การระบาดหนักของโอมิครอนที่แพร่กระจายไปแล้วกว่า 47 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้สมาคมผู้ค้าปลีกไทยมีความกังวล ต่อแนวโน้มของจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่เพิ่มขึ้น จึงมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันสกัดการแพร่ระบาด และลดความรุนแรงให้ลดลงให้ได้มากที่สุด
สมาคมจึงขอนำเสนอแนวทางให้ความร่วมมือเพี่อร่วมกับภาครัฐในการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ด้วยการช่วยเหลือให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง รวมทั้งฟื้นฟูและเยียวยา SMEs ไทย และขอร่วมผลักดันในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า มีความเป็นไปได้มากว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 หมื่นคนต่อวัน ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ เราน่าจะผ่านความท้าทายนี้ไปได้ไม่ยาก เศรษฐกิจไทยกำลังจะฟื้นตัวจากวิกฤตและทุกคนต้องร่วมผลักดันไม่ให้ประเทศไทยของเราเข้าสู่วิกฤตอีกครั้ง เราไม่สามารถกลับมาเจอกับบาดแผลที่จะซ้ำตรงที่เดิมได้อีกแล้ว
ดังนั้นการทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อของโอมิครอนลดลงหรือให้มีจำนวนน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ เราต้องใช้ระบบป้องกันแบบปูพรม (Innate Immunity) เพิ่มความช่วยเหลือให้ SMEs ไทยมีสภาพคล่อง และการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นคีย์หลักที่สมาคมฯ พร้อมที่จะร่วมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้อีกครั้ง
โดยสมาคมและภาคีเครือข่าย ยังคงยึด 5 แนวทางปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
1. สนับสนุนพื้นที่จุดฉีดวัคซีนทั่วประเทศ สมาคมฯ และภาคีเครือข่ายพร้อมที่จะนำพื้นที่จุดฉีดวัคซีนของภาคเอกชนกลับมาทันที เพื่อช่วยรัฐบาลในการเป็นจุดกระจายการฉีดวัคซีนให้เข้าถึงประชาชนทั่วประเทศอย่างทั่วถึง รวมทั้งให้การสนับสนุนหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่เพื่อให้ชุมชนต่างๆ เข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว
2. ยกระดับมาตรฐานสาธารณสุข สมาคมฯ และภาคีเครือข่าย ยังคงยกระดับมาตรการสาธารณสุขไทยอย่างเคร่งครัดเข้มข้นขั้นสูงสุด ยึดหลัก Covid Free Setting ทุกคนต้องป้องกันตนเองแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) และพร้อมให้ร่วมมือปฏิบัติตามนโยบาย Work From Home เพื่อเป็นการช่วยลดการกระจายและแพร่ระบาดของโอมิครอน
3. ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย โดยเร่งผลักดันให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน ดอกเบี้ยต่ำ ผ่านแฟลตฟอร์ม Digital Supplychain Finance ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งยังลด Credit Term ให้สั้นลงเพื่อเสริมสภาพคล่องและช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นการสร้างแต้มต่อให้ SMEs ไทยสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
4. ตรึงราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค สมาคมฯ และภาคีเครือข่าย พร้อมสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนใน การช่วยลดภาระค่าครองชีพด้วยการตรึงราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน
5. เร่งการลงทุนในประเทศ ภาคค้าปลีกและบริการ ยังคงไว้ซึ่งแผนการลงทุน และการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการช่วยอัดฉีดเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย และยังสร้างการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่แล้วในระบบค้าปลีกและบริการกว่า 1.1 ล้านคน
ทั้งนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องในเรื่อง ดังต่อไปนี้
1. รัฐต้องมีมาตรการเชิงรุกสำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดให้มีการควบคุมอย่างเคร่งรัด อย่างไรก็ตาม หากมีการระบาดในแต่ละพื้นที่ รัฐควรมีการปิดเฉพาะพื้นที่ที่เป็นคลัสเตอร์เท่านั้น
2. การยกระดับการเตรียมพร้อมของระบบสาธารณสุข
2.1 เร่งกระจายวัคซีน ทั้งในส่วนที่ประชาชนได้จองไว้ผ่านโรงพยาบาลเอกชน และในส่วนที่รัฐบาลจัดหามา เพื่อให้วัคซีนกระจายถึงประชาชนให้มากที่สุด และเร็วที่สุด
2.2 เสริมชุดตรวจ ATK ที่มีคุณภาพสูง ในราคาที่ภาคเอกชนและประชาชนสามารถเข้าถึงได้ เนื่องจาก มีความจำเป็นต้องใช้เป็นจำนวนมากเพื่อการตรวจเชื้อโควิด-19
2.3 เตรียมยารักษาโควิด-19 ให้พร้อม เผื่อในกรณีที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อในวงกว้าง เพื่อเป็นการตัดตอนการแพร่ระบาดให้ได้ทันท่วงที
2.4 สำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยหนัก ให้มีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นทั่วประเทศ
3. อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐที่มีผลลัพธ์ที่ดี เช่น โครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน เป็นต้น รวมทั้งการเร่งเบิกงบประมาณทุกหน่วยงานของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเงินหมุนเวียนในระบบฯ
4. ช่วยภาคเอกชนและประชาชนลดค่าใช้จ่าย โดยช่วยลดค่าน้ำ ค่าไฟ ลดเงินสมทบประกันสังคม ภาษีป้าย รวมถึงดอกเบี้ยเงินกู้จากสถาบันการเงิน ดอกเบี้ยบัตรเครดิต ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ไม่มีการค้ำประกัน และพิจารณาลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการทั้งที่เกี่ยวข้องกับโควิดทางตรงและทางอ้อม
“สมาคมขอยืนยันให้การสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโอมิครอน และเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในสภาวะที่เปราะบางเช่นนี้ การร่วมมือกันจะเป็นพลังขับเคลื่อนหลักในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยอย่างมีประสิทธิผลและต่อเนื่อง เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
ผมเชื่อมั่นว่าทุกคนได้ร่วมกันผ่านจุดที่ยากที่สุดมาแล้ว และเป็นอีกครั้งที่ทุกภาคส่วน ต้องพร้อมใจร่วมฝ่าฟันความท้าทายครั้งนี้ ซึ่งจะนำบทเรียนการปรับตัวในอดีตมาปรับใช้ เพื่อเป็นทางออกที่ดีที่สุด ให้แก่ประเทศ แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดอีกกี่ครั้งก็ตาม”