นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 พ.ย.2564 ถือว่าเป็นช่วงเหมาะสมที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล หลังจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ทั่วโลกในปัจจุบันดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณการฟื้นตัว เหมือนภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างช้าๆ แม้เป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ถือเป็นการเริ่มต้นกลับมาเดินทางท่องเที่ยวของชาวต่างชาติหลายประเทศทั่วโลก
โดยภาคการท่องเที่ยวไทย ทางรัฐบาลได้พยายามผลักดันอย่างเต็มที่ เพื่อเร่งฟื้นเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวให้สามารถกลับมาเดินหน้าต่อไปได้ ถือเป็นความสำเร็จระดับหนึ่งจากการเริ่มต้นเปิดพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ นำร่องรับนักท่องเที่ยว จนถึงการเปิดประเทศมากขึ้นในช่วงเกือบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวจะสามารถปรับตัว เปลี่ยนแปลง และฟื้นฟูได้ รวมถึงพัฒนาให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมีความพร้อมและกลับมาเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกครั้ง
สำหรับปี 2565 วางแผนภาคการท่องเที่ยวไทยภายใต้แนวคิด “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ นิว แชปเตอร์” (Amazing Thailand New Chapter) หรือการนำเสนอภาพใหม่ของการท่องเที่ยวไทยที่พร้อมตอบสนองทุกความต้องการของนักท่องเที่ยวด้วยเรื่องราวภาพการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ผ่านการให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพลิกโฉมประเทศไทยเพื่อก้าวสู่วิถีใหม่ในทุกมิติ
ด้านปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีนโยบายเปิดประเทศเช่นเดียวกัน คือความร่วมมือของผู้ประกอบการทั้งในธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในการพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพ นำนวัตกรรมและทุกเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้ในการให้บริการ ควบคู่กับการยกระดับมาตรฐานต่างๆ โดยเฉพาะด้านสุขภาพและความปลอดภัย เพื่อตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยวยุควิถีปกติใหม่ (นิวนอร์มอล)นี้
รวมถึงกระแสแนวทางการพัฒนาที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) ในภาคการท่องเที่ยว กระทรวงฯและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกรมการท่องเที่ยว ได้เดินหน้าจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวสีขาว ที่จะช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและปลอดภัยขึ้น เหมือนภาพที่กระทรวงฯจัดทำโครงการอาสาสมัครท่องเที่ยวในทุกชุมชนครอบคลุมทั่วประเทศไทย เพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น
ภาครัฐจะต้องเร่งผลักดันนโยบายในการกระตุ้นการท่องเที่ยว ผ่านการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง ส่งเสริมการจัดอีเวนท์ขนาดใหญ่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติและสนับสนุนกลไกที่จะช่วยยกระดับผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ รวมถึงกระทรวงฯได้กำหนดทิศทางการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวในระยะต่อไปให้เป็นอุตสาหกรรมที่เน้นคุณค่ามีความสามารถในการปรับตัว เติบโตได้อย่างยั่งยืน และมีส่วนร่วมให้ความสำคัญกับการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีความเข้มแข็ง สร้างสรรค์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ยังคงอัตลักษณ์ของไทย ต่อยอดการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้สอดรับกับสถานการณ์ที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน และมีบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป
ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวในหัวข้อ “ตลาดการท่องเที่ยวไทยปี 2022 & Beyond” ว่า หลังจากรัฐบาลดำเนินการเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 พบว่ามีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้าไทยเฉลี่ย 2,000-3,000 คนต่อวัน ทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.คาดการณ์ว่าตลอดเดือน พ.ย.นี้จะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาไม่น้อยกว่า 1.3 แสนคน ถือเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่ค่อนข้างมาก
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังต้องเผชิญวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้รวมการท่องเที่ยวของไทย จากปี 2562 มีรายได้รวมฯ 3 ล้านล้านบาท โดย 2 ใน 3 เป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ ส่วน 1 ใน 3 มาจากตลาดในประเทศ ขณะที่ปี 2564 รายได้รวมฯอยู่ที่ประมาณ 3 แสนล้านบาท ถือว่าลดลงอย่างมากเหลือแค่ 10% ของรายได้รวมฯที่เคยทำได้
ในปี 2565 ททท.ตั้งเป้ารายได้รวมการท่องเที่ยวไทยอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท ฟื้นตัว 50% ของปี 2562 ก่อนที่ในปี 2566 รายได้รวมฯน่าจะอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท หรือฟื้นตัว 80% ของปี 2562 บนเงื่อนไขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงครึ่งหนึ่งเหลือ 20 ล้านคนจากปี 2562 ซึ่งปิดที่ตัวเลขเกือบ 40 ล้านคน โดยต้องการนักท่องเที่ยวคุณภาพมากขึ้น
ปี 2565 คงต้องเน้นการบริหารความเสี่ยง เพราะไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่หรือไม่ แต่สุดท้ายยังคงต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 ส่งผลให้การคาดการณ์และตั้งเป้าหมายของ ททท.ได้แบ่งเป็น 3 ซีนาริโอ ได้แก่