นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ (NRF) เปิดเผยว่า ธุรกิจอาหารและเกษตร มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนห รือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 30% โดยกิจกรรมทางการเกษตร และปศุสัตว์ส่งผลกระทบราว 17% การปรับหน้าดินประมาณ 7-14% ส่วนอุตสาหกรรมอาหารปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบ 20% หรือ 1 ใน 3 ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในโลก
ภายในปี ค.ศ. 2030 ถ้าโลกไม่สามารถควบคุมความร้อนไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศา และปล่อยให้โลกร้อนไปถึง 3.8 - 4 องศา พื้นที่การเกษตรถึงขั้นล่ม เพราะต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น 50-100% สภาพภูมิอากาศที่ทำให้ไม่สามารถปลูกสินค้าเกษตรได้ โดยยังไม่รวมถึงภาวะน้ำท่วมและอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรไทยมีอยู่ราว 14 ล้านคน และการปลูกข้าวปล่อยคาร์บอนสูงถึง 2.5% ของ carbon emission หรือการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก
ในขณะเดียวกัน หากในปี 2026 ถ้าอียู มีการเปลี่ยนมาตรการ แล้วหันมาใช้มาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) สิ่งที่เกิดขึ้น จะทำให้สินค้าข้าวของไทย เจอภาษีสูงถึง 40% ทันที เพราะฉะนั้น ประเทศไทยจึงต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อุตสาหกรรมอาหาร และคาร์บอนเครดิต เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ในอีก 3-5 ปี ข้างหน้า
ส่วนผลิตภัณฑ์แพลนท์เบสฟู้ด หรือธุรกิจฟู้ดเทคที่แปลงร่างพืชเป็นโปรตีนเนื้อสัตว์เทียม ซึ่ง NRF ดำเนินธุรกิจอยู่ ถือเป็นตลาดที่ใหญ่มากและเติบโตเร็วมาก เนื่องจากเป็นธุริกจที่ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ค่อนข้างสูง โดยประเมินจากแฮมเบอร์เกอร์จากเนื้อวัวหนึ่งชิ้น มีส่วนในการปล่อยคารร์บอนราว 3.3 กิโลคาร์บอน ในขณะที่แฮมเบอร์เกอร์ที่ทำจากแพลนท์เบส จะปล่อยคาร์บอนเพียง ครึ่งกิโลคาร์บอนต่อชิ้น
ถ้าการลดก๊าซเรือนกระจก หากเทียบกับการปลูกป่า กับการเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างแพลนท์เบส ก็จะมีส่วนช่วยในการลดก๊าซเรือนกระจกได้ ซึ่งปัจจุบันอาหารแพลนท์เบสฟู้ดในสหรัฐอเมริกากินส่วนแบ่งตลาดของเนื้อสัตว์แล้ว 3.6% และภายใน 10 ปีนี้ จะสามารถขยับขึ้นเป็น 10-15% นั่นแสดงให้เห็นถึงโอกาสมหาศาลสำหรับประเทศไทย หากบุกตลาดด้วยอาหารแพลนท์เบสฟู้ดส์