นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า จากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผ่านรูปแบบ Test & Go (เทสต์ แอนด์ โก) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ผ่านมา ถือว่าเป็นการสร้างสมดุลทั้งด้านความปลอดภัยและการเดินหน้าเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจและความปลอดภัยจะต้องไปด้วยกัน ซึ่งส่วนนี้ขอชื่นชมรัฐบาลที่ดำเนินการทันที หลังสถานการณ์การระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ชะลอตัวลง โดยเราพร้อมเดินหน้าตามนโยบายอะเมซิ่ง นิว แชปเตอร์ (Amazing Thailand New Chapter)
แต่สิ่งที่ต้องการร้องขอจากรัฐบาลคือ ความมั่นคงทางนโยบาย เพื่อวางแผนระยะยาวทางธุรกิจ ทั้งการเงินการลงทุน และกำลังคน ซึ่งการประกาศเปิดประเทศแบบเปิดๆ ปิดๆ ทำให้ภาคเอกชนไม่สามารถวางแผนธุรกิจได้ โดยสทท. มั่นใจว่าปี 2565 จะเป็นปีทองที่พลิกฟื้นธุรกิจการท่องเที่ยวไทยให้กลับมาเดินหน้า และเป็นผู้นำของโลกได้อีกครั้ง เพียงแต่ยังต้องการการสนับสนุนจากรัฐบาลในการรีสตาร์ทธุรกิจท่องเที่ยว
โดยต้องการขอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 200 ล้านบาทให้สทท.นำมาจัดทำ “คลินิกท่องเที่ยว” เพื่อดูแลและใช้ซ่อมสร้างธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด รวมถึงเดินหน้าทำแพลตฟอร์มท่องเที่ยว เพื่อลดค่าใช้จ่าย เนื่องจากแพลตฟอร์มท่องเที่ยวจะเป็นตลาดที่รวมสินค้าและบริการในภาคท่องเที่ยวไว้ ซึ่งในฐานะที่เอกชนเป็นเจ้าของสินค้าและบริการ ก็ควรได้เป็นเจ้าภาพในการสร้างแพลตฟอร์มท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นให้ได้ ผ่านการของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะขณะนี้เรารู้แล้วว่าต้องทำอย่างไร เพียงแค่ขาดงบประมาณเท่านั้น
"เชื่อมั่นว่า Test & Go กลับมาใช้อีกครั้ง ทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยดีขึ้นแน่นอน แต่การกลับมาเติบโตของภาคท่องเที่ยว คงไม่ได้โตแบบตูมตาม แต่จะทยอยเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งตรงกับแนวทางของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทำให้การทำตลาดต่อจากนี้ จะต้องทำตลาดท่องเที่ยวไทย หรือไทยเที่ยวไทยคู่ขนาดกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเน้นย้ำว่า ความมั่นคงทางนโยบายสำคัญที่สุด ในการวางแผนเดินหน้าธุรกิจต่อไป"
รวมถึงอยากขอให้รัฐบาลสนับสนุนโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อรีสตาร์ทธุรกิจ อาทิ กระตุ้นการใช้บริการผ่านธุรกิจรถขนส่งทั่วประเทศ แบบจัดทัวร์ของรถขนส่ง จำนวน 5,000 คัน เป็นการเติมเม็ดเงินลงไปเพื่อรักษาการจ้างงาน รวมถึงร้านอาหารและสถานบันเทิง หากเป็นไปได้อยากให้รัฐบาลสนับสนุนชุดตรวจโควิดเอทีเค เพื่อลดต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการและสร้างความมั่นใจ
นายชำนาญ กล่าวต่อว่า การเปิดท่องเที่ยวในหลายประเทศทั่วโลก ถือว่าเป็นโอกาสมากกว่าความเสียหาย โดยขณะนี้ภาคเอกชนมองเรื่องการเดินหน้าเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศไทย ผ่านการใช้ภาคท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ แต่ต้องเตรียมพร้อมให้กับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สำคัญที่สุดคือ อยากให้รัฐบาลรับฟังภาคเอกชนด้วย ว่าต้องการอะไร และจะสามารถดูแลรักษาผู้ประกอบการเหล่านั้นได้อย่างไร เพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้
นอกจากนี้เรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมเข้าประเทศไทยจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ สทท.สนับสนุนแนวทางดังกล่าว แต่ถามว่าวัตถุประสงค์ในการใช้เงินที่ได้มาจะนำไปใช้อะไรบ้าง ซึ่งหากเป็นไปได้ภาคเอกชนอยากให้นำงบประมาณที่ส่วนนี้ เข้ามาช่วยเหลือเอกชนในภาคการท่องเที่ยวด้วย อาทิ การนำงบประมาณ 10% มาช่วยธุรกิจมัคคุเทศน์ และภาคเอกชนขอมีส่วนร่วมในการจัดการกองทุน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคการท่องเที่ยว
ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่ภาครัฐประกาศอนุญาตให้ผู้เดินทางจากต่างประเทศ สามารถกลับมาลงทะเบียนเดินทางเข้าประเทศไทย ในรูปแบบ Test & Go เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 อีกครั้ง พบว่ามีผู้ลงทะเบียนเข้ามาในวันเปิดระบบวันแรกทั้งสิ้นราว 60,000 คน (ณ เวลา24.00น.)สะท้อนให้เห็นว่ายังมีดีมานด์ที่ต้องการเดินทางเข้ามาประเทศไทย
แต่อย่างไรก็ตามต้องรอให้ระยะเวลาพิสูจน์ว่ามีผู้เดินทางเข้าประเทศจริงเป็นจำนวนเท่าใด เนื่องจากผู้ที่ลงทะเบียน จะได้รับการอนุญาตภายในเวลา 7 วัน และต้องเดินทางเข้าประเทศไทยหลังจากการอนุมัติ Thailand Pass ภายในเวลา 60 วัน
ทั้งนี้จากสถิติที่ผ่านมา พบว่า ผู้ที่ลงทะเบียน Thailand Pass ได้สำเร็จ แต่จะมีการเดินทางเข้าประเทศจริงอยู่ที่ 20-30% ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากทวีปยุโรป เช่น ประเทศรัสเซีย เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ส่วนนักท่องเที่ยวจากประเทศในทวีปเอเชีย ยังมีความกังวลใจในการเดินทางเข้าประเทศไทยอยู่ เพราะนักท่องเที่ยวเหล่านี้เมื่อเดินทางกลับประเทศ ยังต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัว