แจงโอน3สนามบินให้ทอท.เช่าบริหารผ่านธนารักษ์ทรัพย์สินยังเป็นของรัฐ