4 พ.ย.2564 - นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุ ในงาน เสวนา "Thai Hub Thai Herd : โอกาสทางธุรกิจ" ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า ปัจจุบัน สมุนไพรไทย มีบทบาทต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยในบทบาทของ อย.นั้น นอกจากผลักดัน ให้สมุนไพรต่างๆ เข้ามาสู่ บัญชียาหลัก และ สมุนไพรหลักแล้ว อีกหนึ่งหน้าที่ คือ การส่งเสริม เพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย เปลี่ยนผ่านจากการขาย วัตถุดิบสมุนไพรทั่วๆ ไป มาสู่ การศึกษา วิจัย ผ่าน นวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ จนสมุนไพรไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ในแง่ ผลิตภัณฑ์ยา หรือ อาหาร เป็นต้น
ขณะส่วนที่เป็นจุดเปลี่ยน สำหรับตลาดสมุนไพรไทยนั้น คือ การเกิดขึ้นของ พ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ ตอบรับกับบทบาทของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย โดยกฎหมายนี้เอง ผลักดัน ให้อย.ได้มีส่วนส่งเสริมตั้งแต่ผู้ผลิต และ ผู้ประกอบการ โดยที่ผ่านมา อย. ทำหน้าที่ให้องค์ความรู้ สนับสนุนการรวมกลุ่ม ทำงานร่วมกับ กรมแพทย์แผนไทย รวมถึง ช่วยลดต้นทุนแง่ค่าธรรมเนียมแก่ผู้ประกอบการด้วย เป้าหมายเพื่อให้การพัฒนาสมุนไพร มีส่วนผลักดันเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
" หลังจากปี 2562 เราได้ผลักดันสมุนไพรไทยอย่างเต็มที เดิมการพิจารณาขึ้น อย. ของสมุนไพรไทยอาจค่อนข้างล่าช้า แต่ปัจจุบัน การพิจารณา แยกเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน เช่น ยา อาหาร เครื่องสำอางค์ ทำให้การขออนุญาต ขึ้นทะเบียน อย.ได้ง่ายขึ้น ผ่านการแบ่งประเภทตามความเสี่ยง บางชนิดขอเช้า ได้เย็น และมีระบบการจดแจ้ง การพิจารณาเป็นหลักเฉพาะ ซึ่งเอื้อต่อผู้ประกอบการ ขณะการผลิตก็เช่นกัน ได้เอื้อต่อเกษตรกร ที่ไม่จำเป็นต้องมีโรงงานเป็นของตัวเองเหมือนในอดีต และได้ขยายใบอนุญาตนานถึง 5 ปี อีกด้วย "
นอกจากนั้น ยังมีแนวทางสนับสนุนผู้ผลิต - ผู้ประกอบการ ตั้งแต่ต้นน้ำ การให้ความรู้ การวิจัย การพัฒนา ทำงานประสานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปจนถึงการขึ้นทะเบียน และช่องทางการขาย การตลาด ซึ่งเป็นปลายน้ำของธุรกิจ ผ่านกองผลิตภัณฑ์ สมุนไพร และ กองความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นต้น
" เมื่อเรามีการศึกษา มีข้อมูลเพียงพอ ก็จะเกิดการใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม ก่อให้ธุรกิจสมุนไพรเติบโต "
อย. ยังเปิดเผยว่า ขณะนี้มีบัญชียาหลักที่เกี่ยวเนื่องกับสมุนไพรแล้วทั้งสิ้น 90 รายการ ซึ่งสมุนไพรที่กำลังเป็นที่ต้องการสูงในช่วงสถานการณ์โควิด19 อย่าง "ฟ้าทะลายโจร" นั้น จากเดิมใช้เพื่อรักษาไข้หวัด ลดไข้ แต่ปัจจุบันเมื่อมีการสนับสนุน การศึกษา วิจัยค้นพบประโยชน์ จนผลักดัน สู่บัญชียาหลัก และนำมาใช้บรรเทาอาการจากโควิดได้
ขณะ กัญชา - กัญชง อย.ได้มีการผลักดัน ขยับกฎเกณฑ์หลายอย่าง จนหลุดพ้นจากประเภทยาเสพติด ซึ่งการแปรรูป ก่อให้เกิดรายได้แก่กับเกษตรกรได้อย่างมาก ซึ่งหลักการทำงานของอย. คือ การผลักดันให้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น ขึ้นทะเบียนได้อย่างรวดเร็ว และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เช่น การทำสูตรร่วมกับกรมแพทย์แผนไทย เป็นต้นแบบ เสนอให้กับผู้ผลิต เพื่อให้การขึ้นทะเบียนได้เร็วขึ้น ขณะกลุ่มเครื่องสำอางค์ เบื้องต้น อย. อนุญาตไปกว่า 200 รายการ , อาหารเสริม เช่น ชาจากกัญชา อย. ได้มีการแนะนำ การใช้สัดส่วนอย่างถูกต้องให้เกษตรกร เพื่อช่วยในการผลิต และให้การอนุญาต ขึ้นทะเบียนได้อย่างรวดเร็ว และมีผลต่อการต่อยอด และเพิ่มมูลค่าในอนาคตได้อีกด้วย