“โทนี เฟอร์นันเดส”ผู้บริหารระดับสูงของ Capital A บริษัทแม่ของแอร์เอเชีย ประกาศแผนเปิดบริการแท็กซี่อากาศ ผ่านแอปพลิเเคชั่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี 2568
โดยแอร์เอเชีย (AirAsia) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ ‘Avolon’ ผู้ให้เช่าเครื่องบินรายใหญ่เบอร์ 2 ของโลก ซึ่งมีขนาดฝูงบินกว่า 800 ลำ (ณ เดือนธ.ค. 2564) เพื่อเช่าอากาศยานไฟฟ้า ‘eVTOL’ รุ่น VX4 จำนวนอย่างน้อย 100 คัน แต่ไม่มีการเปิดเผยมูลค่าการเช่าเครื่องบินล็อตนี้
“โทนี เฟอร์นันเดส” ผู้บริหารระดับสูงของ Capital A บริษัทแม่ของแอร์เอเชีย ระบุว่า เที่ยวบินดังกล่าวจะเริ่มเปิดให้บริการในภูมิภาคอาเซียน ภายในปี 2568 โดยหน่วยงานกำกับดูแลในมาเลเซียและสิงคโปร์ มีแนวโน้มที่จะอนุมัติการดำเนินงานได้เร็วกว่าในอินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์
ทั้งนี้บริการ air ridesharing จะสามารถจองได้ผ่านแอปฯ ของแอร์เอเชีย และจะมีการเสนอราคาที่เข้าถึงได้ เช่นเดียวกับที่สายการบินราคาประหยัดทำกับเที่ยวบินปกติ
“เราไม่ต้องการให้สิ่งนี้เป็นบริการที่พิเศษ เเต่เราต้องการให้ทุกคนสามารถใช้บริการนี้ได้”
สำหรับอากาศยานไฟฟ้า ‘eVTOL’ รุ่น VX4 รองรับผู้โดยสารได้ 4 คน (คนขับอีก 1 คน) ทำการบินได้ในระยะทางประมาณ 161 กิโลเมตร ด้วยความเร็วสูงสุดราว 322 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
Domhnal Slattery ซีอีโอของ Avolon เเละประธานของ Vertical Aerospace เปิดเผยว่าการทดสอบเที่ยวบิน VX4 ครั้งแรก จะเริ่มต้นขึ้นในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้Avolon สั่งซื้อเครื่องบิน VX4 จำนวน 500 ลำจาก Vertical Aerospace มาเมื่อปีที่แล้ว และหลังจากนั้นก็มีการจับมือกับพันธมิตรอย่าง AirAsia, Japan Airlines , Gol และ Grupo Comporte ของบราซิล
แอร์เอเชีย กำลังเดินหน้าขยายเข้าสู่ธุรกิจใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางธุรกิจเเละช่องทางรายได้ วางโพสิชันเป็น ‘ซูเปอร์แอป’ ที่ครอบคลุมทั้งบริการส่งอาหารและพัสดุ จองโรงแรม ค้าปลีก เรียกรถรับ-ส่งและอื่น ๆ โดยได้เปลี่ยนคู่เเข่งหลักจากบรรดาสายการบิน มาเป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในภูมิภาคอย่าง Grab , GoTo เเละ Sea Group
รออีกอย่างน้อย 3 ปีข้างหน้า คนไทยและเพื่อนบ้านอาเซียนอาจจะได้ใช้บริการเรียก “แท็กซี่อากาศ” ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางคล้ายกับบริการเรียกรถของ “แกร็บ” และ “อูเบอร์”นั่นเอง
หลายปีที่ผ่านมา แอร์เอเชียเดินหน้าขยายเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) บริการเรียกรถผ่านแอปฯ เช่นเดียวกับบริการส่งอาหารและพัสดุ ในความพยายามเพื่อก้าวสู่การเป็น “ซูเปอร์แอป” ที่จะแข่งขันกับบรรดายักษ์ใหญ่เทคโนโลยีของอาเซียนอย่าง “โกทู” ของอินโดนีเซีย และ “แกร็บ” และ “ซี” ของสิงคโปร์
ต้นเดือนก.พ. กลุ่มแอร์เอเชีย เบอร์ฮาด (มาเลเซีย) บริษัทโฮลดิ้งของสายการบินดังกล่าว ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “แคปปิตอล เอ” (Capital A) เพื่อสะท้อนถึงหน่วยธุรกิจที่มีความหลากหลายของบริษัท
“ตอนนี้เราเป็นมากกว่าแค่สายการบินแล้ว และมีผลิตภัณฑ์ และบริการมากกว่า 20 ประเภทบนซูเปอร์แอปของเรา ซึ่งมีให้เลือกมากมาย รวมไปถึงเที่ยวบิน โรงแรม อาหาร ค้าปลีก เดลิเวอรี เรียกรถรับ-ส่ง และอื่นๆ” เฟอร์นันเดส กล่าว
โดยแอร์เอเชียกำลังเบนเข็มสู่ธุรกิจดิจิทัลมากขึ้น ท่ามกลางภาวะขาดทุนสูงขึ้นจากข้อจำกัดด้านการเดินทางในยุคโควิด-19 ที่ฉุดตัวเลขการเดินทางของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าทั่วโลก และในช่วง 3 ปีหลัง แอร์เอเชียประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง ด้วยผลขาดทุนสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 5,900 ล้านริงกิตในปี 2563