ก่อนเกิดโควิด-19 “เวลเนส ทัวริสซึ่ม” เป็นที่จับจ้องอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดโควิดขึ้นมา ก็เป็นตัวกระตุ้นให้กระแสรักสุขภาพมาเร็วขึ้น หลายธุรกิจจึงหันมาจับธุรกิจด้านสุขภาพมากขึ้น ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจด้านสุขภาพทั่วโลก มีอัตราการเติบโตขึ้นมากเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ย GDP ทุกปี โดยมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ราว 4 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ
สาเหตุที่คนต้องการดูแลสุขภาพมากขึ้น หลักๆ เกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.คนเป็นโรคอ้วนมากขึ้น และโรคอ้วนเป็นอันตรายต่อชีวิตพอมีโควิด 2.ปัจจุบันคนเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง ปัญหาสุขภาพจิต ความดัน และเมื่อต้องเจอโควิด คนก็เริ่มใส่ใจดูแลสุขภาพขึ้นกว่าเดิม 3.การเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งค่าเฉลี่ยทั่วโลกคนที่อายุเกิน 60 ปี ปัจจุบันมีราว 13.5% และในปี 2573 จะอยู่ที่ 16% เฉพาะในไทยปีนี้อยู่ที่ 20% หรือราว 13 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก และในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือปี 2557 ไทยจะมีผู้สูงวัย 28% และจะทำให้เราเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัวในอีก 10 ปีข้างหน้า
เทรนด์การท่องเที่ยวในกลุ่มซิลเวอร์ เอจ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป จึงเป็นกลุ่มที่สร้างโอกาสให้การท่องเที่ยว เพราะมีเงิน มีเวลา และอยากหาความสุขใส่ตัวเอง โดยเฉพาะด้านเวลเนส เพื่อให้ตัวเองป่วยช้า แก่ช้า และเสียชีวิตแบบไม่ทรมาน ไม่อยากนั่งรถเข็น ไม่อยากนอนติดเตียง ไม่อยากเป็นภาระของลูกหลาน ไม่เหมือนในอดีตที่จะเก็บเงินให้ลูกหลานและไม่ใช้เอง
ทั้งนี้มูลค่าตลาดรวมธุรกิจสุขภาพทั่วโลกจึงมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2560 อยู่ที่ 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2562 มีมูลค่า 4.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยเติบโต 6.4 %ทุกปีติดต่อกันมา 10 ปี ขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกมี มูลค่าอยู่ที่ 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ พอผนวกเข้าด้วยกันมูลค่าของเวลเนส ทัวริสซึ่มจะอยู่ตรงกลางราว 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 ที่โควิดเข้ามาจากที่คิดว่าตัวเลขจะตกลงแต่ตัวเลขในปี2563 เวลเนส ทัวริสซึ่มกลับมีมูลค่าถึง 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าปี 2530 มูลค่าจะทะลุ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตสูงกว่า ทั้งอุตสาหกรรมเวลเนสโดยรวม 70% ต่อปี
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจด้านสุขภาพทั่วโลก ในปี 2562
การต่อยอดมาเป็นเรื่องของเวลเนส ทัวริสซึ่มเป็นโอกาสของไทย เพราะเป็นกลุ่มคนที่ไม่ป่วย เมื่อเขาเข้ามาเขาจะต้องออกไปกิน ออกไปเที่ยว ออกไปออกกำลังกาย ออกไปนวดไทย ไม่ได้นอนอยู่ในโรงพยาบาล นั่นคือสิ่งที่เป็นยูนิคอร์นที่จะช่วยบ้านไทย และความน่าสนใจของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพถ้าเป็นตลาดต่างชาติ จะใช้จ่ายมากกว่าปกติจะมีการใช้จ่ายมากกว่าปกติประมาณ 53% ค่าใช้จ่ายต่อหัวไม่ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อทริป ถ้าเป็นท่องเที่ยวกันในประเทศจะใช้จ่ายมากกว่าไปเที่ยวปกติ 178% ทั้งข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปี 2562 ไทยมีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอยู่ที่ 12.5 ล้านคนต่อปีสร้างรายได้ 409,200 ล้านบาทและเกิดการจ้างงาน 530,000 คน
ดังนั้นความสำเร็จของเวลเนส ทัวริสซึ่มจะอยู่ที่ 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1. Wellness lifestyle เราเห็นโอกาส เช่น ร้านอาหารจะต้องตอบได้ว่ากินแล้วดีอย่างไร หรือผู้ประกอบการร้านค้าถ้าจะจับกลุ่มซิลเวอร์ เอจ ก็ต้องเปลี่ยนเมนูเป็นตัวหนังสือใหญ่ มีรูปเยอะๆ ร้านอาหารที่อยู่สูงจะต้องมีลิฟท์ ห้องน้ำจะต้องมีกันลื่น ถ้าเป็นฟิตเนสก็ต้องเน้นออกกำลังกายที่เน้นความแข็งแรงไม่ใช่กล้ามใหญ่
2.ภาครัฐก็ต้องสนับสนุนในเชิงนโยบายเพราะเราเริ่มเห็นคนที่ต้องการมาใช้ชีวิตหลังเกษียณในประเทศไทยเพราะฉะนั้นเรื่องของวีซ่ายาวๆ ก็ต้องสะดวก
3.ฮอสพิทาลิตี้ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะคำนวณหมดว่าหลังจากตื่นนอนขึ้นมาเขาจะต้องไปไหนทำอะไร ซึ่งเป็นภาพใหญ่ที่จะใช้เป็นตัวกำหนดธีมหรือกรอบการให้บริการ
ทั้งไทยยังมีจุดขายเรื่องของ โยคะ แพทย์แผนไทย นวดไทย สมุนไพรไทยที่โด่งดังมากในยุคโควิดเช่นฟ้าทะลายโจร กระชายดำ กระชายขาว ก็จะเพิ่มมูลค่าขึ้นมาสูงมาก และในอนาคตตลาดที่มีทั้งกัญชา กระท่อม
ในยุคโควิดเราติดอันดับ 6 ของโลกในเรื่องของความปลอดภัยทางด้านสุขภาพก็คือการดูแลสุขภาพเมืองไทยมีโรงพยาบาลที่ได้รับรอง JCI ติดอันดับโลก นั่นคือสิ่งสำคัญว่าเมื่อเราต่อยอดมาเป็น medical tourism ต่างชาติมั่นใจอยู่แล้วว่าถ้าเจ็บป่วยอยู่เมืองไทยรอดเพราะหมอเก่ง เพราะฉะนั้นถ้าไปเที่ยวในเชิงสุขภาพจะมั่นใจขึ้น
ที่มา : งานสัมมนาโอกาสสำหรับท่องเที่ยวไทย ซึ่งจัดโดยสมาคมโรงแรมไทยและบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ในหัวข้อ “Thai New Unicorn : Wellness Tourism” โดยนายแพทย์ ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหารบริษัท บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก จำกัด และบริษัท บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท จำกัด
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,747 วันที่ 9 - 12 มกราคม พ.ศ. 2565