OTA สัญชาติไทยเปิดแนวรุก ลงสนามแข่งออนไลน์ทราเวลเอเย่นต์ต่างชาติ

25 พ.ย. 2564 | 06:51 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ย. 2564 | 09:59 น.

แม้โควิดจะกระทบต่อบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ แต่การจองเดินทางท่องเที่ยวผ่าน OTA ก็จะฟื้นตัวได้เร็วเมื่อการเดินทางกลับมา และปัจจุบันธุรกิจนี้ในไทยเริ่มมีผู้เล่นเพิ่มขึ้น อันเกิดจากการทรานฟอร์มของทั้งกลุ่มดิจิทัล สตาร์ทอัพ รวมถึงการก้าวเข้าสู่ธุรกิจนี้ของบิ๊กเนม

ก่อนโควิด Global Data ระบุว่าตลาด OTA (Online Travel Agent) บริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ทั่วโลกมีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 258,000 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าจะแตะ 372,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในปี 2566 เติบโต 44% แม้โควิดจะกระทบต่อธุรกิจนี้ แต่การจองเดินทางท่องเที่ยวผ่าน OTA ก็จะฟื้นตัวได้เร็วเมื่อการเดินทางกลับมา และปัจจุบันธุรกิจนี้ในไทยเริ่มมีผู้เล่นเพิ่มขึ้น อันเกิดจากการทรานฟอร์มของทั้งกลุ่มดิจิทัล สตาร์ทอัพ รวมถึงการก้าวเข้าสู่ธุรกิจนี้ของบิ๊กเนม

 

ที่ผ่านมา OTA ที่ครองส่วนแบ่งตลาดในไทยจะเป็นแบรนด์ของต่างประเทศ โดยเฉพาะ 2 บริษัทใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น Nasdaq คือ 1.เอ็กซ์พีเดีย กรุ๊ป และ 2.ไพร์ซไลน์ กรุ๊ป เจ้าของแบรนด์ Agoda.com และ Booking.com และทั้ง 2 บริษัทยังมีบริการจองที่พักทางเลือก อย่าง บ้านพัก อพาร์ทเม้นท์ บ้านต้นไม้ เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่เซ็กเม้นท์เดียวกับลูกค้าของ Airbnb ด้วย

 

โดยโรงแรมและผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าคอมมิชั่นให้ OTA เหล่านี้20-35% ทำให้หลายคนเริ่มมองโอกาสของ OTA สัญชาติไทย ที่ผ่านมาก็มีรายเล็กๆเกิดขึ้นในตลาดและดับไป เข็นยังไงก็ไม่ขึ้น เพราะแพ้เครือข่ายด้านการตลาดที่เข้มแข็งของ OTA ต่างชาติ แต่หลังจากโควิด-19 เราเริ่มเห็นการทรานฟอร์มเข้าสู่ธุรกิจนี้ของหลายบริษัทของไทย ซึ่งมีจุดขายที่แตกต่าง เน้นตอบโจทย์ผู้บริโภคและธุรกิจในไทยมากขึ้น

 

OTA สัญชาติไทยเปิดแนวรุก ลงสนามแข่งออนไลน์ทราเวลเอเย่นต์ต่างชาติ

ปัจจุบัน OTA สัญชาติไทย กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ที่หันมาบุกเบิกตลาดนี้อยู่หลายปี คือ “แอสเซนด์ แทรเวิล” ของเครือซีพี ซึ่งให้บริการแบบB2B เป็นหลัก เน้นให้บริการลูกค้าซึ่งเป็นธุรกิจในเครือซีพีและบริษัทคอร์ปอเรทต่างๆ ในการจองบริการโรงแรม และกำลังมองถึงการให้บริการแบบ B2C ในอนาคตด้วย และน้องใหม่ล่าสุดคือโรบินฮู้ด แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ในเครือ SCB 10X ก็พร้อมรุกเข้าสู่การเป็น OTA

 

OTA สัญชาติไทยเปิดแนวรุก ลงสนามแข่งออนไลน์ทราเวลเอเย่นต์ต่างชาติ

SCB 10X ปั้นโรบินฮู้ดรุกOTA

 

นายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริษัทเพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าโรบินฮู้ด ทราเวล เป็นบริการใหม่ที่เราเตรียมเปิดให้บริการ OTA สัญชาติไทย ที่จะเริ่มเปิดให้บริการได้ในช่วงเดือนก.พ.ปี65 ซึ่งจากการเปิดให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ทำให้เรามองเห็นว่าวิธีการทำงานซึ่งเราไม่ได้คิดค่า GP กับร้านอาหารส่งผลให้มีร้านอาหารเข้าร่วมแอปโรบินฮู้ดเป็นจำนวนมาก เป็นการช่วยคนตัวเล็กทำให้ร้านค้าสามารถลดราคาให้ลูกค้าได้

