‘การบินไทย’พ้นโคม่าเปิดประเทศหนุนธุรกิจ“ปิยะสวัสดิ์” ยันไม่แฮร์คัทหนี้

10 พ.ย. 2564 | 04:45 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2564 | 11:50 น.

การบินไทยพ้นโคม่า มั่นใจมีหลักประกัน 2 หมื่นล้านบาท หนุนเจ้าหนี้สถาบันการเงินปล่อยกู้ 2.5 หมื่นล้านบาท เบิกใช้เงินภายใน 2 ปี ไม่ง้อเงินรัฐ แต่เปิดช่องรอ หากรัฐสนใจซื้อหุ้นรักษาสิทธิ์ 40% “ปิยะสวัสดิ์” ยันไม่มีแผนแฮร์คัทหนี้

ทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)หรือ THAI ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า จะปรับตัวเป็นบริษัทเอกชนเต็มรูปแบบ โดยรัฐจะถือหุ้นไม่เกิน 40% และคาดว่า จะปรับโครงสร้างทุนแล้วเสร็จกลางปี 2565 ซึ่งการหาแหล่งเงินใหม่ 5 หมื่นล้านบาท ที่จะแบ่งเป็นแหล่งเงินใหม่จากภาครัฐ 2.5 หมื่นล้านบาทและแหล่งเงินใหม่จากเจ้าหนี้สถาบันการเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท

 

ขณะนี้แม้ความช่วยเหลือของภาครัฐ ยังไม่ชัดเจนว่า จะออกมาในรูปแบบใด จะเป็นการใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือการค้ำประกันเงินกู้ เพราะการบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว ทั้งในระยะสั้น ภาครัฐต้องใช้เงินมากในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด

ขณะที่การหาแหล่งเงินใหม่จากเจ้าหนี้สถาบันการเงิน 2.5 หมื่นล้านบาทในลักษณะการปล่อยกู้ร่วม หรือ Syndicated Loan ที่อยู่ระหว่างเจรจาเป็นช่องทางหลัก จึงมั่นใจว่า จะได้รับเงินในต้นปีหน้า ซึ่ง ณ วันนี้ถือว่า เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น

 

ปัจจุบันการบินไทยมีสภาพคล่องราว 6,500 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมาได้ปรับลดค่าใช้จ่ายต่างๆลงไปได้มากถึง 4.4 หมื่นล้านบาทแล้ว อาทิ ทยอยปรับลดแบบเครื่องบิน ลดจำนวนพนักงาน ขายสินทรัพย์ต่างๆทำให้มีสภาพคล่องเพียงพอไปจนถึงสิ้นปี 2564 และการกลับมาทยอยทำการบินหลังเปิดประเทศ ก็จะทำให้มีกระแสเงินสดเข้ามาทำให้การบินไทยเดินได้ เพียงแต่งบดุลอาจจะยังไม่ดีนัก ทำให้ในอนาคตการบินไทยก็ยังหวังจะได้การเพิ่มทุนจากรัฐตามแผนฟื้นฟูที่วางไว้

 

การปล่อยเงินกู้จากสถาบันการเงินภาคเอกชน บริษัทปรึกษาทางการเงิน บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทรีนิตี้อยู่ระหว่างจัดทำประมาณการรายจ่าย รายรับเพื่อสร้างเชื่อมั่นในการยื่นขอเงินกู้ก้อนใหม่ต่อสถาบันการเงินเจ้าหนี้เดิม รวมถึงเจ้าหนี้รายใหม่

