การท่องเที่ยวของไทย ปีที่ผ่านมาว่าแย่แล้ว แต่ปีนี้แย่กว่าเดิมอีก เพราะช่วงไตรมาสแรกปี 63 ไทยยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาราว 6 ล้านคนก่อนโควิด แต่ในปี 64 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 106,116 คน เท่านั้นในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ติดลบ 98.41% และเมื่อเริ่มเปิดประเทศ 1 พ.ค.64 ก็มี “โอมิครอน” มาซ้อนวิกฤติโควิดขึ้นมาอีก ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวในปีนี้มีแต่ ทรงกับทรุด
‘โอมิครอน’ ตัวฉุดท่องเที่ยวไทย
หลังประสบความสำเร็จกับโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ในการนำร่องเปิดประเทศ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 64 ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการดูแลด้านสาธารณสุขของไทย ที่ให้นักท่องเที่ยวที่เข้าภูเก็ต สามารถเที่ยวอยู่บนเกาะภูเก็ตได้โดยไม่กักตัว หากมีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ ตามมาด้วยโครงการ “สมุยพลัส” และโครงการ “7+7 Phuket Extension)” ที่เปิดให้เที่ยวเชื่อมโยงจากภูเก็ต ไปยัง 9 พื้นที่ คือ เกาะพีพี เกาะไหง หาดไร่เลย์ จ.กระบี่ เขาหลัก เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ จ.พังงา เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี
หลังจากนำร่องการเปิดประเทศสำเร็จ จึงนำมาสู่ การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ที่เริ่มไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย.64 ที่มี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. Test & Go ไม่ต้องกักตัวหากผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ 2. แซนด์บ็อกซ์ โปรแกรม กักตัว 7 วัน และ โครงการ State Quarantine ฉีดวัคซีนกักตัว 7 วัน ไม่ฉีดวัคซีนกักตัว 10 วัน มาจากประเทศในทวีปแอฟริกากักตัว 14 วัน และการขยายพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวรวม 26 จังหวัด ที่เพิ่งมีผลวันที่ 1 ธ.ค.64
ทั้งนี้หลังการเปิดประเทศ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเข้าไทยมากขึ้น โดยตั้งแต่ 1 พ.ย.-11 ธ.ค.64 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้า 146,507 คน เพียง 1 เดือนกว่าก็มากกว่าในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 106,116 คน โดยการเดินทางของนักท่องเที่ยวเข้าไทยหลังเปิดประเทศกว่า 80% เป็นนักท่องเที่ยวในรูปแบบ Test & Go ทำให้ก่อนหน้านี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีต่างชาติเที่ยวไทย 3.5-4 แสนคน สร้างรายได้ 2.1-2.4 แสนล้านบาท
แต่วันนี้เมื่อมีโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเกิดขึ้น ก็ทำให้หลายประเทศในยุโรปกลับมาติดเชื้อใหม่อีกครั้ง ทำให้แผนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย เริ่มได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปลายเดือนพ.ย.64 ที่เดิมไทยจะปรับวิธีการตรวจนักท่องเที่ยวจาก Test & Go จากการใช้RT-PCR มาเป็นชุดตรวจ ATK ที่เดิมจะเริ่มในวันที่ 16 ธ.ค.64 ก็ต้องถูกยกเลิกไป การห้ามนักท่องเที่ยวจาก 8 ประเทศแทบแอฟริกาใต้เข้าไทย และล่าสุดจากการแพร่ระบาดของโอมิครอนที่เพิ่มมากขึ้น
ส่งผลให้ศบค.เตรียมที่จะยกระดับมาตรา Test & Go ใหม่เพื่อสกัดโอมิครอน เนื่องจากพบว่า เชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ยังมีกรณีที่ตรวจไม่พบผลเป็นบวกก่อนเดินทาง เมื่อมาถึงไทยผลก็ยังเป็นลบ แต่เมื่อออกจากระบบ วันที่ 3-4 ถึงมีอาการ และตรวจพบผลเป็นบวก ดังนั้นการเข้าประเทศแบบ Test & Go ต้องมีการจัดการให้ตรวจจับได้มากขึ้น อาจต้องปรับระบบไปเป็นการติดตามการตรวจแบบ RT-PCR หรือต้องกักตัวเป็นระยะเวลาเพิ่มขึ้น ส่วนจะใช้เวลาเท่าไหร่ ก็คงต้องหารือกันต่อไป
ดังนั้นหากมาตรการ Test & Go มีการยกระดับในการเพิ่มระยะเวลากักตัว จากปัจจุบันจะอยู่ที่ 1 คืนเพื่อรอตรวจ RT-PCR เพิ่มจำนวนวันขึ้นมาอีก ก็อาจจะกระทบต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวบ้าง แต่เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าควบคู่ไปกับสาธารณสุขของประเทศได้ อย่างน้อยก็ย่อมดีกว่าการปิดประเทศ
บิ๊กธุรกิจปิดดีลซื้อขายโรงแรม
นับจากโควิด-19 ระลอก 3 เมื่อเดือนเม.ย.64 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมในปีนี้อย่างหนัก อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของธุรกิจโรงแรมตกลงมาเหลือตัวเลขหลักเดียวมาตั้งแต่พ.ค.64 จากนั้นก็เริ่มไต่ระดับขึ้นมาอยู่ในระดับตัวเลข 2 หลัก หลังจากรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ การเริ่มโครงการ “เราเที่ยวด้วยกันเฟส 3” และเมื่อเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.64 ก็ทำให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยจากตกต่ำสุดที่ 6.1% ขยับขึ้นมาเป็น 29.9% และคาดว่าในเดือนธ.ค.นี้จะอยู่ที่ 34.1% ขณะที่จำนวนโรงแรมก็ทยอยกลับมาเปิดให้บริการเพิ่มขึ้น
ในปีนี้ฐานลูกค้าของโรงแรมกว่า 68% จะเป็นนักท่องเที่ยวไทย ที่เหลือเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยกลุ่มโรงแรมหรูโดยเฉพาะที่ใช้เชนบริหารจากต่างประเทศจะได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด เนื่องจากลดราคาที่พักลงกว่าครึ่ง คนไทยที่เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศไม่ได้ก็เลือกที่จะพักหรูและเที่ยวในประเทศ ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไทย ตลาดที่ฟื้นมาก็จะเป็นกลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มนักท่องเที่ยวเอฟทีไอ อานิสงส์จึงตกอยู่ในกลุ่มโรงแรมที่ได้รับมาตรฐาน SHA+
สวนทางกับโรงแรมขนาดกลางและเล็ก ที่เมื่อตลาดยังมีดีมานต์ไม่มากพอ ธุรกิจก็ยังไม่คุ้มกับการกลับมาเปิดให้บริการ ทำให้โรงแรมอีกกว่า 30-40% จึงคงเปิดได้บางส่วน หรือปิดกิจการชั่วคราว ซึ่งโรงแรมที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนก็จะเป็นโรงแรมที่มีทำเลดีในย่านเมืองท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยจากการสำรวจของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่าในปีนี้มีการซื้อขายโรงแรมของกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ของไทยไม่ต่ำกว่า 21,103 ล้านบาท ทั้งการขายโรงแรมในไทย และการขายโรงแรมในต่างประเทศ จากเจ้าของโรงแรมที่ถอดใจ และการปรับพอร์ตทรัพย์สินในการทำกำไรของกลุ่มธุรกิจรายใหญ่
การขายโรงแรมของกลุ่มทุนใหญ่ ส่วนใหญ่จะเป็นการปรับพอร์ตทรัพย์สินเพื่อทำกำไร ตุนเงินสำหรับใช้เสริมสภาพคล่องช่วงโควิด รวมไปถึงการนำเงินไปลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพหรือการลงทุนตามกลยุทธของแต่ละบริษัทเพื่อต่อยอดการทำกำไรในอนาคต โดยการขายโรงแรมของกลุ่มที่รับบริหารโรงแรมอยู่แล้ว ก็จะเน้นการเจรจาที่จะเช่ากลับมาทำธุรกิจโรงแรมต่อ หรือจะเป็นในลักษณะการรับบริหารโรงแรมนั้นๆ ต่อ
หรือบางกลุ่มที่ไม่ได้บริหารโรงแรม แต่เป็นบริษัทที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงแรม ก็เลือกที่จะขายโรงแรมออกไปเพื่อทำกำไร และไปขยายการลงทุนในธุรกิจอื่นๆแทน ทั้งยันเป็นโอกาสให้บิ๊กธุรกิจที่ลงด้านโรงแรม หันมาช้อนชื้อโรงแรมที่มีศักยภาพ เพื่อนำมาพัฒนาต่อ