 

ธนา เธียรอัจฉริยะ

ทำให้เรามองที่จะขยายการให้บริการของแอปสู่ OTA เพราะเรามีฐานลูกค้าโรบินฮู้ดมาจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวน 2.4 ล้านคนที่ส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯและมีกำลังซื้อสูง การเสริมเรื่องของ OTA ก็ทำให้มีการเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัด เราจึงจะเปิด “โรบินฮู้ด ทราเวล” ดึงโรงแรมเข้ามาขายที่พักผ่านแอปโดยไม่คิดค่าคอมมิชั่น ซึ่งมั่นใจว่าโรงแรมจะเข้าร่วม เพราะลดค่าใช้จ่าย ทำให้โรงแรมสามารถลดราคาทำโปรโมชั่นให้ลูกค้าได้ จากที่หากเป็นช่วงปกติโรงแรมต้องจ่ายค่าคอมมิชั่นให้ OTA 13-30%

 

แม้ที่ผ่านมา OTA ต่างชาติจะเข้ามาครองส่วนแบ่งตลาดในไทยมานาน แต่เรามั่นใจว่าจากจุดขายที่มีทำให้การเข้าสู่ตลาดในครั้งนี้โรบินฮู้ดน่าจะครองส่วนแบ่งตลาดได้ 5-10% ในปีแรกของการเปิดให้บริการ โดย OTA ต่างชาติส่วนใหญ่จะมีลูกค้าเป็นต่างชาติ แต่สำหรับเราเน้นตลาดคนไทยเป็นหลักเพราะมองว่าในช่วง 2-3 ปีนี้ลูกค้าของโรงแรมส่วนใหญ่ก็ยังจะเป็นลูกค้าคนไทยเป็นหลักอยู่ และศักยภาพในการเชื่อมโยงฟู้ดดิลิเวอรีในจังหวัดที่ลูกค้าไปเข้าพักได้

 

“เราไม่ได้คิดค่าคอมมิชั่นจากโรงแรม แต่จะมีรายได้จากการจองตั๋วเครื่องบิน กิจกรรมท่องเที่ยว ประกันภัย ที่สามารถคิดค่าคอมมิชั่นได้ การขายโฆษณาแบนเนอร์ต่างๆ รวมถึงมีแผนจะขายบริการท่องเที่ยวรองรับการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศของคนไทย ที่บริการนี้จะเริ่มขายในช่วงไตรมาส 4 ปีหน้า ใน 6 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ซึ่งการขายเชื่อมโปรดักซ์ในต่างประเทศก็จะมีการคิดค่าคอมมิชั่น นอกจากนี้เรายังหวังว่าหากธุรกิจต้องการสินเชื่อก็จะนึกถึงธนาคารไทยพาณิชย์เป็นแห่งแรกจากการทำงานร่วมกันที่เกิดขึ้น”

 

นอกจากนี้ภายในเดือนพ.ย.ปีหน้า โรบินฮู้ดก็จะขยายการให้บริการในส่วนRobinhood Mart บริการสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้า และRobinhood Expressบริการรับ-ส่งของ (Express Service) แบบ On-Demand เพื่อรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังขยายตัวแบบก้าวกระโดด เพื่อให้โรบินฮู้ดเป็นซูปเปอร์แอพ และในปีหน้ามีแผนระดมทุน (Raise Funds) จากนักลงทุน เพื่อนำเงินไปพัฒนาแพลตฟอร์มและขยายธุรกิจ ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้

 

นายสีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่าโรบินฮู้ด ทราเวล ตั้งเป้าว่าจะดึงโรงแรมและการท่องเที่ยวเข้าร่วมแพลตฟอร์ม 2-3 หมื่นราย มองเป้าหมายในการสร้างรายได้ 1 พันล้านบาท และช่วนผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายจากค่าคอมมิชั่นได้กว่า 200 ล้านบาท โดยโรงแรมที่จะดึงมาร่วมก็จะเป็นโรงแรมในพื้นที่ 14 จังหวัดในเมืองท่องเที่ยวหลักทั่วภูมิภาค อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย หัวหิน กระบี่ สมุย พัทยา โคราช เนื่องจากได้สำรวจแล้วพบว่าการเดินทางส่วนใหญ่จะครอบคลุมเมืองท่องเที่ยวเหล่านี้ และดูสัดส่วนโรงแรมก็คิดเป็นกว่า 75%