อย่างไรก็ตาม ในการเข้าพบนายกรัฐมนตรีของคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา  นอกจากรายงานความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูกิจการช่วงที่ผ่านมาแล้ว ประเด็นสำคัญคือ ต้องการให้สนับสนุนการปรับแผนฟื้นฟูการบินไทยใหม่คือ ขอให้เจ้าหนี้เห็นชอบการลดหนี้เงินต้น (แฮร์คัท) แผนฟื้นฟูเดิมที่ไม่มีการแฮร์คัทเลย ซึ่งหากเจ้าหนี้ยอมแฮร์คัท จะทำให้การกู้เงินเสริมสภาพคล่องทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้ให้กู้รายใหม่ แต่หากยังใช้แผนฟื้นฟูเดิม อาจจะหาผู้ให้กู้ลำบากและจะเป็นปัญหาต่อการหาแหล่งเงินกู้ได้

 

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

 

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ยืนยันว่า การบินไทยไม่มีแผนที่จะขอให้เจ้าหนี้แฮร์คัทหนี้แต่อย่างใด และ ณ วันนี้การบินไทยไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินแหล่งเงินใหม่ของภาครัฐแล้ว และแม้ไม่ได้แหล่งเงินใหม่ก้อนนี้ อาจทำให้งบดุลไม่ดีนัก แต่ที่ผ่านมาการบินไทยมีการบริหารจัดการด้านการลดค่าใช้จ่ายที่ดีและการเพิ่มรายได้ที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นการใช้แหล่งเงินกู้ใหม่จากเอกชน ก็เพียงพอที่การบินไทยจะสามารถอยู่ได้

 

ขณะเดียวกันจากการสำรวจของ “ฐานเศรษฐกิจ” ยังพบว่า คณะผู้บริหารแผนและกรรมการเจ้าหนี้ประสานเสียงถึงความคล่องตัวและศักยภาพของการบินไทยว่า มีความสามารถในการชำระหนี้ ตามระยะเวลาของแผนฟื้นฟูกิจการ 6ปี โดยกำหนดไทม์ไลน์ในการเบิกใช้เงินกู้ 2.5 หมื่นล้านบาทภายใน 2 ปีหลังจากได้รับอนุมัติจากสถาบันการเงินและทยอยจ่ายคืนหนี้ดังกล่าวภายใน 4 ปี ส่วนความมั่นใจเรื่องเงินกู้ก้อนใหม่นั้น แม้ยังไม่เดินสายเจรจาธนาคารเจ้าหนี้เดิม แต่มี 3 เหตุผลที่เชื่อว่าสถาบันการเงินพร้อมสนับสนุนสินเชื่อดังกล่าวได้แก่

 

  1. การบินไทยมีความพร้อมและเต็มใจจะปรับตัวเองเป็นเอกชน วัดผลได้ เช่น ความร่วมมือลดจำนวนบุคลากร ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้เป็นอุปสรรคเกือบ 10 ปีที่รัฐบาลพยายามจะทำ แต่มาสำเร็จช่วงของการฟื้นฟูกิจการ 
  2. ลดค่าเช่าเครื่องบิน, ปรับปรุงเงื่อนไขค่าเช่าเครื่องบิน ปรับโครงสร้างรูปแบบเครื่องบินที่เหมาะสมกับภาระโดยทำให้มีระยะเวลาหายใจได้ 2 ปี (2564-2565) 
  3. จัดเก็บหนี้เก่า และทยอยขายสินทรัพย์ไม่จำเป็นออกบางส่วน 

 

ดังนั้นจาก 3 สมมติฐานดังกล่าว จึงเห็นได้ว่า การบินไทยตัวเบาขึ้น การจะกลับสู่ฐานที่มั่นคง ด้วยภาระค่าใช้จ่ายไม่ต้องใช้เงินมากถึง 5 หมื่นล้านบาทตามที่เคยได้ประเมินไว้ คือ การกลับมาบินให้บริการใช้เงินเพียง 2.5 หมื่นล้านบาทก็เพียงพอแล้ว

 

“การบินไทยวันนี้ไม่ขี้เหร่ เรายังมีหลักประกัน 2 หมื่นล้านบาท ความเสี่ยงไม่สูงมาก เรายังมีสินทรัพย์ เช่น อาคาร ฝูงบิน และจะทำรายได้อีกมาก ส่วนแผนเงินกู้ก้อนใหม่นั้น มีเวลาตามแผน 6ปี ใช้เวลาเบิกจ่ายเงิน 2 ปีและชำระคืนภายใน 4ปี ดอกเบี้ยขึ้นกับแต่ละสถาบันเงินก็ต้องเจรจา แต่เชื่อว่าไม่สูงนัก เรามีกระแสเงินสดเพียงพอทำได้ตามนั้น” แหล่งข่าวกล่าว

แผนฟื้นฟูการบินไทย

 

ส่วนความช่วยเหลือของภาครัฐ จริงๆไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐที่จะปล่อยเงินกู้ให้เอกชน เพราะอาจติดกฎระเบียบในการที่ภาครัฐจะสนับสนุนเอกชน ซึ่งไม่ง่าย ที่สำคัญระยะสั้นช่วงนี้ ภาครัฐต้องจัดลำดับความสำคัญในการใช้งบประมาณ ซึ่งต้องใช้เงินอีกมากและสถานการณ์ยังไม่อำนวย แต่ถ้าภาครัฐจัดสรรหรือการบริหารงบประมาณของภาครัฐเปิดช่องให้ได้เพียงพอ เราก็เปิดช่องให้ภาครัฐเข้าซื้อหุ้นสามัญ เพื่อถือหุ้นตามสิทธิ 40% 

 

ขณะเดียวกันการบินไทยยังคงมีแผนเดินหน้าตัดขายทรัพย์สินที่ไม่สร้างรายได้ เพื่อรักษาชีวิต โดยเตรียมจะประกาศขายอสังหาฯในต่างประเทศ 9 แห่ง คือในฮ่องกง 2 แห่ง สิงคโปร์ 2 แห่งที่เหลือในอิตาลี อังกฤษ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ส่วนอสังหาฯในไทย ล่าสุดได้ประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้ 10 แห่ง มีขายออกไปได้แล้ว 3 แห่งคือ สำนักงานการบินไทยที่หลานหลวง ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าได้ซื้อไป และยังขายที่ดินเปล่าที่เชียงใหม่และอาคารสำนักงานภูเก็ตออกไปแล้ว

 

ส่วนอีก 7 แห่งที่ยังขายไม่ได้มีการปรับแผนใหม่ โดยกำหนดราคาขายขั้นต่ำ เพื่อให้ผู้สนใจเข้ามาร่วมประมูล ได้แก่ ที่ดินและอาคารสำนักงานสีลม ราคาขั้นต่ำ 184 ล้านบาท ที่ดินและอาคารสำนักงานเชียงใหม่ ราคาขั้นต่ำ 101 ล้านบาท ที่ดินและอาคารสำนักงานเชียงราย 61.4 ล้านบาท ที่ดินและอาคารสำนักงานขอนแก่น 10.3 ล้านบาท ที่ดินและอาคารสำนักงานพิษณุโลก 15.6 ล้านบาท ที่ดินและอาคารสำนักงานอุดรธานี 28.3 ล้านบาท ที่ดินและอาคารรักคุณเท่าฟ้า ดอนเมือง 550.2 ล้านบาท

 

นอกจากนั้น การบินไทยยังได้ทยอยกลับมาทำการบินหลังการเปิดประเทศจากเดิมในปี 2563 การบินไทยมีเที่ยวบิน 117 เที่ยวบิน แต่นับจากตารางบินฤดูหนาว 31ตุลาคม 2564-มีนาคม 2565 การบินไทยจะได้เกือบ1 พันเที่ยวบิน ทั้งผู้โดยสารและคาร์โก้ ซึ่งคิดเป็น 30% ของช่วงก่อนเกิดโควิด ซึ่งจากยอดขายตั๋วล่วงหน้า ถือว่าไปได้ดี โดยเฉพาะผู้โดยสารจากยุโรป จะทำให้บริษัทมีรายได้เข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