การประกาศล้มครืนของทัวร์ยักษ์ใหญ่และเก่าแก่ “โทมัส คุก” ประเทศอังกฤษ เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำเอาวงการท่องเที่ยวโลกสั่นสะเทือนถ้วนหน้า พนักงาน 2.2 หมื่นคนทั่วโลกเสี่ยงกลายเป็นคนว่างงานกนักท่องเที่ยว 6 แสนคนทั่วโลกตกค้าง
แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี รัฐบาลแต่ละประเทศได้หาทางช่วยพลเมืองของตนให้เดินทางกลับถิ่นฐานได้อย่างปลอดภัย ท่ามกลางประเด็นที่คนทั่วไปถกเถียงกันถึงสาเหตุที่ทำให้ทัวร์ยักษ์อายุกว่า 178 ปี ต้องตกอยู่ในสภาพล้มละลาย ด้วยเหตุผลใดกันแน่ และภาระหนี้สินที่ติดค้างไว้ เจ้าหนี้จะได้เงินคืนหรือไม่
กูรูในวงการท่องเที่ยวระบุว่า เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นในยุโรปและไม่น่าเป็นปัญหาเพราะประเทศในยุโรปมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ที่ค่อนข้างเข้มแข็งเมื่อเกิดปัญหารัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือเพราะมีเงินกองกลางคอยสนับสนุน บางประเทศหากรัฐไม่เข้ามาดูแล เอกชนก็จะทำกันเอง อีกทั้งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะได้รับการแนะนำให้ซื้อประกันการเดินทางคนละ 7 ยูโรอีกด้วย
ดังจะเห็นได้จากหลังเกิดปัญหา สำนักงานการบินพลเรือนแห่งสหราชอาณาจักร ที่ได้ติดต่อไปยังโรงแรมต่าง ๆ ที่ลูกค้า “โทมัส คุก” พักอยู่ และจองเป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจ โดยระบุว่ารัฐบาลจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับที่พัก ผ่านกองทุน Air Travel Trust Fund and Air Travel Organiser's Licence
พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยน
อย่างไรก็ดี การปิดตัวของ “โทมัส คุก” ไม่ใช่รายแรก ก่อนหน้านั้นเคยมีบริษัทนำเที่ยวปิดกิจการและนักท่องเที่ยวก็ได้รับความคุ้มครอง อย่างในฝรั่งเศสจะมีองค์กรกลางเข้ามาอุ้มนักท่องเที่ยว เมื่อบริษัทนำเที่ยวล้มละลายผู้บริโภคจะไม่ได้รับความเดือดร้อนและอีกทางหนึ่งบริษัทนำเที่ยวในประเทศต่าง ๆ จะถูกขอร้องให้ช่วยต่อรองกับโรงแรมเพื่อให้ราคาพิเศษ เป็นการช่วยนักท่องเที่ยวไม่ให้ได้รับผลกระทบ
ส่วนสาเหตุการล้มละลายของ “โทมัส คุก” ครั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเบร็กซิท และปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในบางประเทศ อย่างตุรกี แต่ยังมีโจทย์ใหญ่ที่ไม่เฉพาะแต่ โทมัส คุก ที่ต้องพบจุดจบบริษัททัวร์หลายแห่งกำลังเจอปัญหานี้เช่นกันคือ “ดิจิทัล ดิสรัปชัน” พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปหันไปจองผ่านออนไลน์เดินทางด้วยตัวเอง ไม่ใช้บริการของบริษัทนำเที่ยวอีกต่อไป โดยเฉพาะการจองผ่าน OTA หรือ ออนไลน์ ทราเวล เอเยนต์ โดยมีแรงหนุนจากสายการบินต้นทุนต่ำที่ผุดเป็นดอกเห็ด เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้บริษัทนำเที่ยวขนาดใหญ่ที่ปรับตัวไม่ทันต้องล้มหายตายจาก
หนุนซอฟต์โลนธุรกิจโรงแรม
จากการเกาะติดสถานการณ์ผลกระทบ “โทมัส คุก” การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่ามีลูกทัวร์ตกค้างอยู่ในประเทศไทย 843 คน ซึ่งได้หาทางช่วยเหลือให้ได้รับบริการที่ดีที่สุด ส่วนผู้ประกอบการโรงแรมที่ได้รับผลกระทบ
“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการททท. บอกว่าได้ประสานกับสมาคมโรงแรมไทยเพื่อรวบรวมตัวเลขที่โรงแรมยังไม่ได้เงิน เพื่อรวบรวมความเสียหาย นำเสนอรัฐบาลในการสนับสนุนซอฟต์โลน มาช่วยสภาพคล่องให้แก่โรงแรมที่ได้รับผลกระทบต่อไป
ส่วนช่วงไฮซีซันที่จะถึงนี้ สำนักงาน ททท.ยุโรปจะคลอดแคมเปญ “BOOK NOW TRAVEL NOW " เพื่อกระตุ้นนักท่องเที่ยวที่เคยซื้อแพ็กเกจกับ โทมัส คุก ไว้แล้วและยังต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวไทยเหมือนเดิม เพื่อโปรโมตนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ที่ต้องการมาเที่ยวเมืองไทยเหมือนเดิม แต่อาจต้องปรับไปใช้บริการของบริษัทอื่นแทน
ส่อเค้าตั้งแต่กลางปี
สำหรับในมุมของผู้ประกอบการโรงแรมในประเทศไทย มีการพูดคุยกันในกลุ่มเครดิตบูโรของโรงแรมต่าง ๆ ซึ่งมีการเตือนให้ระวังมาสักระยะหนึ่งแล้ว สำหรับกรณีของ โทมัส คุก แต่ถ้าหากเกิดผลเสียหายขึ้น ก็มี ขั้นตอนการชำระหนี้ของการบังคับคดี เคลียร์หนี้สิน ทรัพย์สิน ตามกฏหมายล้มละลาย ไม่น่าเป็นห่วงแต่อาจต้องใช้เวลา
รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหารโรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา กล่าวว่า กรณี โทมัส คุก เริ่มส่งสัญญาณไม่ค่อยดีมาตั้งแต่กลางปี และโรงแรมก็ระมัดระวังในการให้เครดิต ซึ่งจะมีการรีเช็กระหว่าง เครดิตไลน์ของกลุ่มโรงแรมด้วยกันเองตลอดเวลา ส่วนของโรงแรมได้รับผลกระทบน้อยมาก
การปิดตัวของ “โทมัส คุก” มิ่งขวัญ เมธเมาลี อุปนายกสมาคม ไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ซึ่งดูแลตลาดยุโรป และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมเมจ เอเชีย จำกัด กล่าวว่า เรื่องนี้เห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่า ปรากฏการณ์พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ขยายผลไปทั่วทุกภูมิภาคแล้วบนโลกใบนี้ ซึ่งตามสถิตินักท่องเที่ยวจากยุโรปที่เข้าไทยผ่านผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวที่เป็นสมาชิกนั้น มีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ แต่สถิติจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กลับโตขึ้นกว่าปีที่แล้ว
“แอตต้า” แนะบริษัททัวร์ปรับตัว
ดังนั้น การปิดตัวของ โทมัส คุก จะทำให้ราคาทัวร์ในยุโรปเพิ่มขึ้น รัฐก็จะเข้ามากำกับดูแล บริษัททัวร์เข้มงวดขึ้น ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจทัวร์ชะลอตัวอย่างแน่นอน แต่กลับกันก็ยิ่งส่งผล ให้การเดินทางในแบบเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) หรือ ออนไลน์ ทราเวล เอเยนต์ (OTA) อาจโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดก็เป็นได้ เรื่องนี้ทางสมาคม ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยนายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคม ก็ได้แสดงความห่วงใย ให้รีบเร่งหารือร่วมกับภาครัฐ ในการแก้ปัญหาดังกล่าว เป็น 3 กลุ่มคือ
1. บริษัททัวร์ขนาดใหญ่ ต้องปรับโครงสร้าง เตรียมรับมือกับการแข่งขัน
2. บริษัททัวร์ขนาดกลาง ต้องทำงานบูรณาการร่วมกับภาครัฐมากขึ้น
3. บริษัทขนาดเล็ก ต้องเร่งเสริมสร้างขีดความสามารถ เพื่อเตรียมรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่อาจเพิ่มมากขึ้น
กรณี“โทมัส คุก” คงเป็นบทเรียนของการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุค “ดิจิทัล ดิสรัปชัน” เพราะไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหนก็มีสิทธิ์พ่ายได้เสมอ !!
คอลัมภ์ : ตื้น ลึก หนา บาง
โดย : เรดไลออน