“ค่าเหยียบแผ่นดิน"เรื่องใหม่ในไทยแต่จัดเก็บแล้ว40ประเทศทั่วโลก เช็คเลย

31 ม.ค. 2565 | 09:20 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2565 | 16:42 น.

“ค่าเหยียบแผ่นดิน” คนละ 300 บาท อย่างเร็วที่สุดน่าจะเริ่มจัดเก็บ 1 เมษายนนี้ อาจเป็นเรื่องใหม่ในไทย แต่จริงๆแล้วปัจจุบันก็มีกว่า 40 ประเทศที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมในลักษณะนี้เช่นกัน เช็คที่นี่

การจัดเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” หรือ “ค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ”  คนละ 300 บาท อย่างเร็วที่สุดน่าจะเริ่มจัดเก็บ 1 เมษายนนี้ อาจเป็นเรื่องใหม่ในไทย แต่จริงๆแล้วการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว มีการหารือกันมาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว แต่กระบวนการในการดำเนินการเพิ่งจะมีรูปธรรม และปัจจุบันก็มีกว่า 40 ประเทศที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมในลักษณะนี้เช่นกัน

 

ปัจจุบันการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว  ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งชาติ และจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย และนำเสนอ ครม. ต่อไป ซึ่งการจัดเก็บค่าธรรมเนียมนี้อยู่ภายใต้ 3 เหตุผลหลัก ได้แก่

 

  • ลดภาระงบประมาณแผ่นดินในการดูแล เยียวนักท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งการจัดสรรงบเพื่อเยียวยานักท่องเที่ยวจากกรณีความไม่สงบทางการเมือง หรือการชุมนุมทางการเมือง การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเยียวนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวในการเดินทางมาไทย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการนำเงินไปช่วย อย่าง กรณีเกิดระเบิดที่พระพรหม เรือล่ม ที่ภูเก็ต
  • ช่วยลดภาระงบประมาณแผ่นดินในการรักษาพยาบาลและช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประสบอุบัติเหตุ  ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมีหนี้สูญจากการสงเคราะห์ค่ารักษาพยาบาลให้แก่ชาวต่างชาติ (กรณีสถานพยาบาลภาครัฐ)จากการเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ไม่เต็มจำนวน ทำให้เกิดความสูญเสียงบประมาณแผ่นดินเฉลี่ย 300-400 ล้านบาทต่อปี

 

  • ลดภาระงบประมาณในการดูแลแหล่งท่องเที่ยว แก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวและพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว

 

ส่วนอัตราการจัดเก็บคนละ 300 บาทต่อครั้งสำหรับการเดินทางเข้าประเทศไทย เป็นการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร และได้วิเคราะห์จากนักท่องเที่ยวและผู้เกี่ยวข้องแล้วว่าเหมาะสม เป็นอัตราที่แข่งขันได้ อยู่ในระดับเดียวกับประเทศอื่นๆ ซึ่ง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมในลักษณะนี้

 

“ค่าเหยียบแผ่นดิน\"เรื่องใหม่ในไทยแต่จัดเก็บแล้ว40ประเทศทั่วโลก เช็คเลย

ปัจจุบันมีการเรียกเก็บมากกว่า 40 เมือง/ประเทศ ทั่วโลก แต่จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อย่างญี่ปุ่น ก็จะเรียกว่า ซาโยนาระ แท็กซ์ ก็จัดเก็บในอัตราใกล้กับไทย โดยการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของแต่ละประเทศ ก็จะมีวัตถุประสงค์คล้ายกัน คือ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว

 

แต่ไทยเป็นประเทศแรกที่จะนำเงิน300 บาทที่ได้รับนำเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยประมาณ 50%  และซื้อประกันภัยสำหรับนักท่องเที่ยว 20% (ระยะเวลาความคุ้มครอง 45 วัน)  ส่วนเงินที่เหลือประมาณ 20-30% จะเป็นค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างบริษัทหรือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ

ทั้งนี้หากกระบวนการเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่กำหนด คาดว่าปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (เมษายน-กันยายน 2565) จะสามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน

 

ขณะที่ภาคเอกชนท่องเที่ยวบางกลุ่มก็อยากจะให้เลื่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมนี้ออกไปก่อน และยังเห็นว่ากลไกการบริหารจัดการกองทุนถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้เกิดความคล่องตัวในการใช้กองทุนด้วยเช่นกัน

 

สำหรับรูปแบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวของประเทศต่างๆปัจจุบันมีการจัดเก็บอยู่แล้วกว่า  40 ประเทศ อาทิ

 

  • ญี่ปุ่น  จัดเก็บ Sayonara Tax ตั้งแต่มกราคม 2562 อัตรา 9.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน หรือราว  1,000 เยน (ราว 290 บาท) เก็บรวมไว้กับค่าโดยสารเครื่องบินและค่าโดยสารทางเรือของผู้โดยสารต่างชาติทุกคนเมื่อทำการจองตั๋ว โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ

 

  • ภูฏาน จัดเก็บ Tourist Tax  อัตรา 200 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 250 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/คืน (ราว 8,300 บาท) ตั้งแต่เดือนมีนาคม – พฤษภาคม และกันยายน – พฤศจิกายน (ฤดูท่องเที่ยว) 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อวัน (ราว 6,640 บาท) ตั้งแต่เดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ และมิถุนายน – สิงหาคม (นอกฤดูท่องเที่ยว) ถือว่าภูฏานเป็นประเทศที่เรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดินแพงที่สุดในโลก

 

  • มาเลเซีย จัดเก็บ Tourist  Tax   อัตรา 2.45 ดอลลาร์สหรัฐ / คน

 

  • อินโดนีเซีย  (บาหลี)   จัดเก็บ   departure Tax/ local development Tax อัตรา 10 ดอลลาร์สหรัฐ/คน

 

  • นิวซีแลนด์ จัดเก็บ  Tourist Tax   อัตรา 23.94 ดอลลาร์สหรัฐ/คน

 

  • ฝรั่งเศส จัดเก็บ   Taxe de se’jour เฉลี่ย 5.71 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/คืน(หลายอัตรา ขึ้นอยู่กับสถานที่)

 

  • เยอรมัน  จัดเก็บ Culture Tax และ Bed Tax เฉลี่ย 5.71 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/คืน (หรือ 5%ของค่าโรงแรม)

 

  • สเปน จัดเก็บ Tourist Tax อัตรา 2.85 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/คืน(ไม่เกิน 7 คืนต่อคน)

 

  • สวิสเซอร์แลนด์   จัดเก็บ Tourist Tax  อัตรา 2.85 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/คืน (แตกต่างกันไปตามประเภทของที่พัก)    
     
  • กรีซ   จัดเก็บ Stayover Tax อัตรา 4.57 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/คืน

 

  • สหรัฐอเมริกา  จัดเก็บ  Occupancy Tax    16.25% ของค่าโรงแรมและที่พักแตกต่างกันตามรัฐ