ตามแนวทางเกษตรปลอดภัย พ.ศ. .... และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 เตรียมเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมผลักดันสมุนไพรให้เป็นพืชเศษฐกิจ สร้างรายได้ให้ประเทศ รวมทั้งสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ได้มีการประชุมและรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานขับเคลื่อนให้สมุนไพรไทยเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างความมั่งคั่ง สร้างรายได้ให้ประเทศ
โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีแก่เกษตรกร พร้อมอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ ให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ทั้งการขออนุมัติจดทะเบียนผลิตภัณฑ์ ขออนุญาตนำวัตถุดิบไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์
รวมถึงข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้มาตรฐาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เป็นการช่วยผลักดันให้สมุนไพรไทยก้าวไปสู่ตลาดโลกและเป็นที่ยอมรับระดับสากล
ทั้งนี้ มีความก้าวหน้าใน 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1.การจัดทำกฎหมายลำดับรอง ว่าด้วยการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 และอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จำนวน 40 ฉบับ
2.การประเมินมูลค่าต้นทุนการผลิตพืชสมุนไพร 8 ชนิด ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร กระชายดำ ไพล ขมิ้นชัน พริกไทย บุก ว่านหางจระเข้ กระเจี๊ยบแดง
3.แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการพลิกโฉมสมุนไพรไทยด้วยการวิจัยและนวัตกรรม
4.ติดตามการพัฒนาเมืองสมุนไพรในพื้นที่ 14 จังหวัด
5.การให้ใช้สิทธิเสียภาษีในอัตราศูนย์ สำหรับสุราสามทับที่นำไปใช้ในการอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร
ด้านนายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ เรื่อง มาตรการส่งเสริมการผลิตสมุนไพร เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตามแนวทางเกษตรปลอดภัย พ.ศ. ... และเห็นชอบเพิ่มยุทธศาสตร์ ภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 เป็น 5 ยุทธศาสตร์ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมสมุนไพรตลอดห่วงโซ่คุณค่าให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรให้มีคุณภาพและมาตรฐาน ตั้งเป้าผลิตวัตถุดิบ เข้าสู่ Supply Chain และเพิ่มมูลค่าและมาตรฐานวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ในปี 2570 มีพื้นที่ปลูกสมุนไพรได้มาตรฐาน ไม่น้อยกว่า 50,000 ไร่ และมีห้องปฏิบัติการตรวจคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพรผ่านการรับรอง ISO 17025 ไม่น้อยกว่า 8 แห่ง เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมสมุนไพรตลอดห่วงโซ่อุปทาน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้เป็น ASEAN Herbal Hub สร้างตราสัญลักษณ์คุณภาพ และส่งเสริมภาพลักษณ์สมุนไพรไทยควบคู่กับอาหาร เช่น ชูสรรพคุณสมุนไพรไทยควบคู่กับอาหารไทยตอกย้ำครัวไทยสู่ครัวโลก
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างเหมาะสม มีระบบรับรองกระบวนการผลิตสมุนไพร ขยายตลาดผลิตภัณฑ์ Herbal Champions
และยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาระบบนิเวศ นำไปสู่การพัฒนาสุมนไพรไทยให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ลงทุนการวิจัยและนวัตกรรม เพิ่มห้องปฏิบัติการ ติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยด้วยข้อมูล และพัฒนาสมุนไพรเชิงพื้นที่
ทั้งนี้ ได้มอบหมายฝ่ายเลขานุการเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป