เตือนรับมือคาร์บอนวอร์ จี้ธุรกิจเร่งปรับตัวลด CO2 หวั่นค้า 2.5 ล้าน ล.สะดุด

01 ม.ค. 2565 | 21:30 น.

คาร์บอนวอร์ระอุรับปีเสือ อียู-สหรัฐฯหัวขบวนจัดระเบียบลดโลกร้อน นักวิชาการปลุกเอกชนไทยตื่นเร่งปรับตัว รับมือกีดกันการค้ายุคใหม่ เตือนระวังเข้าถึงแหล่งทุนยากวงการหวั่นค้าไทย-อียู ไทย-สหรัฐฯ 2.5 ล้านล้านสะดุด 200 โรงงานเหล็กลุยใช้พลังงานสะอาดรับมือ

เริ่มต้นศักราชใหม่ปี 2565 หรือปีเสือ เศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ และชีวิตคนไทยและทั่วโลกยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก อีกด้านหนึ่งมหันตภัยจากภาวะโลกร้อนเป็นอีกหนึ่งในประเด็นร้อนและเป็นวาระร่วมของโลกที่กำลังเร่งช่วยกันหาทางป้องกัน และแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม เพราะไม่เช่นนั้นแล้วในอนาคตมหันตภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ที่ทำให้โลกร้อนขึ้นจะกลับมาเล่นงานชาวโลกอย่างรุนแรงชนิดที่ไม่คาดฝันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

 

ทั้งนี้กฎกติกาลดโลกร้อนในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาที่ประเทศสกอตแลนด์ ได้กระตุ้นเตือนให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases : GHG) มากขึ้น โดยประเทศที่พัฒนาแล้วได้วางแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ.2050(2593) ส่วนไทยวางเป้าหมายไว้ในปีค.ศ.2065 (2608)

 

เตือนรับมือคาร์บอนวอร์ จี้ธุรกิจเร่งปรับตัวลด CO2  หวั่นค้า 2.5 ล้าน ล.สะดุด

 

คู่ค้าเริ่มแล้วเก็บภาษี

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพใหญ่ของโลกเกี่ยวกับการลดโลกร้อน จะนำไปสู่การออกมาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้า และอาจกลายเป็นเครื่องมือในการกีดกันการค้าได้ หากผู้ประกอบการภาคการผลิตและส่งออกของไทยไม่สามารถปฏิบัติได้ตามระเบียบกฎเกณฑ์ที่เขากำหนด

 

ที่ภาคเอกชนไทยต้องเร่งปรับตัวรองรับนับจากนี้คือ การเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ของประเทศคู่ค้า โดยเวลานี้การเก็บภาษีคาร์บอนที่มีสหภาพยุโรป (อียู) เป็นหัวหอก มีการบังคับใช้แล้วในประเทศสวีเดน ที่เก็บภาษีคาร์บอนสูงสุดของโลก 137 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2), ฝรั่งเศส 52 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันCO2 และคาดในเร็ว ๆ นี้จะมีอีกหลายประเทศสมาชิกจะมีผลบังคับใช้ตามมา ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์เก็บ 101 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันCO2, ญี่ปุ่น 3 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน CO2 (เก็บจากพลังงานฟอสซิลทั้งหมด) สิงคโปร์เก็บ 4 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันCO2 (เก็บจากอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานฟอสซิล), แอฟริกาใต้ 9 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันCO2 (เก็บจากอุตสาหกรรม ขนส่ง อาคารที่ใช้พลังงานฟอสซิล) เป็นต้น

 

อัทธ์  พิศาลวานิช

 

 ขณะเดียวกันยุโรปมีเป้าหมายในปี ค.ศ.2030(2573)จะลดก๊าซเรือนกระจกลง 55% และเป็นศูนย์ในปี 2050 (2593) โดยเครื่องมือสำคัญคือการเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้านำเข้าจากมาตรการ CBAM (Cross Border Adjustment Mechanism) มีผลบังคับใช้ในปี 2566 นำร่อง 5 สินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกสูง ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม และจะบังคับใช้เต็มรูปแบบและขยายรายการสินค้าที่ครอบคลุมในปี 2569

 

สารพัดโมเดลดันกติกาโลกใหม่

นอกจากนี้ยังมีเรื่อง Carbon Footprint คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากการผลิตและบริการ โดยยุโรปให้ความสำคัญให้สินค้าติดฉลากคาร์บอน หรือฉลากโลกร้อนเพื่อเป็นการแสดงถึงการประเมินคาร์บอนและช่วยลดโลกร้อนมากขึ้น, BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและกำลังเป็นนโยบายหลักของประเทศทั่วโลก, ESG ( Environment-Social-Governance) เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลักคือสิ่งแวดล้อม สังคมและ การกำกับดูแล ซึ่งได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก เพราะการลงทุนอย่างยั่งยืนจะได้รับผลตอบแทนที่ดีทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร

 

“นอกจากข้างต้นแล้วจากนี้เราจะได้ยินคำศัพท์อีกหลายคำที่เกี่ยวกับการลดโลกร้อนและรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น Europe Green Deal(แผนปฏิรูปสีเขียวของยุโรป), Cap and Trade (การซื้อขายคาร์บอน)ใน ยุโรป, US Green New Deal (GND) หรือข้อตกลงสีเขียวของสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบกับสินค้าที่เราค้าขายหรือส่งออกไปยุโรปและสหรัฐฯต้องปรับตัว”

 

ทั้งนี้ผลที่จะเกิดกับผู้ประกอบการ อาทิ จะเข้าถึงแหล่งทุนยากขึ้น เพราะสถาบันการเงินจะนำมาเป็นเกณฑ์การพิจารณาการให้สินเชื่อในการนำไปปรับปรุง/เปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในการผลิต การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อาจลดลง การส่งออก และนักท่องเที่ยวจากยุโรปและสหรัฐฯ จะลดลงหากไทยไม่ปรับตัวให้เป็นไปตามกฎกติกาที่เขากำหนด

 

700 บริษัทติดฉลากรับมือ

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ในส่วนของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหัวขบวนหนึ่งในการลดโลกร้อน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนของสหรัฐฯลง 50-52% จากระดับการปล่อยในปี 2548 ภายในสิ้นปี 2573 และเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยสหรัฐฯมีทิศทางเดียวกันกับยุโรป คือการเก็บภาษีคาร์บอน และบังคับสินค้านำเข้าติดฉลากคาร์บอน(Carbon Footprint) ดังนั้นผู้ประกอบการของไทยต้องปรับตัวรับมือ

 

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

ข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เผยว่า ณ เดือนธันวาคม 2564 มีผู้ประกอบการไทยผ่านการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือฉลากลดโลกร้อนเพื่อรับมือกับกฎกติกาของประเทศคู่ค้าจาก อบก. แล้ว 702 บริษัท รวม 5,030 ผลิตภัณฑ์โดย 3 อันดับแรกอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม,อุตสาหกรรม ปิโตรเลียม ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และก่อสร้าง ขณะข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ระบุ ในปี 2563 การค้าไทย-อียู มีมูลค่ารวม 1.03 ล้านล้านบาท และการค้าไทย-สหรัฐฯมูลค่ารวม 1.53 ล้านล้านบาท รวม 2 ตลาด 2.56 ล้านล้านบาท หากไทยไม่เร่งปรับตัว การค้ากับ 2 ตลาดใหญ่นี้อาจสะดุดได้

 

200 รง.เหล็กเร่งปรับตัว

ด้านนายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า สินค้าเหล็กและเหล็กกล้าเป็น 1 ใน 5 สินค้านำร่องที่อียูจะเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนตามมาตรการ CBAM ในปี 2566 ซึ่งในระเบียบแม้จะเรียกเก็บภาษีจากผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อ แต่ในข้อเท็จจริงจะผลักภาระมาให้ผู้ส่งออก ดังนั้นผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กที่มีเกือบ 200 รายได้เร่งปรับตัวรับมาตรการ CBAM ของอียู โดยได้หารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมในการใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานทางเลือกในขบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าที่มาจากพลังงานฟอสซิล เช่น จากเชื้อเพลิงถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมันเตามากขึ้น เพราะส่วนหนึ่งไทยมีการส่งออกสินค้าเหล็กไปยุโรปด้วย

 

นาวา  จันทนสุรคน

 

“เราเดาว่าเมื่อยุโรปออกมาตรการ CBAM แล้ว สหรัฐฯก็คงออกมาตรการออกมาโต้ตอบกัน ไม่งั้นเขาก็จะเสียเปรียบเพราะเขาส่งสินค้าไปยุโรปต้องเสียภาษีคาร์บอน เรื่องนี้มองอีกมุมก็เป็นมาตรการกีดกันการค้าอย่างหนึ่งที่อ้างเรื่องสิ่งแวดล้อม”

 

นฤตม์  เทอดสถีรศักดิ์

 

บีโอไอชู BCG ดูดลงทุนนอก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า จากเทรนด์ทั่วโลกมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและบริษัทชั้นนำของโลกได้ยึดแนวทางESG(Environmental, Social and Corporate Governance) เป็นนโยบายหลักในการลงทุน ซึ่งการที่ประเทศไทยได้ตอกย้ำเป้าหมายที่ชัดเจนในการประชุมCOP26 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งแสดงศักยภาพด้าน BCG (Bio-Circular-Green Economy) และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อป้อนภาคธุรกิจ จะเป็นจุดขายใหม่ที่สำคัญที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศในปี 2565

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3745 วันที่ 2-5 มกราคม 2565