แนวทางการฟื้นฟูบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กำลังกลายเป็นประเด็นใหญ่ในการตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่า “ผมรับผิดชอบเอง” เมื่อผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ นำโดยนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และคณะเพื่อรายงานสถานะของบริษัท การบินไทย และแผนเงินกู้
นอกจากนี้ ยังเสนอแผนเพิ่มทุน เพื่อให้การบินไทยกับมาดำเนินธุรกิจได้ โดยมีรายงานว่า มีการเสนอขอเงินจากกระทรวงการคลัง 2.5 หมื่นล้านบาท หากรัฐไม่เพิ่มทุนหรือใส่เงินจะทำให้เอกชนที่ใส่เงิน 2.5 หมื่นล้านบาท และแปลงหนี้เป็นทุนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และรัฐจะถือหุ้นลงแค่ 8% ทันที
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่รับเงื่อนไขดังกล่าว เพราะทำให้รัฐเสียประโยชน์และในแผนฟื้นฟูนั้น รัฐได้ให้คำสัญญากับเจ้าหนี้ไว้ว่าจะหาเงินมาสนับสนุนการฟื้นฟูของการบินไทย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้การบินไทยยังไม่ได้นัดเข้ามาหารือเรื่องการจัดหาแหล่งเงินเสริมสภาพคล่องกับกระทรวงการคลัง หลังจากที่การบินไทยได้เข้าไปรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูให้นายกรัฐมนตรีทราบไปก่อนหน้า ซึ่งกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ถือว่า การบินไทยทำได้ดีกว่าแผนฟื้นฟูฯ ที่กำหนดไว้ เช่น จากเดิมบอกว่า สภาพคล่องจะหมดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม แต่ตอนนี้ก็ยังพอมีสภาพคล่องเพียงพอให้เดินหน้าต่อได้
“คลังจะต้องเข้าไปช่วยหาแหล่งเงินทุนให้การบินไทยอีกหรือไม่นั้น ยังต้องรอดู รอให้การบินไทยได้ทำให้ถึงที่สุดก่อน ที่เคยบอกต้องการ 5 หมื่นล้านบาท วันนี้ก็อาจต้องการไม่ถึง ซึ่งอาจจะพอที่ 2.5 หมื่นล้านบาท ส่วนรูปแบบจะเป็นแบบไหนก็ต้องให้การบินไทยใช้ความพยายามเอง เพราะเป็นเอกชนก็อาจต้องไปหากู้เงินเองก่อน เพราะคลังเข้าไปค้ำประกันให้ไม่ได้แล้ว”นายอาคม กล่าว
อย่างไรก็ตาม การบินไทยแจ้งว่า หลังกลับมาเปิดการบินได้ ตัวเลขบุ๊กกิ้งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีรายได้เข้ามาและเริ่มเห็นกำไรตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นกำไรที่เกิดจากการบิน ไม่ใช่จากการขายสินทรัพย์ ทำให้มีสภาพคล่องและมีกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความจำเป็นต้องใช้เงินกู้น้อยลง แต่หากท้ายที่สุด การบินไทยยังต้องการสภาพคล่องเพิ่ม ก็ต้องเข้ามาคุยเพื่อหาแนวทางร่วมกัน
ส่วนกรณีข้อกังขาการขายเครื่องบินของการบินไทยให้เอกชน ซึ่งซื้อมาในราคาแพงแต่ขายออกในราคาถูกนั้น นายอาคมกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของการบินไทยที่จะต้องชี้แจงกับทางกระทรวงคมนาคม ซึ่งการขายเครื่องบินที่มีการปลดระวาง ก็ถือเป็นเรื่องปกติที่ในอดีตก็เคยทำ แต่ในส่วนของข้อกังขา การบินไทยก็ต้องชี้แจงให้ชัดเจน
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า กระทรวงการคลังไม่ได้ห่วงว่า การเติมสภาพคล่องการบินไทยของฝั่งเอกชนในวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาทแล้ว อาจทำให้สถานะผู้ถือหุ้นของคลังลดลง และจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสายการบินแห่งชาติให้ลดลงไปด้วย เพราะมองว่า หากการปรับโครงสร้างของการบินไทย แล้วจะทำให้ธุรกิจและสถานะทางการเงินของการบินไทยกลับมาดีขึ้นได้ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ท้ายที่สุดการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งก็มีคนของกระทรวงการคลังนั่งอยู่ในนั้นด้วย และมั่นใจว่าผู้บริหารแผนฯ จะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ
“สายการบินแห่งชาติ ถือเป็นภาพลักษณ์และเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ แต่หากต้องมีการปรับโครงสร้างและทำให้ความเป็นสายการบินแห่งชาติลดลงบ้าง ก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะเมื่อสถานการณ์ของการบินไทยกลับมาดีขึ้น ท้ายที่สุดทั้งนักลงทุนทุกภาคส่วน รวมถึงรัฐบาล และกระทรวงการคลัง ก็จะกลับมาให้ความสนใจและเข้าไปลงทุนเพิ่ม”นายสันติกล่าว
ด้านนางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่า กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นจะใส่เงินเพิ่มทุน หรือ ในฐานะเจ้าหนี้จะแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยหรือไม่ เนื่องจากยังไม่เห็นรายละเอียดของแผน ซึ่งจะต้องหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในฐานะผู้จัดหาแหล่งเงินและระดับนโยบาย
ทั้งนี้ หากมองในเชิงนโยบายแล้ว กระทรวงการคลังคงต้องมีหุ้นในการบินไทยในระดับที่พอสมควร แม้ขณะนี้จะลดสัดส่วนลงมาเหลือ 47% และเมื่อบวกกับหุ้นที่ธนาคารออมสินถืออยู่อีกประมาณ 2% เป็น 49%
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีการตั้งข้อสังเกตุไว้ว่าจะมีการซอยธุรกิจของการบินไทยออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้เหลือแค่บริการสายการบินเท่านั้น ส่วนธุรกิจบริการภาคพื้นดิน คาร์โก้ ซ่อมบำรุง ฯลฯ จะมีการดึงเอกชนเข้ารับบริหาร
กิจการแทน
ล่าสุดนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่า ในแผนฟื้นฟูกิจการต้องมีเงินจาก
รัฐและเอกชนรวม 5 หมื่นล้านบาท หากรัฐไม่ใส่เงินเข้ามา รัฐอาจจะเสียโอกาส เพราะการที่เอาเงินใส่เข้ามาเพิ่ม จะมีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคา 2.54 บาท ดังนั้นการที่เอกชนใส่เงินเข้ามา 2.5 หมื่นล้านบาท ก็จะมีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนส่วนนี้ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนรัฐลดลงเหลือแค่ 8% จากปัจจุบันที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 48%
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,731 วันที่ 14 - 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564