ในปีนี้ความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนไทยรายใหญ่ เริ่มตั้งแต่ต้นปี เมื่อกลุ่ม “เอาท์ริงเกอร์ ฮอสพิทอลลิตี้” ซื้อ 3 โรงแรมเครือมานะไทย ได้แก่ มานะไทย เกาะสมุย, มานะไทย เขาหลัก, มานะไทย สุรินทร์ ภูเก็ต และรีแบรนด์เป็นเอาท์ริกเกอร์ “บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จํากัด (มหาชน)” หรือ AWC ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้ซื้อโรงแรมซิกมา รีสอร์ท จอมเทียน พัทยา ของเอเพ็กซ์ อีเวลลอปเม้นท์ เพื่อนำมาปรับปรุงเป็นโรงแรม5ดาว รวมถึงการซื้อหุ้นในทีซีซี เวิ้งนครเขษม ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเจ้าสัวเจริญ เพื่อพัฒนาเป็นโรงแรม ที่อยู่อาศัย ค้าปลีก มูลค่าการลงทุนกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ที่จะแล้วเสร็จในปี 70 และซื้อโรงแรมดุสิตดีทูเชียงใหม่ จากกลุ่มดุสิตธานี
“ดิ เอราวัณ กรุ๊ป” ขายโรงแรม 2 แห่งบนเกาะสมุย มูลค่ารวม 925 ล้านบาท ให้กับกลุ่มสยามแก๊ส “พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค” ขาย คิโรโระ รีสอร์ท ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประกอบด้วยโรงแรม 2 แห่ง รวม 422 ห้องพัก และลานสกี มูลค่ารวม 15,000 ล้านเยน (ราว 4,358 ล้านบาท) “เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท” หรือ SHR บริษัทในเครือสิงห์ เอสเตท ขายโรงแรม Mercure Newbury Elcot Park ในสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังพิจารณาที่จะขายโรงแรมในสหราชอาณาจักร อีกประมาณ 4-5 แห่ง
“ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” ขายเงินลงทุนโรงแรม 2 แห่งมูลค่ารวม 148 ล้านยูโรหรือราว 5,700 ล้านบาท และให้ NH Hotel Group บริษัทย่อยในเครือไมเนอร์ เข้าบริหารโรงแรมภายใต้สัญญาในเบื้องต้น 20 ปี และขยายได้อีกรวมสูงสุดไม่เกิน 30 ปีและขายโรงแรม 2 แห่งของบริษัท Minor Hotel Portugal, S.A (MHP) บริษัทย่อย 100% ของไมเนอร์ มูลค่าราคาขายรวม 273.5 ล้านยูโร ได้แก่โรงแรมเอ็นเอช คอลเลคชั่น บาร์เซโลนา แกรนด์ โฮเทล กัลเดรอน ประเทศสเปน และโรงแรมทิโวลี มารีน่า วิลามัวรา ประเทศโปรตุเกส โดยเป็นการขายและเช่ากลับมาบริหารใหม่
ดังนั้นในวิกฤตกลุ่มทุนที่ไปได้ก็ยังเป็นรายใหญ่ ต่างจากโรงแรมระดับเอสเอ็มอีที่ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถไปต่อได้
ธุรกิจสายการบินตกตํ่าถึงขีดสุด
การพับปีกของสายการบินจากนโยบายของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่สั่งสายการบินห้ามเปิดบินเชิงพาณิชย์ในพื้นที่สีแดงเข้ม สำหรับเที่ยวบินในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.64 ก่อนจะให้กลับมาทำการบินแบบมีเงื่อนไขตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ และคลายล็อกให้กลับมาทำการบินและขายตั๋วได้ 100% เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา
การถูกห้ามบินทำให้ทุกสายการบินล้วนต่างเผชิญกับวิกฤติสภาพคล่อง เพราะการเปิดบินภายในประเทศเป็นรายได้ทางเดียวในการดำเนินธุรกิจที่เกิดขึ้น ส่วนซอฟต์โลนที่ 7 สายการบินร้องขอการสนับสนุนจากรัฐบาลก็ยังแห้ว ทั้งๆ ที่ขอลดวงเงินซอฟต์โลนจาก 2.4 หมื่นล้านบาทเหลือ 5 พันล้านบาทเพื่อนำมาใช้พยุงการจ้างงานของพนักงานใน 7 สายการบินกว่า 2 หมื่นคนเป็นเวลา 1 ปี
เมื่อซอฟต์โลนไม่ได้การจะอยู่รอดสายการบินต้องช่วยตัวเอง ทั้งการเดินหน้าลดจำนวนพนักงาน การหาแหล่งเงินใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุนของบริษัทแอร์เอเชียเอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV 1.4 หมื่นล้านบาท รวมถึงการลดจำนวนพนักงานไปอีกร่วม 300-400 คน การกู้เงิน 1.3 หมื่นล้านบาทของบริษัทการบินกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BA เพื่อยกเลิกสัญญาเช่ากองทุนสนามบินสมุย รวมถึงการปั้นรายได้จากธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศในการพยุงรายได้เพื่อรอผู้โดยสารฟื้นตัว ซึ่งต่างคาดว่าธุรกิจจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมต้องรอไปจนถึงปี 66-67
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,742 วันที่ 23 - 25 ธันวาคม พ.ศ. 2564