การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินและการท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่องเท่านั้น ล่าสุดการเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่“โอมิครอน”ก็เป็นตัวฉุดรั้งให้การท่องเที่ยวที่กำลังจะเริ่มเดินได้ หลังหลายประเทศเริ่มเปิดประเทศ ให้กลับมาอยู่ในภาวะกังวลใจอีกครั้งเมื่อหลายประเทศเริ่มออกมาตราการจำกัดการเดินทางอีกครั้ง เมื่อโอไมครอนมีการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว และยังทำให้ประสิทธิ
ภาพของวัคซีนที่มีอยู่ลดภูมิต้านทานลงอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้หลังจากองค์การอนามัยโลก (WTO) มีรายงานการค้นพบโควิดสายพันธ์ใหม่นี้ โดยจัดให้อยู่ในสถานการณ์ที่ “น่ากังวล” เมื่อวันที่26 พ.ย.ที่ผ่านมา และตามด้วยการประกาศเตือนว่า “โลกมีความเสี่ยงโอมิครอนสูงมาก” ณ วันที่ 3 ธ.ค.64 พบผู้ติดเชื้อกว่า 34 ประเทศแล้ว ได้แก่ แอฟริกาใต้,บอดสวานา,มาลาวี,เอสวาตินี,โมชัมบิก,ชิมบับเว,เลโซโท,นามิเบีย,กานา,อิตาลี, สหราชอาณาจักร,เดนมาร์ก,เยอรมนี,เบลเยียม,เนเธอร์แลนด์,สวิตเซอร์แลนด์,สเปน,โปรตุเกส,ตุรกี,ออสเตรีย,สวีเดน,สาธารณรัเช็ก,นอร์เวย์,ฝรั่งเศส,ฮ่องกง,ญี่ปุ่น,เกาหลีใต้,ซาอุดิอาระเบีย,อิสราเอล,สิงคโปร์,สหรัฐอาหรับเอเรตส์, ออสเตรเลีย,
สหรัฐอเมริกาและแคนาดา
คุมเข้มเข้าประเทศสกัดโอมิครอน
การเกิดขึ้นของโอไมครอน ตอกย้ำให้การท่องเที่ยวทั่วโลกยังคงจมปลักกับอนาคตความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น เพราะวันนี้หลายประเทศเริ่มออกมาตรการควบคุมการเข้าประเทศที่เข้มข้นขึ้นเริ่มจากที่หลายประเทศห้ามการเดินทางจาก 8 ประเทศจากแอฟริกาเข้าประเทศ บางประเทศอย่างญี่ปุ่น ก็ห้ามการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นเวลา 1 เดือน อิสราเอล ห้ามการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นเวลา 14 วัน
ในส่วนของประเทศไทยแม้จะนายกรัฐมนตรีจะยืนยันว่ายังไม่ถึงขั้นในยาแรงอย่างการปิดประเทศ แต่ก็มีการใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในการคัดกรองการเดินทางเข้าประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามการเดินทางของต่างชาติใน 8 ประเทศจากแอฟริกาตอนใต้ การเร่งติดตามนักท่องเที่ยวจาก 8 ประเทศกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางเข้าไทยมาแล้วก่อนหน้านี้ 252 คนเพื่อมากักตัว 14 วันและตรวจหาเชื้อ รวมถึงการยกเลิกแผนการตรวจนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางทางเข้าไทยในแบบ Test&Go จากการตรวจหาเชื้อครั้งแรกที่เดินทางเข้าไทยด้วย ATK ที่เดิมจะเริ่มในวันที่ 16 ธ.ค.นี้มาเป็นการตรวจแบบ RT-PCR เหมือนเดิม
5 ประเทศที่สูญเสียรายได้มากสุด
สำหรับภาพรวมการท่องเที่ยวทั่วโลกในปีนี้องค์การการท่องเที่ยวโลก คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกจะสูญรายได้ในปีนี้ ราว 2 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ พร้อมระบุว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างล่าช้าและเปราะบาง
ขณะที่สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (WTTC) และ The World Bank ประเมินว่า ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยประเมินว่า 5 ประเทศที่สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุดของโลกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศในช่วงประมาณ 10 เดือนที่ผ่านมาชะงักงัน (หากนับจากการเริ่มมีระบาดไปหลายประเทศในช่วงมีนาคม 2563) ได้แก่
1.สหรัฐอเมริกา คาดว่าต้องเผชิญกับการสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวครั้งใหญ่ที่สุด เม็ดเงินหายไปราว 147.245 พันล้านดอลลาร์ในช่วงแรก 10 เดือนของปี 2563
2. สเปนมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือน้อยกว่า 20 ล้านคนในปี 2563 และสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุดของประเทศในทวีปยุโรปที่ 46,707 ล้านดอลลาร์
3.ฝรั่งเศสประเทศที่มีผู้มาเยือนมากที่สุดในโลกกว่า 89 ล้านคนในแต่ละปี แต่วิกฤติโควิดทำให้ฝรั่งเศสมีนักท่องเที่ยวลดลงไปมาก ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวสูญเสียไป 42.036 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 10 เดือนแรก
4. ประเทศไทย ในปี 2562 ไทยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนถึงเกือบ 40 ล้านคน แม้มีข่าวว่าประเทศไทยกลับมาเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้งเมื่อปลายปีก่อนภายใต้ข้อกำหนดที่เข้มงวด แต่ในภาพรวมของปี 2563 รายได้จากการท่องเที่ยวก็หายไปถึง 37.504 พันล้านดอลลาร์ และนับเป็นประเทศอันดับหนึ่งของเอเชียที่สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุด
5.ประเทศเยอรมนีสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวไป 34.641 พันล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา แม้มีการยกเลิกข้อจำกัดในการเดินทางจากประเทศใกล้เคียงในช่วงกลางปี แต่ก็ยังปิดตลาดสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรทำให้การฟื้นฟูรายได้จากการท่องเที่ยวยังไม่กำระเตื้องขึ้น
จากสถานการณ์เช่นนี้ท่องเที่ยวในปี 65 ก็ยังคงเป็นปีที่ยังเหนื่อยอยู่ การหันมาพึ่งตลาดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศจึงยังเป็นตลาดความหวังเดียวอยู่นั่นเอง
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,738 วันที่ 9 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2564