นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีความต่อเนื่องมานับ 2 ปี ไทยเบฟได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสที่มีการปิดช่องทางการจัดจำหน่ายที่สำคัญ แต่จากการปรับแผน การดำเนินงาน และการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย
ทำให้ผลประกอบการของบริษัทใน 9 เดือน (สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2564) มีรายได้รวม 192,120 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 1.1% และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี เพิ่มขึ้น 11.5% คิดเป็น 36,638 ล้านบาท ขณะที่สัดส่วนรายได้ใกล้เคียงกับผลประกอบการในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา คือ มาจากกลุ่มสุรา 46% เบียร์ 42% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 7% และอาหาร 5%
สำหรับสายสุราในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาถึงแม้ว่าบริษัทจะจะได้รับผลกระทบจากโควิดบ้าง แต่ตราสินค้าสุราของไทยเบฟยังคงความเป็นผู้นำในใจผู้บริโภค สร้างผลกำไรสูงขึ้นกว่าปีก่อน โดยสินค้าดาวรุ่งได้แก่ แสงโสมเติบโตกว่า 13% เบลนด์ 285 ซิกเนเจอร์เติบโต 26% เมอริเดียนบรั่นดี เติบโต 39% ในขณะที่คูลอฟ วอดก้า เติบโต 32% ชิงส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1
ขณะที่แกรนด์รอยัลกรุ๊ป ผู้เล่นรายใหญ่ของตลาดวิสกี้ในประเทศเมียนมายังคงสร้างผลประกอบการและรักษากระแสเงินสด ในเกณฑ์ที่ดี ส่งผลให้ในภาพรวม ไทยเบฟยังครองอันดับหนึ่งในตลาดสุราและไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะสามารถบริโภคอยู่ที่บ้านแม้ว่าร้านอาหารจะไม่สามารถเปิดบริการได้ทำให้ portfolio ของบริษัทยังเป็นไปในทิศทางที่ดี
เช่นเดียวกับ ธุรกิจเบียร์ ที่เมื่อเจอกับวิกฤติโควิด-19 ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อให้ดำเนินการโรงงานผลิตเบียร์ได้ และรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่บ้าน รวมถึงเพิ่มบริการจัดส่งถึงบ้าน และริเริ่มนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ ล่าสุดบริษัทยังตัดสินใจเลื่อนการนำธุรกิจเบียร์ หรือ BeerCo เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ออกไปอย่างไม่มีกำหนด จากการแพร่ระบาดที่รุนแรงหลายระลอก โดยหลังจากนี้จะพิจารณาอีกครั้งในช่วงเวลาที่เหมาะสมและความพร้อมของนักลงทุน
ในส่วนของสายธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดอย่างหนักในช่วงโควิด ทำให้ภาพรวมมีรายได้11,688 ล้านบาทถดถอยลงไป 6% แต่ยังคงรักษาการเติบโตของกำไร 15.2% หรือ1,629 ล้านบาท หลังจากนี้ บริษัทจะเน้นไปที่การเข้าสู่ชุมชนมากขึ้น การเพิ่มความเร็วการทำงานโดยใช้เทคโนโลยีโดยนำ application ต่างๆมาช่วยในการขาย,การสื่อสารกับทีมงาน ร้านค้าและคู่ค้าทั่วประเทศ รวมทั้งต้องย้ำในการเป็นผู้นำทางด้านสุขภาพของคนไทยผ่านสินค้าที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกันโดยออกสินค้าใหม่และนำสินค้าที่มีอยู่มาเติมวิตามิน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามยังคงเน้นหนักในเรื่องการทรานฟอร์เมชั่น และการตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคซึ่งมีความเป็น smart consumer ที่ต้องการคุณภาพสินค้าดี บริการที่ประทับใจและการตอบแทนสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยเบฟให้ความสำคัญและติดตามเทรนด์ดังกล่าว รวมทั้งลงลึกไปถึงระดับชุมชน เพื่อให้ร้านค้าพันธมิตรสามารถบริการตรงโจทย์ตรงใจ
นอกจากนี้ยังวางแผนปลดล็อก logistic distribution โดยอยู่ระหว่างการศึกษารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อนำมาใช้ในการขนส่งสินค้าทั่วประเทศ ซึ่งต้องรอความชัดเจนข้อตกลงปารีสของราชอาณาจักรไทยและสมาพันธรัฐสวิส รวมทั้งระยะการวิ่งรถทั้งขาไปและขากลับ ซึ่งคาดว่าจะเห็นภาพการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศชัดเจนในปี 2023 และอาจสามารถนำมาใช้ได้จริงในปี 2025 ซึ่งต้องลุ้นอีกทีว่า ณ ตอนนั้นประเทศไทยสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้หรือไม่ หรือบริษัทต้องนำเข้าและเสียภาษีในอัตราเท่าไรเพราะถือเป็นต้นทุนของการประกอบธุรกิจด้วย
“หลังจากโควิดคลี่คลาย คือช่วงสถานการณ์ที่อยู่ในรูปแบบการแข่งขันเต็มรูปแบบ เพราะทุกคนอยากได้เงินเข้าบริษัท รับรองว่าจะมีโปรโมชั่นรุนแรงทุกรูปแบบในอีก 2 ปีข้างหน้า ธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ธุรกิจนั้นจะเป็นผู้อยู่รอด ซึ่งทุกองค์กรต้องปรับตัวในรูปแบบใหม่ เราโชคดีที่มีโอกาสทำการทรานส์ฟอร์เมชั่นตั้งแต่ต้นปี 2020
เมื่อโควิดเข้ามาเราพยายามประคับประคองดิ้นรนหารายได้ใหม่ๆเราไม่ได้นั่งอยู่เฉยๆเราสนใจในการผลักดันการค้า เพื่อสร้างรายได้และสร้างความยั่งยืนในธุรกิจทั้งในประเทศไทยและครอบคลุมไปถึง 5 ตลาดหลักในอาเซียนทั้งไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนามและเมียนมาร์”