ไม่ใช่เรื่อง "ไกลตัว" มากขึ้น สำหรับปัญหา"ภาวะโลกร้อน" ที่ประเทศทั่วโลก ต่างกำลังตื่นตัว ให้ความสำคัญสูงสุด ต่อการลดปริมาณ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก สานต่อ ข้อตกลง Glasgow Climate Pact ของที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้
โดยแต่ละชาติ ประกาศสนับสนุนเป้าหมาย ในการควบคุมอุณหภูมิโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งหลังจากนี้ จะเดินหน้านโยบายเข้ม มู่งสู่ " พลังงานสะอาด " และปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2608-2613
ขณะในภาคธุรกิจและประชาชนนั้น เริ่มมีการหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในอุตสาหกรรม และบ้านที่อยู่อาศัยกันมากขึ้น ซึ่งจากการดิสรัปชั่นทั่วโลกข้างต้นได้ กลายเป็นโอกาสอย่างมหาศาล สำหรับยักษ์ใหญ่ อย่าง บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower ซึ่งเป็นหนึ่งผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค
"ฐานเศรษฐกิจ" เจาะสัมภาษณ์ ผ่ามุมมองผู้บริหารคนสำคัญ " ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ " กรรมการผู้จัดการ CKPower ผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีระดับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำที่สุดรายหนึ่ง ภายใต้เป้าหมายสำคัญและน่าจับตามอง เมื่อเป้าหมายและแผนงานขยายการเติบโตของธุรกิจ ถูกวางไว้ใหญ่ขึ้นอีกเท่าตัว ขณะโรดแมปธุรกิจ 5 ปีข้างหน้า จะเดินหน้าสู่การเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า จาก "พลังงานหมุนเวียน" เกือบทั้งหมด
ความต้องการ'พลังงาน'อาเซียนพุ่งเท่าตัว
นายธนวัฒน์ เปิดบทสนทนา ถึงโอกาสทางธุรกิจ ว่านอกเหนือไปจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยแล้ว การที่รัฐบาลและบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลกต่างเห็นพ้องต้องกันมากยิ่งขึ้น ถึงความจำเป็นเร่งด่วน เปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือเชิงนโยบาย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศนั้น จะทำให้ภายใน 20 ปีข้างหน้า ความต้องการพลังงานในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว โดยคาดว่าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะอยู่ที่ประมาณ 20% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด
สำหรับประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการนำเข้าไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานน้ำ จาก 9% เป็น 18% ภายในเวลาไม่เกิน 10 ปีนับจากนี้ ขณะที่ภายในปี 2573 ประเทศไทยตั้งเป้าให้ 30% ของรถยนต์ใหม่ เป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และภาคการขนส่งจะกลายเป็นผู้ใช้พลังงานรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน นำหน้าภาคอุตสาหกรรม
ลงทุนใหญ่ 3 ปี กำลังการผลิต 4,800 เมกะวัตต์
ภารกิจสำคัญ ในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ส่งผลในเชิงบวกต่อกลยุทธ์ธุรกิจระยะยาวของซีเค พาวเวอร์อย่างมาก โดย นายธนวัฒน์เล่าต่อว่า " ประสบการณ์ที่ยาวนานของบริษัท ในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน คาดจะทำให้บริษัทได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากเทรนด์การผลิตไฟฟ้าแห่งอนาคต และจะมีส่วนช่วยสนับสนุนเรื่องการลดคาร์บอนของประเทศไทย เพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยเช่นกัน"
ซึ่งแผนงานอย่างเป็นรูปธรรมระยะยาว สู่ "พลังงานหมุนเวียน" มาจากการประกาศว่า บริษัทเตรียมขยายขนาดธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นมากกว่าเท่าตัว ภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าขึ้นอีกประมาณ 2,800 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ทั้งระบบมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 4,800 เมกะวัตต์ ในปี 2567
โมเดล "พลังงานหมุนเวียน"ทั้งหมด
นายธนวัฒน์ ระบุ กำลังการผลิตไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นนับเท่าตัวนั้น จะมาจาก 3 การลงทุนใหม่ในต่างประเทศ ซึ่งการผลิตติดตั้งใหม่ทั้งหมดจะมาจากพลังงานหมุนเวียนแทบทั้งสิ้น ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานลม ส่งผลให้ภายในเวลา 5 ปีข้างหน้า ซีเค พาวเวอร์ จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ ขึ้นอีกกว่าสิบเท่าตัว หรือที่ 330 เมกะวัตต์ นอกจากนั้น ภายในระยะเวลาเดียวกัน ก็จะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมขึ้นอีกสองเท่า กลายเป็น 700 เมกะวัตต์ ซึ่งในที่สุดจะส่งผลให้ 95% ของไฟฟ้าที่บริษัทผลิตทั้งหมด มาจากการใช้พลังงานหมุนเวียน
" ตามแผนการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเรา เราตั้งเป้าที่จะเข้าไปขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ในต่างประเทศผ่าน 3 การลงทุนใหม่ ซึ่งทุกโครงการจะใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จะส่งผลให้ใน 5 ปี สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเกือบทั้งหมดของบริษัท จะมาจากพลังงานหมุนเวียน "
การเงินแข็งแกร่งหนุนการขยายธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจที่แสดงรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึง เป้าหมายใหญ่ "ควบคุมการปล่อยคาร์บอน" นำมาซึ่งต้นทุนการทำธุรกิจที่เพิ่มขึ้น แต่นั่นไม่ใช่ข้อจำกัดของ ซีเค พาวเวอร์ ซึ่ง 'นายธนวัฒน์' เผยว่า ปัจจุบันบริษัทมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงสำหรับการดำเนินธุรกิจในอนาคต โดยมีอัตราตราส่วนหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ที่ต่ำเพียง 0.67 เท่า ขณะเดียวกันก็มีงบดุลที่แข็งแกร่ง พร้อมกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาจำหน่ายกระแสไฟฟ้าระยะยาวที่ทำกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
"มีโอกาสใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างมหาศาลจากการดิสรัปชั่นทั่วโลก ที่มุ่งเป้าสู่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จุดยืนของเรา ในฐานะ หนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค จะเอื้ออำนวยให้เราได้รับประโยชน์จากเทรนด์การผลิตไฟฟ้าแห่งอนาคตอย่างเต็มที่ "
สำหรับรายได้รวม ณ สิ้น ไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 อยู่ที่ 2,509 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.7% และมีรายได้รวมงวด 9 เดือน สิ้นสุด30 กันยายน 2564 อยู่ที่ 6,905 ล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20.6% ขณะกำไรสุทธิงวด 9 เดือนปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 2,056 ล้านบาท จากกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 397 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ “CKP” เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอยู่ในดัชนี SET 100 ตลอดจนได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน (THSI) รวมถึงอยู่ในดัชนี SETCLMV ซึ่งเป็นดัชนีที่รวบรวมบริษัทจดทะเบียนของไทย ที่มีการทำธุรกิจในกลุ่มประเทศ CLMV และได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กรที่อันดับ “A” แนวโน้ม “คงที่” จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด