จากกรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เผยแพร่ประกาศประกาศเชิญชวนขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ในระบบเอฟเอ็ม สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการบริการทางธุรกิจ โดยผ่านระบบการยื่นคำขอรับอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ระบบ e-BCS) ที่ http://bcsservices.nbtc.go.th/eservices ในระหว่างวันที่ 17 -25 ม.ค. ที่ผ่านมานั้น
ล่าสุดแหล่งข่าวจาก กสทช. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากปิดแบบยื่นคำขอไปแล้ว ปรากฏว่ามี เอกชนจำนวน 31 รายได้ยื่นแบบคำขอเพื่อเข้าร่วมประมูลคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม และ เอเอ็ม จำนวน 31 ราย หนึ่งในนั้นมี อสมท.ลูกทุ่งเน็ตเวิรค์ และ จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ นอกจากนั้นเป็นรายเล็กๆ ในต่างจังหวัด ได้ยื่นแบบคำขอ โดยในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 กสทช.จะเปิดให้เอกชนยื่นซองราคา พร้อมทั้งวางหลักประกัน 10% ของราคาขั้นต่ำในแต่ละคลื่น สำหรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ในระบบเอฟเอ็ม (FM) สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการบริการทางธุรกิจ ที่นำมาเปิดประมูลทั้ง 74 คลื่นความถี่ในครั้งนี้ จะมีอายุใบอนุญาต 7 ปี โดยให้นับอายุใบอนุญาตตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.2565 เป็นต้นไป
สำหรับคลื่นความถี่จำนวน 74 คลื่นความถี่ เป็นคลื่นความถี่ของ อสมท. จำนวน 60 คลื่นความถี่ กรมประชาสัมพันธ์จำนวน 9 คลื่นความถี่ และ กสทช. จำนวน 5 คลื่นความถี่
โดยคลื่นความถี่ที่นำออกมาประมูล แบ่งเป็นดังนี้กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 9 คลื่นความถี่ เช่น คลื่นความถี่ 106.50 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 54.83 ล้านบาท, คลื่นความถี่ 95.00 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 50.09 ล้านบาท ,คลื่นความถี่ 96.50 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 49.95 ล้านบาท, คลื่นความถี่ 97.50 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 49.87 ล้านบาท, คลื่นความถี่ 99.00 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 49.65 ล้านบาท และคลื่นความถี่ 100.50 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 49.63 ล้านบาท เป็นต้น
ภาคกลาง จำนวน 6 คลื่นความถี่ เช่น พื้นที่ จ.ระยอง คลื่นความถี่ 96.75 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 3.19 ล้านบาท ,พื้นที่ จ.ชลบุรี คลื่นความถี่ 107.75 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 2.64 ล้านบาท, พื้นที่ จ.จันทบุรี คลื่นความถี่ 95.25 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 105,000 บาท ,พื้นที่ จ.ตราด คลื่นความถี่ 107.25 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 105,000 บาท และพื้นที่ จ.กาญจนบุรี คลื่นความถี่ 107.25 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 105,000 บาท เป็นต้น
ภาคเหนือ จำนวน 16 คลื่นความถี่ เช่น พื้นที่ จ.เชียงใหม่ คลื่นความถี่ 100.75 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 2.28 ล้านบาท, พื้นที่ จ.ลำปาง คลื่นความถี่ 99.00 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 105,000 บาท, พื้นที่ จ.แพร่ คลื่นความถี่ 93.00 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 105,000 บาท, พื้นที่ จ.ตาก คลื่นความถี่ 97.25 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 105,000 บาท และพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน คลื่นความถี่ 102.00 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 105,000 บาท เป็นต้น
ด้านนายสมโรจน์ วสุพงศ์โสธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเข้าร่วมประมูลคลื่นวิทยุ ความถี่ 106.50 MHz ซึ่งปัจจุบันเป็นของกรีนเวฟ ตามข้อกำหนดของกสทช. เพราะมองว่า คลื่นกรีนเวฟมีแบรนดิ้งที่แข็งแรง มีฐานลูกค้าจำนวนมาก และยืนหยัดอยู่ในวงการสื่อวิทยุมาถึง 30 ปี เป็นคลื่นวิทยุที่มีศักยภาพจึงเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ แม้ที่ผ่านมาสื่อวิทยุเป็นสื่อหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19 ทำให้การเติบโตลดลงอย่างเห็นได้ชัด
“การประมูลครั้งนี้เชื่อว่ากรีนเวฟจะชนะการประมูล ซึ่งเบื้องต้นจะต้องใช้จ่ายเงินขั้นต้น 54.83 ล้านบาท จะได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เป็นระยะเวลา 7 ปี และยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการเช่าเสาส่งและที่ตั้งเสาอากาศอีก อย่างไรก็ดีมองว่า ทิศทางของสื่อวิทยุยังคงเติบโตได้ จากการที่ผู้ฟังหันไปฟังผ่านดีไวท์อื่น เช่น สมาร์ทโฟน, คอมพิวเตอร์ เป็นต้น รวมถึงการต่อยอดคอนเทนต์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ทีวี ซีรีส์ ฯลฯ”
ขณะที่ก่อนหน้านี้ รศ.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อสมท เตรียมความพร้อมในการร่วมประมูลคลื่นวิทยุ ตามที่สำนักงานกสทช.ประกาศ เพราะบริษัทมุ่งสร้าง Community ผู้ฟังผ่าน New Platform Online: The Trusted มุ่งเน้น Content ที่ชัดเจน ตรงประเด็น มีสาระ ขยายรูปแบบการให้บริการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังการประมูลคลื่นวิทยุ คาดว่าในปีนี้รายได้จากธุรกิจวิทยุจะมีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เริ่มมีการปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมจาก On ground ไปสู่ Online ทำให้สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมในรูปแบบใหม่ๆได้หลากหลายและควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ดี
“อสมท เรามีคลื่นวิทยุที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง กินสัดส่วนรายได้ 26% สำหรับการประมูลคลื่นวิทยุเรามีแผนที่จะเข้าไปประมูลอยู่แล้ว แต่ทุกอย่างที่เราลงทุนเราต้องมีการประเมินได้ว่ามีความคุ้มค่าในสิ่งที่เข้าไปลงทุนอยู่แล้ว ซึ่งวิทยุเป็นธุรกิจเดิมจึงค่อนข้างชัดเจนว่าลงทุนเท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นมันก็เป็น financial ธรรมดาที่เราจะนำเสนอให้กับบอร์ดตัดสินใจว่าราคาเท่านี้คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่
ทั้งนี้เราวางแผนการประมูลคลื่นวิทยุไว้หลายๆแผน เท่าที่ทราบกันก็คือปัจจุบัน อสมท มีคลื่นวิทยุบริหารจัดการรวม 60 สถานี แบ่งเป็น ในต่างจังหวัด 53 สถานี และในกรุงเทพฯ อีก 6 สถานี และคลื่นที่คืนให้กับอสทช. คือ 105.5 เบื้องต้นเรามีหลายซีเนริโอในการเข้าไปประมูลแต่คงยังบอกไม่ได้ แต่สุดท้ายแล้วเราก็คงทำหลายซีเนริโอเพื่อให้มองเห็นภาพชัดขึ้น”