นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวทางการรับนักท่องเที่ยวจากทุกประเทศทั่วโลกของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. ประเทศเสี่ยงต่ำและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ฉีดวัคซีนครบโดส ไม่กักตัว ทั่วประเทศ
2.ประเทศอื่น ๆ ที่เหลือท่องเที่ยวแบบไม่กักตัว 7 วันในพื้นที่สีฟ้า (บลูโซน)
3. หากไม่ได้รับวัคซีนตามเกณฑ์จากทุกประเทศทั่วโลกก็เข้าสู่กระบวนการกักตัวใน AQ จำนวน 10 วัน (ทางอากาศ) และจำนวน 14 วัน (ทางบก)
ทั้งนี้แนวทางการรับนักเดินทางแบบไม่กักตัวและไม่จำกัดพื้นที่ สำหรับนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำและประเทศที่มีผลต่อเศรษฐกิจสูง ที่จะสรุปรายชื่อประเทศได้ในเร็วๆนี้ จะมีเงื่อนไขหลักๆ ใน 6 ขั้นตอน ได้แก่
ส่วนแนวทางการรับท่องเที่ยวแบบไม่กักตัว 7 วันในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) ทั้งในระยะนำร่องไปจนถึงระยะที่ 3 ไทยจะมีการเปิดพื้นที่นำร่องรวม 45 จังหวัด โดยปัจจุบันเปิดไปแล้วในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด คือ ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า), พังงา (เขาหลัก เกาะยาว), กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์) และต่อไปจะเปิดพื้นที่สีฟ้าระยะที่ 1 ในอีก 15 จังหวัด ในช่วงระหว่างวันที่ 1-30 พ.ย.นี้ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร,สมุทรปราการ (สนามบินสุวรรณภูมิ), พังงา (ทั้งจังหวัด), กระบี่ (ทั้งจังหวัด), ประจวบคีรีขันธ์ (ตำบลหัวหิน หนองแก), เพชรบุรี (เทศบาลเมืองชะอำ), ชลบุรี (พัทยา อำเภอบางละมุง ตำบลนาจอมเทียน ตำบลบางเสร่ เกาะสีชัง อ.ศรีราชา), เชียงใหม่ (อำเภอเมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า), ระนอง (เกาะพยาม), หนองคาย (เมือง ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ สังคม), เลย (เชียงคาน), บุรีรัมย์ (เมือง), อุดรธานี (เมือง นายูง หนองหาน ประจักษ์ศิลปาคม กุมภวาปี บ้านดุง), ระยอง(เกาะเสม็ด), ตราด (เกาะช้าง)
ส่วนพื้นที่สีฟ้าระยะที่2 ระหว่างวันที่ 1-31 ธ.ค.64 จำนวน 16 จังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ สุโขทัยเพชรบูรณ์ ปทุมธานี อยุธยา ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา นราธิวาส และพื้นที่สีฟ้าระยะที่ 3 (ตั้งแต่1 ม.ค.65) 12 จังหวัด คือสุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ อุบลราชธานี น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี สตูล
นายยุทธศักดิ์ กล่าวต่อว่า พื้นที่สีฟ้าที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ในแต่ละช่วงเวลาที่กำหนดพื้นที่ไหนพร้อมก็สามารถเปิดได้ก่อน โดยมีเกณฑ์พิจารณาว่าจะเปิดได้หรือไม่ใน 2 เรื่องคือ ความพร้อมด้านสถานการณ์ และความพร้อมด้านบริหารจัดการ ซึ่งจุดหลักจะเป็นเรื่องของการฉีดวัคซีนในพื้นที่ อาทิ หากเปิดทั้งจังหวัด ประชากรในพื้นที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 50% และในกลุ่ม 608 (ผู้สุงอายุ-ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 7 โรคร้าย) อย่างน้อย 80% มีศักยภาพการรองรับผู้ป่วยเพียงพอ มีอัตราครองเตียงผู้ป่วยเหลือแดงไม่เกิน 80% การเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงมีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 5-10 รายต่อแสนประชากรต่อวัน อาจใช้ลักษณะการระบาดและแนวโน้มสถานการณ์เป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาร่วมด้วย
หรือหากเปิดในส่วนที่เป็นอำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้าน มีเกณฑ์ว่าประชากรในพื้นที่ต้องฉีดวัคซีนอย่างน้อย 70% และกลุ่ม 608 อย่างน้อย 80% การเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงมีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 5-10 รายต่อแสนประชากรต่อวัน อาจใช้ลักษณะการระบาดและแนวโน้มสถานการณ์เป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาร่วมด้วย หรือถ้าเปิดแบบสถานที่หรือพื้นที่ มีเกณฑ์ว่าประชากรต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 80% เฝ้าระวังไม่พบผู้ติดเชื้อในกิจกรรม/กิจการในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
โดยเกณฑ์เหล่านี้จะตัวบ่งบอกว่าจังหวัดไหนพร้อมเปิดให้บริการ ซึ่งอำนาจในการเปิดจะเป็นการประเมินของผู้ว่าราชการจังหวัด และไม่ว่าจะเปิดพื้นที่ไหนก็จะมีแนวทางปฏิบัติ (SOP) เดียวกัน และนักท่องเที่ยวต้องโหลดแอปพลิเคชั่นหมอชนะ (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งเป็นระบบติดตามตัวนักท่องเที่ยวว่าอยู่ในพื้นที่นั้นจริงหรือไม่
“โควิดอยู่กับเรามา 2 ปีกว่าแล้ว และการนำร่องเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวไปแล้ว 4 จังหวัดก็เห็นชัดเจนว่ามีการติดเชื้อของนักท่องเที่ยวอยู่ที่เพียง 0.3% เท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในการตรวจครั้งแรก และเราต้องอยู่ต่อไป การเปิดพื้นที่สีฟ้า ก็จะทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติ"
อีกทั้งการเปิดในพื้นที่ในแต่ละระยะก็จะมีการปรับลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคในการเดินทางของนักท่องเที่ยวลง เพื่อลดภาระและอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาและกระทรวงการต่างประเทศก็จะนำระบบ Thailand Pass มาใช้แทนการออกเอกสาร COE ซึ่งต่อไปการกรอกเอกสารต่างๆ เข้าไทยจะเป็น
กรอกผ่าน web-based และให้สายการบินตรวจเอกสารตั้งแต่ต้นทางก่อนเดินทางเข้าไทย” นายยุทธศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย