สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต ไทยเบฟ...กับการพัฒนาชุมชน

29 ก.ย. 2564 | 01:30 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2564 | 16:28 น.

Corporate Social Responsibility หรือระบบซีเอสอาร์ ถือเป็นกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคมของภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลของการสร้างภาพลักษณ์องค์กร กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อสร้างแบรนด์ ตลอดจนเป็นภาคบังคับสำหรับบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่จะต้องปฏิบัติตามกฏกติกา

แต่ต้องยอมรับว่า ซีเอสอาร์นั้นเป็นการคืนกำไรให้กับสังคมรูปแบบหนึ่ง  ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่ารูปแบบการตอบแทนสังคมของผู้ประกอบการบางรายเริ่มเปลี่ยนไป หันมาคืนกำไรสู่สังคมควบคู่ไปกับการทำกำไรให้ธุรกิจอย่างเต็มตัว เพราะผู้ประกอบการเหล่านี้เชื่อว่าธุรกิจไม่ควรเป็นฝ่ายรับจากสังคมอย่างเดียว แต่ควรคืนสู่สังคม แม้จะเป็นเพียงส่วนเล็ก แต่ถ้าทุกองค์กรช่วยกัน การช่วยเหลือก็จะยิ่งใหญ่

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ก็เป็นธุรกิจหนึ่งที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคมมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานในรูปแบบต่างๆ  โดยเฉพาะโครงการ “ไทยเบฟ...รวมใจต้านภัยหนาว” ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2543  โดยมอบผ้าห่มไทยเบฟผืนอุ่นสีเขียวให้กับพี่น้องผู้ประสบภัยหนาวในภาคเหนือและภาคอีสาน จนเป็นที่รู้จักและกล่าวขานกันอย่างทั่วถึง
.
อย่างไรก็ดี ที่น่าสนใจคือ  มาถึงวันนี้ รูปแบบการคืนกำไรสู่สังคมของ"ไทยเบฟ"นั้น มิใช่ย่ำอยู่กับการแจก การบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะกิจเฉพาะสถานการณ์ หรือจัดกิจกรรมตามเทศกาลเพียงเท่านั้น แต่บริษัทดังกล่าวถือเป็น "ต้นแบบ" ในการ่วมสร้างความยั่งยืนสู่สังคมภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสอดคล้องกับกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ด้วยการวางยุทธศาสตร์ให้ชุมชนสร้างความเข้มแข็งด้วยตนเอง ตามศาสตร์พระราชาที่่ดำริว่า ..ให้เบ็ดดีกว่าให้ปลา
 

สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต  ไทยเบฟ...กับการพัฒนาชุมชน

คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) วางนโยบายเดินตามรอยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการให้จัดตั้งหน่วยงาน “โครงการพัฒนาชุมชน” ภายในองค์กร ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของแนวคิดการพัฒนาแบบยั่งยืนด้วยความเชื่อมั่นว่า “การสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต” คือรากฐานที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน โดยสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และสร้างพื้นที่ต้นแบบที่ให้การสนับสนุนระหว่างชุมชนที่เข้มแข็งกับภาคธุรกิจ โดยมีเป้าหมายคือ ต้องการสร้างชุมชนต้นแบบในด้านสังคม  เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อร่วมกันพัฒนา เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ สถาบันวิชาการ ที่สำคัญต้องการยกระดับชุมชนให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม สร้างเศรษฐกิจระดับชุมชน โดยมีหลักการดำเนินงาน 4 ด้านหลัก
.
“ไทยเบฟมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้ชุมชนและสังคมเติบโตควบคู่กับธุรกิจของเราโดยให้ความสำคัญในการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่องมากว่า 18 ปี” 

สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต  ไทยเบฟ...กับการพัฒนาชุมชน

ทั้งนี้การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาชุมชนของไทยเบฟ  มีทั้งด้านการสร้างเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้ศักยภาพของชุมชนเป็นหลักในการทำงาน สร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มองค์กรชุมชนใน 3 กลุ่มงาน คือ เกษตร  แปรรูป และท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อให้เกิดทักษะ      

การเรียนรู้ร่วมกัน 5 เรื่อง ได้แก่ การเข้าถึงปัจจัยการผลิต การสร้างองค์ความรู้ การตลาด การสื่อสารสร้างการรับรู้  และการบริหารจัดการ  อีกทั้ง ในสถานการณ์ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของชุมชนได้รับผลกระทบ จึงพัฒนาช่องทางตลาดออนไลน์ สร้างทางเลือกให้พนักงานไทยเบฟและคนทั่วไปได้ช่วยกันซื้อสินค้าชุมชน สร้างรายได้กลับสู่ชุมชนต่อไป  
.
ด้านการส่งเสริมและพัฒนาคนรุ่นใหม่ มีแนวคิดที่จะสานต่อพลังของคนรุ่นใหม่กลับไปพัฒนาบ้านเกิด ก่อให้เกิดรายได้อย่างต่อเนื่อง สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน พัฒนาด้านสังคม เศรษฐกิจ ยกระดับสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม  

สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต  ไทยเบฟ...กับการพัฒนาชุมชน

ส่วนด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนได้ประสานความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการศึกษา ร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับครูและนักเรียน เพื่อให้มีทักษะเพิ่มเติม เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง นอกจากนั้น ได้รับการประสานจากมหาวิทยาลัย ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ สร้างศักยภาพคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะองค์ความรู้ด้านการจัดการหรือการประกอบการทางธุรกิจเพื่อสังคม 

สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต  ไทยเบฟ...กับการพัฒนาชุมชน

ด้านการสนับสนุนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นความสำคัญไปที่การส่งเสริมและแสวงหาความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า เช่น ส่งเสริมเรื่องธนาคารน้ำใต้ดิน การปลูกป่าทดแทนทั้งในป่าชายเลนและบนบก การทำฝายชะลอน้ำ การพัฒนาพื้นที่แปลงรวมให้เปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ผ่านกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชน หรือสนับสนุนโครงการเฉพาะเรื่อง เช่น การร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและกระบวนการจัดการน้ำ รวมไปถึงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจชุมชน และสนับสนุนการจัดระบบน้ำ การทำโครงการประปาภูเขา 
.
ด้านการช่วยเหลือและบรรเทาภัยพิบัติ ไทยเบฟ...รวมใจต้านภัยหนาว คืออีกหนึ่งโครงการที่จัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยหนาว โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน โดยได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เครือข่ายพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมส่งต่อความอบอุ่นกันมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับโอกาสในการเข้าถึงความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา และสาธารณสุข นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้พนักงานในองค์กรได้เป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันความอบอุ่นผ่านแคมเปญ 1 ปัน 1 อุ่น โดยมุ่งหวังให้เกิดพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการร่วมกันสร้างสังคมแห่งการให้ที่ยั่งยืน 

สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต  ไทยเบฟ...กับการพัฒนาชุมชน

คุณธารทิพย์ ศิรินุพงศ์ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “ไทยเบฟมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายในชุมชนและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นในทุกด้าน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจชุมชน ควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์กรกับชุมชน โดยร่วมมือกับชุมชนในการคิดและพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เราเชื่อว่าการสร้างความเข้มแข็งในรูปแบบดังกล่าวจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของชุมชน ส่งผลให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดการรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน และเมื่อเกิดความมั่นคงแล้ว ชุมชนเองก็สามารถแบ่งปันคุณค่าของการเติบโตโดยการขยายองค์ความรู้และแนวทางการทำงานของตนเองไปสู่ชุมชนใกล้เคียง ซึ่งจะสร้างความยั่งยืนให้กระจายไปในระดับท้องถิ่น และนำไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจในระดับประเทศได้อย่างแท้จริง”
.
สามารถกล่าวได้ว่า โครงการพัฒนาชุมชนโดยไทยเบฟ ถือเป็นความมุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนและสังคมเริ่มตั้งแต่ฐานราก ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบการคืนกำไรสู่สังคม หรือการแสดงความรับผิดชอบในการตอบแทนสังคมของภาคธุรกิจอื่นๆ เพราะการให้ปลานั้นเห็นรูปธรรมชัดเจนทันควัน แต่การให้เบ็ดนั้นต้องอาศัยเวลาและความร่วมมือร่วมใจของชุมชน ซึ่งหมายถึงความสำเร็จนั้นจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยชุมชนในแต่ละพื้นที่ สามารถเข้าถึงเข้าใจในปณิธานที่ภาคธุรกิจลงไปส่งเสริมสนับสนุนสร้างเครื่องมือ ให้ความรู้ เพิ่มศักยภาพ เปิดช่องทาง  แล้วชุมชนพร้อมใจที่จะลงมือเพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ที่สำคัญพึ่งพาตนเองได้ตลอดไป