โควิด-19 หนุนบัตรเทวดา“อีลิทการ์ด” กำไรครั้งแรกในรอบ19ปี

18 ก.พ. 2565 | 01:15 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.พ. 2565 | 08:35 น.

โควิด-19 หนุน“อีลิทการ์ด” กำไรครั้งแรกในรอบ19ปี โดยสามารถล้างขาดทุนสะสมได้สำเร็จ ตั้งเป้ายอดขายบัตรปี 2565 ทะลุ 4,400 บัตร เตรียมรีแบรนด์ใหม่ เพิ่มบริการสุดเอ็กคลูซีฟดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ

ไทยแลนด์ อีลิทการ์ด เป็นโครงการที่ก่อตั้งในยุคอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี2546 หรือยุคนั้นได้รับการขนานนามว่าบัตรเทวดา ซึ่งที่ผ่านมาประสบปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นสมาชิกบัตรได้โดยไม่มีวันหมดอายุ ทำให้บริษัทไทยแลนด์พริวิเลจ คาร์ด มีแต่ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี

 

ทำให้ที่ผ่านมาจึงต้องยกเลิกการขายบัตรแบบไม่มีวันหมดอายุมากำหนดวันหมดอายุของบัตรตามประเภทบัตรที่ซื้อ ซึ่งทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้ และแม้จะเกิดโควิด-19 แต่การขายบัตรอีลิทการ์ดก็ยังเติบโตและทำให้มีกำไรเป็นครั้งแรกในรอบ19ปีอีกด้วย

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี) ผู้ให้บริการบัตรอีลิทการ์ด เปิดเผยในงานเปิดตัวโครงการ Flexible Plus Program ว่า ในปีงบประมาณ 2564 อีลิทการ์ดทำกำไร 238 ล้านบาท สามารถล้างขาดทุนสะสมเป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ในปี 2546 

 

ยุทธศักดิ์ สุภสร

 

โดยจะโอนกำไรให้ ททท.ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ 134 ล้านบาท และเก็บเป็นทุนสำรอง 10% ของทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท หรือสำรองประมาณ 100 ล้านบาท ส่วนปี 2565 ททท.ตั้งเป้ากำไรประมาณ 200 ล้านบาท 

 

"ต้องยอมรับว่ากำไรที่เกิดขึ้นในปี 2564 ส่วนหนึ่งมาจากการขายบัตรสมาชิกได้ถึง 3,280 บัตร สะท้อนชาวต่างชาติต้องการมาใช้ชีวิตในไทยหลังโควิด-19 และอีกส่วนมาจากต้นทุนในการบริการต่ำ เนื่องจากในปีที่ผ่านมามีการเดินทางเข้าประเทศไทยน้อย เพราะอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับเราเปิดให้สมาชิกสมัครไปได้ก่อนอละจะเริ่มนับอายุบัตรสมาชิกเมื่อมีการเดินทางเข้าไทย"

ในปี 2565 ตั้งเป้าขายบัตรสมาชิกอีลิทการ์ดให้ได้ 4,400 บัตร โดยจะรุกขายบัตรที่มีราคาสูง 1-2 ล้านบาท ให้ได้มากขึ้นและทำการรีแบรนด์บัตรอีลิทการ์ด ให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของสมาชิกที่มีรายได้สูงให้มากขึ้น โดยอนาคตอาจมีการขายบัตรสมาชิกอีลิทการ์ดในราคา 5 ล้านบาท และต้องพยายามลดการขายบัตรสมาชิกที่ราคาถูกที่ขายอยู่ในราคา 600,000 บาท ที่ขณะนี้มียอดขายประมาณ 60% ของจำนวนสมาชิก

 

นอกจากนี้ หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ หลักการในการลงทุนภายใต้โครงการ Flexible Plus Program คาดว่าในปีนี้จะมีเงินลงทุนขั้นต่ำจากสมาชิก 500 ราย เข้ามาประเทศไทย 15,000 ล้านบาท โดยสมาชิกบัตรอีลิทการ์ดที่ลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในไทย หรือประมาณ 30 ล้านบาท จะได้สิทธิ์ในการขอใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย (Work Permit) ซึ่งมีระยะเวลาตามหน้าบัตรที่ซื้อ  

 

Flexible Plus Program

 

โดยเมื่อมีการลงทุนจะได้รับการเปลี่ยนประเภทวีซ่า จากวีซ่าประเภทอยู่ชั่วคราวเป็นพิเศษ (PE Visa) เป็นวีซ่าธุรกิจและการทำงาน (Non-B Visa) โดยผ่านการลงทุนในประเทศไทยภายใต้ 3 ประเภท คือ 1.การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 2.การลงทุนในบริษัท จำกัด และบริษัทจำกัดมหาชน 3.การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของโครงการส่วนใหญ่ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ ฮ่องกง รัสเซีย ฝรั่งเศส อเมริกา สิงคโปร์ เป็นต้น

 

เราตั้งเป้ายอดขายบัตรในโครงการ Flexible Plus Program ไว้ที่10,000ใบ โดยจากสถานการณ์แบบนี้ก็คาดว่าเริ่มต้นจะขายได้ราว500ใบภายในปีงบประมาณ2565 โดยกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการจะแบ่งออกเป็น2กลุ่ม คือ1.สมาชิกที่ถือบัตรอีลิทการ์ดอยู่แล้วเดิมที่มีอายุบัตรเหลือไม่น้อยกว่า5ปีถ้านำเงินมาลงทุนในไทย1ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ก็จะเข้าร่วมโครงการได้และ2.สมาชิกใหม่ ที่ต้องสมัครเป็นสมาชิกอีลิทการ์ดอายุบัตร10ปีก่อนและนำเงินมาลงทุนในไทย

 

นอกจากนี้อีลิทการ์ดมีแผนจะรีแบรนด์ใหม่ไม่เพียงจะประชาสัมพันธ์และโฆษณาเท่านั้น แต่จะเน้นเพิ่มเติมบริการใหม่ที่เน้นความเอ็กคลูซีฟให้แก่สมาชิกผู้ถือบัตรเพิ่มขึ้น อาทิ การประสานติดต่อเรื่องการลงทุน การมีเซอร์วิสที่พิเศษกว่าเดิม