"ประพัฒน์" โชว์ผลงานชิ้นโบแดง โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SMEฯ งบ 7.2 หมื่นล้านบาท หวังกรุยทางนั่งตำแหน่งประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ สมัยที่ 2 ชง "ประยุทธ์" เลือกตั้งสรรหาประหยัดงบ เลียนโมเดลกองทุนฟื้นฟู มั่นใจหากได้รับเลือก จะแก้ปัญหาให้เกษตรกรมีรายได้ยั่งยืน เผยอนาคตเกษตรกรไทยในอีก 3-5 ปียังคงลำบาก แนะต้องหาความรู้เพิ่ม
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าเรื่องการเลือกตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติทั่วประเทศซึ่งจะครบวาระในปี 2559 ล่าสุดทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า หากไม่เลือกตั้งจะมีแนวทางทำอย่างไร ให้เสนอเรื่องเข้าไปใหม่ เรื่องดังกล่าวทางสภาฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการทำหนังสือตอบกลับไปว่า มี 2 แนวทาง ได้แก่ 1. ต้องเป็นคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี ว่าให้ปฏิบัติงานต่อเนื่อง เพราะมีกฎหมายเปิดช่องไว้ แต่จะรักษาการนานไม่ได้ ท้ายสุดก็ต้องมีการเลือกตั้ง 2. เลือกตั้งแบบประหยัดงบ (ปกติใช้งบทั่วประเทศ 4 พันล้านบาท) จะใช้คณะกรรมการสรรหาระดับตำบล เลือกตัวแทนระดับตำบล ไล่ระดับขึ้นมาจนกลายเป็นตัวแทนระดับจังหวัด คล้ายโมเดลสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรให้การเลือกผู้แทนเข้ามาเป็นคณะกรรมการ(บอร์ด)ต่างๆ
"วันนี้พร้อมแล้ว ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะสั่งให้ดำเนินการอย่างไรพร้อมที่จะปฏิบัติตาม ที่สำคัญก็พร้อมที่จะกลับเข้ามานั่งในตำแหน่งประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นวาระที่ 2 จะมีแผนปฏิบัติการดำเนินการต่อเนื่องทันที ได้แก่ 1.แผนนโยบายระดับตำบลทั่วประเทศจะต้องออกมาทั้งหมด 2.การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และต้องเสนอนโยบายรัฐบาลเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยฟื้นตัวจากปัญหาต่างๆ ให้ได้ อาทิ ปัญหาหนี้สิน ปัญหาการถือครองที่ดินเกษตรกร เป็นต้น"
นายประพัฒน์ กล่าวยอมรับว่าบทบาทของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่เข้าไปนั่งในคณะกรรมการชุดต่างๆ ของรัฐบาลในการแก้ปัญหา อาทิ ราคายางพารา ข้าว และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น สามารถาแก้ปัญหาได้น้อยมาก แต่ระเบียบต่างๆ ของกองทุน และกระทรวง ไม่เอื้อกับการที่จะให้เกษตรกรเข้าถึงกองทุนได้ แต่ที่มีประโยชน์มากกับเกษตรกรก็คือ การเข้าไปนั่งเป็นกรรมการใน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เช่น ไปเสนอโครงการเรื่อง เรื่อง "โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย" งบประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาท นี่ถือว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่ช่วยเกษตรกรให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจึงทำให้เกษตรกรทั่วประเทศได้รับอานิสงส์จากโครงการครั้งนี้
"ส่วนอนาคตเกษตรกรไทยในอีก 3-5 ปี พิจารณาด้านภูมิศาสตร์โลก ด้านการเมือง และปัญหาต่างๆรอบตัว จะเห็นว่าเกษตรกรรายย่อยมีความน่าเป็นห่วง และยังคงมีชีวิตที่ลำบากอีกหลายปี หากรัฐบาลยังไม่นิ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายในการช่วยเหลือเกษตรกรจะไม่ต่อเนื่อง จะเห็นว่านโยบายรัฐบาล ที่ผ่านมา อาทิ การส่งเสริมสนับสนุนปลูกพืชใช้น้ำน้อย การจ้างงาน หรือการรวมแปลงใหญ่ เป็นเรื่องฉาบฉวยมาก"
ดังนั้นเกษตรกรต้องช่วยเหลือตัวเอง เช่น หาความรู้เพิ่มเติม หรือการไปดูงานที่ประสบความสำเร็จในการปลูกพืชนั้นๆ เพื่อนำมาใช้และปฏิบัติ ดังนั้นเกษตรกรต้องการความช่วยเหลือแนวทางต่างๆ นี้ให้ประสานสภาเกษตรกรฯในจังหวัดนั้นได้ทันที โดยทางสภาเกษตรกรฯจะสามารถนำวิทยากรที่มีความรู้ไปเสริมให้พื้นที่ไม่ต้องวิ่งเข้ามาหาส่วนกลาง จะทำให้การแก้ปัญหาตรงจุดมากขึ้น
ปัจจุบันสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้น 15 คณะ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ได้แก่ 1.คณะกรรมการกิจการสภาเกษตรกรแห่งชาติ 2.คณะกรรมการด้านยุทธศาสตร์และการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเกษตรกรรมและงบประมาณ 3.คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันทางการเกษตร สิทธิเกษตร 4. คณะกรรมการด้านการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 5.คณะกรมการพัฒนาเกษตรกร องค์กรเกษตรและเครือข่าย 6.คณะกรรมการด้านข้าว 7.คณะกรรมการด้านยางพารา 8.คณะกรรมการด้านพืชไร่ 9.คณะกรรมการด้านพืชสวน 10.คณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน 11.คณะกรรมการด้านปศุสัตว์ 12.คณะกรรมการด้านประมง 13.คณะกรรมการด้านการเกษตรกรรมอื่นๆ 14. คณะกรรมการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาแหล่งน้ำ และ 15.คณะกรรมการด้านกิจการการเกษตรระหว่างประเทศ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,155 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559