‘ไทย’ เร่งปักหมุด มหาอำนาจของโลกด้านสมุนไพร

09 ม.ค. 2565 | 10:20 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2565 | 17:20 น.

อนาคต “สมุนไพรไทย” ขึ้นแท่นมหาอำนาจของโลก หลังพรบ.ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร หนุนการพัฒนาและสร้าง Signature ของประเทศพร้อมผลักดันซื้อขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรเสรี

ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดเผยในที่ประชุมวิชาการประจำปี การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติว่า ประเทศไทยรวยขุมทรัพย์ชีวภาพและสามารถสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพและเศรษฐกิจได้จากขุมทรัพย์ชีวภาพนี้ได้

 

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นศูนย์โรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งแรกที่มีการนำสมุนไพรและนำวิชาการทางเภสัชกรรมมาสกัดประกอบกับใช้องค์ความรู้ของหมอยามาผลิตยาสมุนไพรที่ล้อไปกับนโยบายส่งเสริมสุขภาพมูลฐานของรัฐบาล และนำมาใช้โรงพยาบาลสร้างการยอมรับในบุคลากรทางการแพทย์

ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร

อุปสรรคและความท้าทายที่สำคัญของการพัฒนาสมุนไพรไทยเชิงเศรษฐกิจคือ ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมียาสมุนไพรตัวใหม่ๆออกมา เพราะยาสมุนไพรแต่ละชนิดที่จะออกสู่ตลาดได้มีเส้นทางที่ยาวนานมากโดยเฉพาะการขึ้นทะเบียน

 

“ในปี 2562 มีการออกพรบ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งแยกสมุนไพรออกเป็นหลายระดับและให้มีการระบุสรรพคุณตามธรรมชาติที่สมุนไพรชนิดนั้นเป็น และเอื้อต่อการพัฒนาอย่างมากตั้งแต่ระดับชุมชน แพทย์แผนโบราณ แพทย์แผนไทย และแพทย์แผนจีนต่างๆ เราหวังว่าด้วยพระราชบัญญัติฉบับนี้จะทำให้เกิดการพัฒนา รวมทั้งใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าไปสนับสนุนเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วเพราะถ้าเราสามารถรู้รากเหง้าของภูมิปัญญาดั้งเดิมผนวกกับการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เชื่อว่าเราจะเป็น “มหาอำนาจ” ของโลกใบนี้ในเรื่องของสุขภาพผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้”

ฟ้าทะลายโจร

เฉพาะแค่ฟ้าทะลายโจรอย่างเดียวก็สามารถนำมาสร้างเป็น signature ของประเทศไทยได้ เพราะประเทศไทยมีปริมาณความเข้มข้นของแสงเพียงพอให้พืชสร้างสารสำคัญในปริมาณสูง รวมทั้งกัญชา กัญชงที่ปลูกในบ้านเราก็ยังสามารถสร้างสารคานาบินอยด์ปริมาณที่สูงได้

 

นี่เป็นตัวอย่างที่บ่งบอกว่าบ้านเรามีศักยภาพของสมุนไพรมากมาย ประกอบกับเราสามารถเคลื่อนย้ายเทคโนโลยีที่มีอยู่จากนานาประเทศเข้ามา แต่ต่างประเทศประเทศไม่สามารถเคลื่อนย้ายแผ่นดินของเราไปไว้ในประเทศของเขาได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราผนึกกำลังกันโอกาสของสมุนไพรในตลาดโลกจะมีความเข้มแข็งมากขึ้นแน่นอน

 

ขณะเดียวกันประชาชนเองมีความเข้าใจในสรรพคุณและวิธีการใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น ดังนั้นการซื้อยาสมุนไพรตามคำใบสั่งแพทย์เท่านั้นจึงไม่มีความจำเป็น เพราะในต่างประเทศสมุนไพรสมุนไพรที่มีโพสิทีฟ เคลมสามารถขายได้ทั่วไป นอกจากชาวต่างชาติยังให้ความเชื่อถือในผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยอย่างมาก

สมุนไพร

ด้านภก.วราวุธ เสริมสินสิริ ผู้อำนวยการกองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวเสริมเพิ่มเติมว่า Regulator เป็นปราการด่านสุดท้ายก่อนผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด เพราะฉะนั้นเป็นทั้งโอกาสวิกฤตและความท้าทาย ในส่วนของพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร 2562 ซึ่งอย.ได้กำหนดกฏเกณฑ์และกฏหมายลูกจำนวนมากนั้นนอกจากเรื่องของความปลอดภัยแล้ว อย. ยังมองไปถึงเรื่องของความยั่งยืนและการพึ่งพาตัวเองของประเทศชาติรวมไปถึงการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล รวมทั้งสอดคล้องกับ International standard

 

“เราไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้ประเทศเดียว เราต้องทำการค้ากับต่างประเทศ คุณภาพชีวิตของคนไทยก็ไม่ควรจะด้อยกว่าประเทศอื่น จึงต้องมีความร่วมมือกับนานาชาติในการออกหลักเกณฑ์โดยเฉพาะในวงของอาเซียน เพื่อเซ็ตอัพ หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนต่างเพื่อให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรแต่ละตัวสามารถขึ้นทะเบียนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ และเราไม่เชื่อว่า การอนุญาตให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรออกสู่ตลาดและวางขายทั่วไปและประชาชนเข้าถึงโดยไม่มีองค์ความรู้ ไม่มีคนแนะนำจะเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,747 วันที่ 9 - 12 มกราคม พ.ศ. 2565