วันนี้ กสทช. จัดการประมูลคลื่นความถี่ในระบบเอฟเอ็ม สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการทางธุรกิจ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป โดยการประมูลคลื่นวิทยุในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านระบบการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงไปสู่ระบบการอนุญาต โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล จำนวน 71 คลื่นความถี่
แบ่งเป็นความถี่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 8 คลื่นความถี่ ภาคเหนือ จำนวน 16 คลื่นความถี่ ภาคกลาง จำนวน 6 คลื่นความถี่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 21 คลื่นความถี่และภาคใต้ จำนวน 20 คลื่นความถี่
การประมูลจะแบ่งเป็น 4 รอบ รอบละ 60 นาที รอบแรกเริ่มประมูลเวลา 09.30-10.30 น. จำนวน 18 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 8 คลื่นความถี่ ภาคกลาง 6 คลื่นความถี่ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 คลื่นความถี่ รอบที่ 2 เริ่มประมูลเวลา 11.30-12.30 น. จำนวน 22 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นภาคเหนือ 10 คลื่นความถี่และภาคใต้ 12 คลื่นความถี่
รอบที่ 3 เริ่มประมูลเวลา 13.30-14.30 น. จำนวน 18 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 คลื่นความถี่และภาคเหนือ 6 คลื่นความถี่ และรอบที่ 4 เริ่มประมูลเวลา 15.30-16.30 น. จำนวน 13 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 คลื่นความถี่และภาคใต้ 8 คลื่นความถี่
หลังจากการประมูลเสร็จสิ้น จะมีการประชุม กสทช. เพื่อรับรองผลการประมูลและสำนักงาน กสทช. จะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เท่ากับราคาที่ชนะการประมูลรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 30 วัน หากไม่ชำระให้ครบถ้วนตามเวลาที่กำหนดจะถูกริบหลักประกันและห้ามเข้าร่วมการประมูล 2 ปี พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่ต้องจัดประมูลใหม่
สำหรับราคาเริ่มต้นการประมูลคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงในครั้งนี้ ได้มีการคำนวณโดยคำนึงถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ให้บริการในเขตกรุงเทพมหานครฯและปริมณฑล มีราคาเริ่มต้นการประมูลสูงสุดอยู่ที่ 54,8300,000 บาท ส่วนพื้นที่ให้บริการในเขตภูมิภาคราคาเริ่มต้นการประมูลต่ำสุดคือ 105,000 บาท โดยการเสนอราคาแต่ละคลื่นจะแปรผันไปตามมูลค่าคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง โดยการเสนอราคาต่อครั้งสูงสุด คือ 500,000 บาท และต่ำสุดคือ 4,000 บาท เบื้องต้นคาดว่าการประมูลครั้งนี้จะสร้างรายได้จากการประมูล ประมาณไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท โดยเงินรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่หลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูล จะนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป