วันที่ 18 มกราคม 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบในหลักการให้บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)(บมจ.อสมท) ขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการกระจายเสียงประเภทกิจการทางธุรกิจ โดยวิธีการประมูล โดยอสมท จะสิ้นสุดการใช้คลื่นความถี่ในวันที่ 3 เมษายน 2565
ซึ่งบมจ.อสมท ถูกจัดอยู่ในประเภทกิจการธุรกิจที่ต้องขออนุญาตใช้คลื่นด้วยวิธีการประมูล ดังนั้น บมจ.อสมท จึงต้องคืนคลื่นความถี่ และเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่เพื่อขอใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงต่อไป
ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ได้ออกประกาศเชิญชวน เรื่อง การขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในระบบเอฟเอ็ม สำหรับการให้บริการกระจายเสียงประเภทกิจการทางธุรกิจ และได้ประกาศราคาประมูลตั้งต้นแล้วเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 โดยกสทช.จะเปิดยื่นคำขอรับใบอนุญาตในช่วงระหว่างวันที่ 17-25 มกราคม 2565 และจะจัดการประมูลในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565
อย่างไรก็ตามบมจ. อสมท ได้ประมาณการรายได้ เงินลงทุน ต้นทุนการผลิต และการดำเนินงานโดยวิเคราะห์จากแนวโน้มของตลาดและความต้องการของผู้ฟัง โดยมีทางเลือกในการประมูลดังนี้คือ ทางเลือกแรก ประมูลคลื่นความถี่วิทยุเพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงตามที่เคยถือครองทั้งหมด จำนวน 60 คลื่นความถี่
โดยพิจารณาจากการรักษาความเป็นหนึ่งในการเป็นผู้ให้บริการที่มีพื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และทางเลือกที่ 2 ประมูลคลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงบางส่วนจากที่เคยถือครอง โดยพิจารณาจากผลประกอบการที่ผ่านมา โอกาสในการทำธุรกิจในรอบระยะเวลาของใบอนุญาต ความเป็นไปได้ในการบริหารต้นทุน และความคุ้มค่าของการลงทุนเป็นหลัก
ขณะที่ปัจจัยที่ใช้กำหนดทางเลือกการประมูลคลื่นความถี่มาจากแผนยุทธศาสตร์องค์กร แนวโน้มตลาด พฤติกรรมการรับฟังของผู้บริโภค ความคุ้มค่าในการลงทุนของแต่ละทางเลือก และศักยภาพในการผลิตรายการวิทยุของบมจ.อสมท โดยราคาประมูลตั้งต้นจะเป็นไปตามที่ กสทช.กำหนด ส่วนราคาที่จะประมูลเพื่อให้ได้มาในแต่ละคลื่นความถี่นั้น ทางบมจ.อสมท จะพิจารณาถึงความเหมาะสมที่บมจ. อสมท จะจ่ายได้เมื่อเข้าสู่การประมูลจริง
โดยจะเป็นราคาที่ทำให้มีความคุ้มค่าในการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ตัวเลขคาดการณ์ทางการเงินจะมีการทบทวนและปรับปรุงให้เหมาะสมก่อนการเข้าร่วมประมูล
สำหรับบมจ. อสมท เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยปัจจุบันดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคผ่านระบบเอฟเอ็ม จำนวน 60 สถานี โดยให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศประมาณร้อยละ 92.4 และมีประชากรในเขตพื้นที่เป้าหมายที่ให้บริการ 93.8