การแพร่ระบาดของ“โอมิครอน” เป็นปัจจัยลบต่อการท่องเที่ยวในปีเสือ ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะยังหวังพึ่งไม่ได้เต็มที่ และประเทศต่างๆต้องปรับมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวแปรผันไปตามความผันผวนของสถานการณ์โควิด ส่งผลให้ตลาดการท่องเที่ยวจึงอยู่ในวงจำกัด การเที่ยวในประเทศจึงเป็นหัวหอกสำคัญ ซึ่งเทรนด์การเดินทางท่องเที่ยวปี2565 จะเป็นเช่นไร “ฐานเศรษฐกิจ” จับประเด็นมานำเสนอ
1. NEO Tourism
เป็นคำนิยามใหม่ของรูปแบบการท่องเที่ยวหลังยุคโรคระบาด เป็นการถอดบทเรียนจากสถานการณ์โควิด-19 ที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะก้าวข้ามจาก New Normal ไปสู่ Next Normal ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่เน้นเรื่องความสะอาด สุขอนามัย และความยืดหยุ่นในการให้บริการมากขึ้น ดังนั้นเทรนด์นักท่องเที่ยวยุค Next Normal จะให้ความสำคัญ 3 ประเด็นในการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว ได้แก่
Nature Seeking (ตามหาธรรมชาติ) เพราะยิ่งล็อกดาวน์ทำให้ธรรมชาติฟื้นฟู เมื่อเปิดประเทศ คนจึงต้องการกลับไปใกล้ชิดธรรมชาติ และมองว่าธรรมชาติบำบัดจะช่วยคลายเครียด รู้สึกผ่อนคลาย
Hygieneaholic (ติดสะอาด) หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย นักท่องเที่ยวจะยังคงให้ความสำคัญเรื่องสุขอนามัยและความสะอาด สถานที่ท่องเที่ยว การให้บริการหรือที่พักที่มีมาตรการป้องกันโรคที่ดี จะตอบโจทย์ความต้องการและสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวได้ดีกว่า ซึ่งมาตรฐานสุขอนามัยต้องเป็นระดับสากล ซึ่งไทยก็มีมาตรฐาน (Amazing Thailand Safety & Health Administration : SHA)
Flexi Needed (ต้องการความยืดหยุ่น) เพราะความไม่แน่นอนเรื่องโรคระบาด ทำให้นักท่องเที่ยวมองหาบริการที่มีการประกันความเสี่ยง รวมถึงต้องการทริปที่มีความยืดหยุ่นสูง โดยเฉพาะบริการที่ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ เช่น การยกเลิกที่พักเมื่อป่วยกะทันหัน ทำให้วางแผนการเดินทางปรับตัวไปตามสถานการณ์ได้
ทั้งนี้กลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวได้เร็วกว่าหากมีการคุมการติดเชื้อในประเทศได้ จะเป็นคนรุ่นใหม่อายุ18-35 ปีและกลุ่มครอบครัว ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบุตรหรือมีสมาชิกมากกว่า 2 เจนเนอเรชั่น และกลุ่มนี้จะเน้นจองที่พักผ่านโรงแรมโดยตรงมากกว่าออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์ (OTA) เนื่องจากทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นและสามารถสอบถามเรื่องมาตรการความสะอาดได้โดยตรง
สำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวที่คนรุ่นใหม่สนใจมากที่สุด คือ การไปคาเฟ่และตระเวนกินตามร้านอาหาร ส่วนกลุ่มครอบครัวต้องการพักผ่อนในที่พัก เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและลดความเสี่ยง ซึ่งคนกลุ่มเหล่านี้พร้อมจ่ายในราคาสูง ส่วนตลาดจากต่างประเทศ ที่ยังมีโอกาสในการเดินทางเข้าไทยได้ก่อน ก็ยังคงเป็นกลุ่ม Digital Nomad ที่ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถทำงานได้
ขณะที่การศึกษาของ วีซ่า ประเทศไทย ที่เปิดเผยว่าการท่องเที่ยวในปี 2565 จะยังเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีแรกของปี65 และให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยด้านสุขภาพ กว่า 53% จะตัดสินใจเลือกที่พักที่มีการรับรองด้านความปลอดภัยและคุณภาพ 44% จะหันมาให้การชำระเงินแบบ Contactless ลดการสัมผัส และ 42% จะหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคนแออัดสูง
2.ทราเวล เทค
อีกเทรนด์ของการท่องเที่ยวยุคโควิด การสร้างนวัตกรรมที่เข้ามาปฏิวัติวงการท่องเที่ยว เป็นเทรนด์ที่จะเห็นชัดเจนในปี65 ได้แก่
“พาสปอร์ตดิจิทัล” ที่ผ่านมาการเดินทางเที่ยวในประเทศและการบินในประเทศ คนไทยจะคุ้นชินกับการแสดงผลการฉีดวัคซีนในแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม แต่นับจากม.ค.65 Thailand Digital Health Pass ในแอพฯหมอพร้อม จะมีบทบาทมากขึ้น เมื่อล่าสุดสหภาพยุโรป(EU) มีมติยอมรับ Thailand Digital Health Pass ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันกับ EU Digital COVID Certificate ทำให้สามารถใช้ในการเดินทางเข้าประเทศกว่า 60 ประเทศ/ดินแดน ที่สหภาพยุโรปให้การยอมรับ ทำให้สะดวกในการเดินทางไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น
“เทคโนโลยีไร้สัมผัส” การใช้เทคโนโลยีสั่งงานด้านเสียง การใช้เซนเซอร์สั่งการแทนการสัมผัส RFID NFC การจดจำใบหน้า การยืนยันตัวบุคคลด้วยไบโอเมตริก ในภาคการท่องเที่ยวและการโรงแรมจะมีเพิ่มขึ้น ที่ไม่เพียงแต่สะดวกสบายและเป็นไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัย แต่ยังเป็นการสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะอยู่ในโรงแรม สนามบิน หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ
อีกทั้งจะเริ่มเห็นแรงงานดิจิทัลเข้ามาแทนแรงงานมนุษย์ในภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ BOT พูดคุยกับลูกค้า การนำ KIOSK สำหรับเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ หรือรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ ในการให้บริการที่สนามบิน การใช้แอปพลิเคชั่น ในการจองอีเว้นท์และการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่หรือแหล่งท่องเที่ยวซึ่งมีการจำกัดนักท่องเที่ยว เป็นต้น
“ดิจิทัล ทราเวล” การเปลี่ยนถ่ายของเทคโนโลยีดิจิทัล สมัยใหม่ ถูกนำมาใช้ต่อยอดธุรกิจท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะทางดิจิทัล อาทิ AR & VR Blockchain การจดจำข้อมูลและการนำสมาร์ทโฟนมาช่วยสื่อสารในการบริการที่จะทำให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์และการได้รับข้อมูลเชิงลึกจากนักท่องเที่ยว
การผลักดันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็น Crypto-positive Industry และใช้ประโยชน์จากโทเคน อีโคโนมี ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเมตาเวิร์ส แพลตฟอร์ม ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ก็จะเริ่มเปิดตัวจากการทำไร่ทุเรียน ในเดือนพ.ค.นี้เพื่อรองรับฤดูผลไม้ ให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวในไร่ทุเรียนและซื้อกลับไปได้ ซึ่งขณะนี้ททท.กำลังคุยกับเจ้าของสวนทุเรียนในจ.ระนอง จันทบุรี และหากประสบความสำเร็จก็จะมีการเปิดรับสมัครเจ้าของสวนทุเรียนทั่วประเทศเพื่อมาร่วมขายทุเรียนบนไร่ทุเรียนเมตาเวิร์ส
การใช้ประโยชน์จากเหรียญNFT ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความเฉพาะตัว เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ BCG และ การท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบ เช่น การจัดทำโครงการ “เที่ยวเก็บเหรียญ” และการจัดทำ NFT มาร์เก็ตเพลสในการขายเหรียญ และการทำเรื่องวอลเล็ตด้วย
3. เวลเนส ทัวริสซึ่ม
โควิด-19 ทำให้คนสนใจดูแลสุขภาพก่อนป่วยมากขึ้น การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม จึงเป็นเทรนด์ที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเพิ่มขึ้น ซึ่งมูลค่าในธุรกิจเวลเนสทั่วโลก เพิ่มจาก 6.39 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยับมาเป็น 8.01 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในปี 2563 และมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 2 เท่าในปี 2573 หรือราว 1.59 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกลุ่มนี้ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะมีการใช้จ่ายมากกว่าปกติ 53% หรือไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาทต่อทริป แต่ถ้าเป็นตลาดในประเทศจะมีการใช้จ่ายมากกว่าปกติ 178% โดยปัจจุบันไม่ใช่เพียงนักท่องเที่ยวกลุ่มซิลเวอร์ เอจ (คนที่มีอายุเกิน 50 ขึ้นไปและเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ) จะมองหาประสบการณ์เวลเนสเท่านั้น แต่คนรุ่นใหม่ก็มองหาประสบการณ์นี้ด้วยเช่นกัน
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,745 วันที่ 2 - 5 มกราคม พ.ศ. 2565