 

สีหนาท ล่ำซำ

ธุรกิจปรับโมเดลรับตลาดเปลี่ยน

 

รวมไปถึงธุรกิจดิจิทัล สตาร์ทอัพของไทย อย่าง Locanation ที่ในอดีตเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการด้านข้อมูลเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยทั่วไทย เมื่อเกิดวิกฤติโควิดขึ้น ก็ได้ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจสู่การเป็นสถานที่กักตัวทางเลือก หรือ Alternative State Quarantine (ASQ) เพื่อสนองตอบความต้องการที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังเตรียมแผนที่จะ Scale up สู่แพลตฟอร์มผู้ให้บริการด้านการจองที่พัก (OTA) อย่างเต็มรูปแบบ

 

นายเปเป้ อรุณานนท์ชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท โลเคเนชั่น จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนต่อยอดและพัฒนาแพลตฟอร์ม Locanation (www.locanation.com) เพื่อเป็นแพลตฟอร์มจองโรงแรมเต็มรูปแบบ ภายใต้คอนเซปต์ใหม่ “The First-Ever Social Travel Marketplace” ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มจองโรงแรมที่ไม่เก็บค่าคอมมิชชันจากโรงแรมที่เข้าร่วมระบบ ซึ่งเราเล็งเห็นโอกาส หลังจากรับทราบถึงปัญหาของผู้ประกอบการโรงแรม อาทิ การผูกขาดตลาดของแพลตฟอร์มต่างชาติ ซึ่งส่งผลให้โรงแรมต้องจ่ายค่าคอมมิชชันสูงถึง 30% หรือการที่โรงแรมไม่สามารถสื่อสารโปรโมชั่นและข้อมูลต่างๆ โดยตรงกับนักท่องเที่ยวผ่านแพลตฟอร์มเหล่านั้นได้

 

เปเป้ อรุณานนท์ชัย

 

ปัญหาเหล่านี้ก่อให้เกิดเทรนด์การจองห้องพักโดยตรงที่เพิ่มมากขึ้น แต่กว่า 70% ของโรงแรมในไทย ยังไม่มีช่องทางออนไลน์ให้นักท่องเที่ยวจองห้องพักหรือแม้แต่สอบถามข้อมูล เราพัฒนาระบบการจองโรงแรมรูปแบบใหม่ขึ้นมา เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และนำรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดกลับมาอยู่ในอุ้งมือของคนไทย ซึ่งแพลตฟอร์ม Locanation จะให้บริการ 3 ภาษา ประกอบด้วยไทย อังกฤษ และจีน โดยเฟสแรกของการเปิดให้บริการจะเน้นผู้ใช้บริการจะเป็นนักท่องเที่ยวไทยในประเทศ 80% อีก 20% เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ตั้งเป้าโรงแรมที่จะเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม Locanation เป็น 20,000 โรงแรมได้ภายในปี 2565

 

แพลตฟอร์ม Locanation

 

รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่นสายการบินอย่างแอร์เอเชีย ก็หันมาให้บริการซูปเปอร์แอพครอบคลุมการบริการท่องเที่ยวออนไลน์ครบวงจรเช่นกัน ผ่าน AirAsia Group Berhad (AAGB) ซึ่งต่อไปแอร์เอเชีย จะไม่ใช่ขายตั๋วเครื่องบินเฉพาะสายการบินในกลุ่มแอร์เอเชีย หรือทำธุรกิจการบินเท่านั้นเท่านั้น แต่ได้พลิกโฉมสู่ OTA ออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์ บริการการเดินทางครบวงจร นอกจากการจองตั๋วเครื่องบินกว่า 700 สายการบิน ที่พัก/โรงแรม สั่งอาหารหรือแอร์เอเชียฟู้ดในนามแอร์เอเชีย ซูเปอร์แอพ

 

นอกจากนี้ล่าสุด Shopee เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังจากสิงคโปร์ ยังได้ร่วมกับ Agoda.com และBooking.com เปิดให้บริการ “Shopee Hotel” เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานในอาเซียรวมถึงไทย สามารถค้นหาและจองที่พักได้แบบทันทีด้วยจำนวนห้องพักกว่า 1 ล้านแห่งทั่วโลกด้วย เพื่อเพิ่มช่องทางหารายได้ในธุรกิจใหม่ๆรองรับการขยายการเติบโตของธุรกิจในอนาคต

 

ทั้งหมดล้วนเป็นภาพรวมของธุรกิจที่ก้าวเข้าสู่ OTA ที่เกิดขึ้น