กระแสก๊าซเรือนกระจก ดันมูลค่าซื้อขายคาร์บอนเครดิตพุ่ง 2 เท่า

30 ก.ย. 2564 | 11:00 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2564 | 18:17 น.

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เผย กระแสลดก๊าซเรือนกระจกแรง ดันมูลค่าการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตพุ่ง 2 เท่า ราคาซื้อขายขยับจาก 2.5 เหรียญต่อตัน เป็น 3 เหรียญต่อตัน พร้อมย้ำองค์กรต้องทำเรื่อง CARBON NEUTRAL ก่อนถูกกีดกันการค้า และถูกลดความสำคัญในตลาด

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ได้กล่าวในงาน สัมมนา "เมื่อธุรกิจต้องจับมือสิ่งแวดล้อม ภายใต้ "ธุรกิจได้ โลกได้" ของกรุงเทพธุรกิจ ในหัวข้อ "ลดต้นทุนหมุนไปสิ่งแวดล้อม" ประเทศและองค์กรต่างๆ ต้องมีการตั้งเป้าหมายและดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นหนึ่งในทิศทางการแข่งขันในตลาดโลก เพราะไม่ว่าจะเป็นการค้าระหว่างประเทศ หรือการค้าขายระหว่าง B2C ผู้บริโภคก็จะเริ่มเรียกหาองค์กรที่ดำเนินการอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบ ESG คือ คำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, and Governance) หากประเทศ หรือองค์กรไหนไม่ทำ ก็จะถูกรังเกียจ ถูกลดทอนความสำคัญลง 

จากความเป็นจริง ปัจจุบันโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาต่อเนื่อง ตัวเลขล่าสุดคือ 5 หมื่นล้านตันต่อปี และยังมีแนวโน้มที่จะปล่อยเพิ่มสูงมากขึ้นอีก ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ จะทำให้อุณหภูมิโลกขยับขึ้นไปอีกมากกว่า 4 องศา ซึ่งนั่นคือภัยพิบัติมหาศาล ขณะนี้ จากข้อตกลงปารีส หรือ Paris Agreement ที่เป็นความพยายามครั้งใหญ่ของมนุษยชาติในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายที่ท้าทายคือ รักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิในช่วงก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดให้อุณภูมิโลกต่ำกว่านั้นคือ ประมาณ 1.5 องศาเซลเซียส ดังนั้น แต่ละประเทศจึงมีการควบคุมและประกาศนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ขณะนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกต้องไม่เกิน 4 แสนล้านตันต่อปี จึงจะสามารถคุมอุณหภูมิให้ไปเกิน 1.5 องศาได้ และในปี 2050 โลกต้องหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น ประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงมีการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) รวมไปถึง การกำหนดความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) คือ การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ ซึ่งประเทศไทยที่เข้าร่วมในข้อตกลงปารีส กำหนดปี 2030 จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20-25% หรือ 111-139 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี ค.ศ.2030 และ กำหนด CARBON NEUTRAL ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศสุทธิเพิ่มขึ้นจากการดำเนินธุรกิจหรือการบริการของผลิตภัณฑ์ ในปี 2065-2070 

การดูแลโลกและควบคุมแต่ละประเทศให้ลดการปล่อนก๊าซเรือนกระจก นอกจากมีข้อตกลงปารีสแล้ว ยังมีกฎเกณฑ์ หรือกฎหมายต่างๆ ออกมาบังคับ และขณะเดียวกัน นักลงทุน ก็นำเรื่องนี้มาประเมินความเสี่ยงในการลงทุนอย่างยั่งยืนขององค์กรด้วย 

นายเกียรติชาย ย้ำว่า เป็นความจำเป็นที่ประเทศและองค์กรธุรกิจ ต้องทำเรื่อง CARBON NEUTRAL และการ Offset คาร์บอนเครดิต เพราะ 1. หากไม่ทำตามข้อตกลงปารีส ประเทศหรือองค์กรนั้นจะถูกกีดกันด้านการค้า 2. มีกฎหมาย มีกฎเกณฑ์ต่างๆ เข้ามาเป็นข้อบัง หากไม่ทำจะต้องเสียภาษีที่แพงขึ้น 3. นักลงทุนเริ่มมองหาประเทศ หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจตามแนว ESG 4. องค์กรสามารถนำข้อมูลการลดคาร์บอน มาบริหารจัดการองค์กรเพื่อลดท้นทุน ทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น 5. เป็นแนวทางการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม 6. การเปิดเผยข้อมูลทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทานสีเขียว ทำให้เกิดการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียว เช่น บริษัทรถยนต์ที่กำหนด บริษัทชิ้นส่วนต้องทำเรื่อง Net Zero ด้วย 7. ผู้บริโภคเรียกหหาองค์กรและสินค้าที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และ 8. การใช้มาตรฐานต่างๆ รวมถึงประเด็นเรื่องการเปิดเผย ช่วยลดการกัดกันทางการค้า

ความท้าทายของประเทศและองค์กรต่างๆ ที่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้า ที่เร่งดำเนินการทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การจัดการขยะ หรือการนำไฮโดรเจนมาใช้ และอีกหนึ่งความท้าทายคือ การหาตัวกักเก็บคาร์บอน ได้แก่ ต้นไม้ หรือ Carbon Storage หากสร้างให้เกิดความสมดุลย์เมื่อไร จึงจะเกิด Net Zero ได้ 

จากประเด็นดังกล่าว ทำให้เกิดแนวคิดการชดเชยคาร์บอน หรือการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต ซึ่งในการประชุม COP26 ที่ผู้นำจาก 196 ประเทศทั่วโลกจะมาพบปะกันที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เดือน พ.ย. นี้ เพื่อร่วมประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ และมีการพูดคุยถึงประเด็นการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตดังกล่าวด้วย โดยการกำหนดหลักการซื้อขายก๊าชเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS) โดยอนุญาตให้ผู้ที่ลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกจนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมาย สามารถขายสิทธิ์การปล่อยก๊าชเรือนกระจกที่เหลือให้แก่ผู้อื่นได้ หรือ “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งหลักการนี้ เป็นจุดกำเนิดของการประเมินมูลค่าของคาร์บอนเครดิตที่มีหน่วยเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide) จำนวน 1 ตัน เป็นตัวเงินเพื่อซื้อขายระหว่างบริษัท จนเกิดเป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั่วโลก

"ประเด็นอยู่ที่ว่า เมื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้นทุนเป็นอย่างไร บางทีลดแล้วแพง เลยเกิดกิจกรรม ก็มีบริษัทที่เป็นกรีนบิซิเนสที่ลดก๊าซเรือนกระจก เป็นต้นทุนต่ำ แล้วทำเป็นเครดิตมาแลกเปลี่ยนกัน เหมือนเอาความดีมาแลกกันได้ องค์กรที่ตั้งเป้าโหดๆ ก็สามารถมาแลกเปลี่ยนหรือซื้อเครดิตที่ดีตรงนี้ได้ เป็นการเทรดความดี เทรดต้นทุนกัน ประมาณนั้น" 

นายเกียรติชาย กล่าวว่า ขณะนี้ความต้องการคาร์บอนเครดิตทั่วโลกมีปริมาณสูงขึ้น ล่าสุดถึงเดือนสิงหาคม 2021 คาร์บอนเครดิตมีมูลค่าการแลกเปลี่ยนถึง 748 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มมากกว่าปีก่อน 2 เท่า ราคาคาร์บอนเครดิต 3 เหรียญต่อตัน เพิ่มจากปีก่อน คือ 2.5 เหรียญสหรัฐต่อตัน มูลค่าการแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 240 ล้านตันต่อปี องค์กรทั่วโลกเริ่มตระหนักและนำเรื่อง Net Zero มาเป็นภาพลักษณ์ขององค์กร โดยโครงการที่นิยมกันมาคือ โครงการป่าไม้ ที่ทำให้ได้เครดิตสูง และยังเป็นส่วนหนึ่งอขงสนับสนุนการปลูกป่า อีกหนึ่งโครงการที่ได้รับความนืยมคือ โครงการขยะ เพราะนอกจากลดปริมาณขยะแล้ว ยังลดก๊าซเรือนกระจกด้วย