งานนี้ "พ.ต.อ.ปองพล เอี่ยมวิจารณ์” อดีตรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้กำกับการกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนทางเทคโนโลยี ถึงขั้นลาออกมาตั้งบริษัท บล็อกเชนไพร โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท บล็อกเชนไพรมารี่ จำกัด ให้บริการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมบนบล็อกเชน
ช่วยในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทั่วโลก ภายใต้แพลตฟอร์ม “โซเชียล บูโร” (Social Bureau) ที่จะใช้กลไกเทคโนโลยีบล็อกเชน และเอไอ ในการระบุตัวตนผู้กระทำผิด และนำเสนอวิธีติดตามทรัพย์สินคืนให้แก่ผู้เสียหาย
“พ.ต.อ.ปองพล” เล่าว่า เขาเคยเป็นหนึ่งในเหยื่อ ผู้ถูกหลอกผ่านโลกไซเบอร์ ทำให้เริ่มคิดและออกแบบระบบแพลทฟอร์มนี้ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2559 และด้วยประสบการณ์การเป็นตำรวจทั้งตำรวจไทยและตำรวจสากล (International Criminal Police Organization : INTERPOL) มานานหลายปี ทำให้มองเห็นจุดอ่อนของการให้ความช่วยเหลือเหยื่อ กฎหมายของแต่ละประเทศมีข้อจำกัด และแตกต่าง
“ต่อให้เรารู้ว่า คนนี้หลอกเรา แต่เขาเป็นต่างชาติ เป็นคนอีกประเทศหนึ่ง คนชาตินั้นๆ ก็ไม่ยอมส่งคนทำผิดในชาติตัวเองไปให้ชาติอื่นลงโทษ ส่วนเงินที่โอนข้ามชาติแล้ว โอกาสกลับมา ก็เป็นศูนย์”
เมื่อมีโอกาสได้เรียนรู้หลักสูตรเอฟบีไอที่สหรัฐอเมริกา และจบหลักสูตรต่างๆ มาอีกกว่า 40 หลักสูตร โดยเฉพาะวิชาอาชญากรรมสำหรับคอมพิวเตอร์ และการวิเคราะห์อาชญากรรมอนาคต ทำให้รู้ว่า สิ่งที่จะรับมืออาชญกรรมเหล่านั้นได้ คือ “เทคโนโลยี” และวิธีการที่จะทำให้อาชญกรเหล่านั้นถูกลงโทษได้ เพื่อทำให้โลกอยู่รอด ก็ต้องเอาภาระนั้น มาให้สังคมช่วยกันแก้
เริ่มต้นฟังดูแล้วอาจเหมือนการผลักภาระให้สังคม แต่จริงๆ แล้ว มันคือกลไกการทำงาน ที่ให้สังคมช่วยกันตรวจสอบ...วิธีการทำงาน ของแพลตฟอร์มโซเชียลบูโร “Social Bureau” (https://socialbureau.io/) ก็คือ การเปิดรับรายงานข้อมูลอาชญากรรมจากผู้เป็นเหยื่อ หรือผู้เสียหายต่างๆ ที่จะมีทั้งรายละเอียดการถูกโกง พร้อมหลักฐาน หากข้อมูลที่รับแจ้ง ได้รับการตรวจสอบว่า เป็นข้อมูลจริง ผู้แจ้งก็จะได้รับโทเคน หรือ สกุลเงินดิจิทัลที่สร้างขึ้นมาบนเครือข่ายบล็อกเชน เป็นผลตอบแทน
ส่วนการตรวจสอบ ผู้ที่ตรวจสอบคือชุมชนทั่วโลก บรรดาแฮกเกอร์ ซึ่งทางแพลตฟอร์มจะมีรายได้ตอบแทนให้กับคนเหล่านี้เช่นกัน แฮกเกอร์เก่งๆ หรือคนที่มีข้อมูลมากๆ และเชื่อถือได้ สามารถทำรายได้มหาศาล เพราะผู้เสียหาย ย่อมต้องการความช่วยเหลือ และบางคนอาจมีเงินรางวัลให้สำหรับการตรวจสอบ และจัดการอาชญากร ซึ่งแพลทฟอร์มนี้ กำลังเร่งพัฒนาและคาดว่าจะเรียบร้อยประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์
แพลตฟอร์มนี้ จะมีกลไกในทำงานและตรวจสอบข้อเท็จจริงๆ ยิ่งมีผู้เข้ามาใช้มาก ก็จะยิ่งเพิ่มความแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเบื้องต้นมองว่า องค์กรเอกชนต่างๆ ที่ต้องการตรวจสอบหลักฐานส่วนบุคคล จะให้ความสนใจ เพราะค่าตรวจสอบหลักฐานต่อครั้งประมาณ 30 บาท หรือ 1 ดอลล่าร์สหรัฐฯ เท่านั้น
“ลักษณะของเอกชนที่เข้ามาใช้งาน จะมาเป็นแบบบราเทอร์เทรด หรือซื้อเหรียญเราในราคาถูก เช่น บริษัทที่เป็นโบรกเกอร์ เขาต้องตรวจสอบนักลงทุน ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจ เช่น ดิจิทัลแบงกิ้งในเซาท์อัฟริกา ที่มีฐานคนใช้กว่า 200 ล้านคน”
อดีตนายตำรวจ ผู้หันมาลงทุนในธุรกิจคริปโต (Cryptocurrency) ท่านนี้บอกว่า การเป็นอดีตข้าราชการแล้วหันมาทำธุรกิจ แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากสำหรับนายตำรวจที่ค่อนข้างคิดนอกกรอบอย่างเขา การบริหารธุรกิจนี้ให้สำเร็จ คือ
ขณะนี้ “พ.ต.อ.ปองพล” บอกว่า เขายังไม่ได้ทำการตลาดหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ นอกจาก ปากต่อปาก ซึ่งก็มีผู้ให้ความสนใจจำนวนมาก โดยเฉพาะในต่างประเทศ ขั้นตอนต่อไปของธุรกิจนี้ หลังจาการเดินหน้าแพลตฟอร์มและสร้างฐานผู้ใช้งานได้ในระดับหนึ่งแล้ว คือ การระดมทุน ซึ่งเขามีแผนที่จะเข้าไปดิวกับ Venture Capitalist เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้มากยิ่งขึ้น โดยเน้นการเลือกนักลงทุนที่มีวิสัยทัศน์ตรงกันเป็นหลัก
เป้าหมายตั้งแต่เริ่มต้นของ ผู้บริหารท่านนี้ ก็คือการอยากช่วยเหลือคนที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งเขายังมีโปรเจคอีกหลายอย่างที่อยากทำ อาทิ “ศาลชุมชน” เพื่อลดปัญหาการทำธุรกรรมข้ามประเทศ ที่ไม่แน่ใจว่า จะได้เงินคืนหรือไม่ได้เงินคืน รวมไปถึง การทำ “แบล็กลิสต์”คนที่ทำผิดจะติดแบล็กลิสต์ ซึ่งทำให้กลายเป็นคนไม่มีเครดิต และไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างคนปกติ แต่ถ้าจะแก้ คุณต้องทำความดี และพิสูจน์ได้จริงว่าคุณเปลี่ยนแปลงแล้ว ซึ่งก็จะมีกลไกการตรวจสอบเช่นกัน
“ธุรกิจของเรา อำนวยความสะดวก ทำให้คนทำธุรกรรมกันได้ โกงกันไมไ่ด้ และป้องกันภัยให้คนปลอดภัย คนที่ไม่ดีจะถูกลงโทษจากกลไกของสังคมโลก”
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,758 วันที่ 17 - 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565