จากกรณีที่วันนี้ 21 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้เปิดประมูลคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม จำนวน 71 คลื่นความถี่ ผู้ประกอบการจำนวน 30 บริษัทเข้าร่วมประมูล
โดยเปิดประมูลรอบแรกตั้งแต่เวลา 08.30 น. ใช้ระยะเวลาประมูล 60 นาที ปรากฏว่า รอบแรกมีการแข่งขันเข้มข้นมีจำนวน 4 สถานีเสนอราคาเท่ากันจึงได้ทำการต่อเวลาออกไป
ล่าสุด นายนที ศุกลรัตน์ คณะกรรมการ กสทช. เปิดเผยถึงการประมูลคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม ในรอบที่ 1 ประมูล 18 คลื่นความถี่ว่า โดยผู้เข้าประมูลรอบที่ 1 ประกอบด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล,ภาคกลาง และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยราคาตั้งต้นประมูลพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 54.83 ล้านบาท ปรากฏว่า คลื่นวิทยุ 106.5 เมกะเฮิรตซ์ เคาะราคาเพียงครั้งเดียว 500,000 บาท รวมทั้งสิ้น 55.33 ล้านบาท เนื่องจากไม่มีคู่แข่งขัน
ขณะที่พื้นที่ภาคกลาง คือ ชลบุรี ตราด ระยอง กาญจนบุรี และ สิงห์บุรี การแข่งขันรุนแรง ราคาเริ่มต้น 2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 19 ล้านบาท เนื่องจากสัญญาณครอบคลุมพื้นที่พัทยา ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดมหาสารคาม การแข่งขันสูง การประมูลในรอบแรก มีผู้ประมูลเสนอราคาเท่ากัน 4 คลื่นความถี่ คือ คลื่น 95.25 MHz จ.จันทบุรี คลื่น 107.25 MHz จ.ตราด คลื่น 107.25 MHz จ.กาญจนบุรี และคลื่น 105.50 MHz จ.มหาสารคาม ทำให้ต้องมีการนำล็อกไฟล์ หลังจากนั้นถึงได้ผู้ชนะ
สำหรับประมูลรอบแรกราคาตั้งต้นอยู่ที่ 390 ล้านบาท ราคาสุดท้ายจบที่ 443 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% ส่วนอีก 3 รอบ สถานีส่วนใหญ่อยู่ที่พื้นที่ต่างจังหวัดเป็นหลัก
“หลังจากผู้เสนอราคาสุดท้ายสูงสุด กสทช.จะนำเสนอบอร์ดพิจารณาในวันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อให้บอร์ด กสทช.รับรองผู้เสนอราคาสุดท้ายสูงสุด หลังจากนั้นออกใบอนุญาตให้ผู้ชนะประมูล โดยใบอนุญาตมีระยะเวลา 7 ปี” นายนที กล่าว
ด้าน รศ. เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บมจ.อสมท ได้ยื่นประมูล คลื่นความถี่วิทยุระบบเอฟเอ็มมากที่สุด รวมทั้งสิ้น 55 คลื่น แบ่งเป็นคลื่นความถี่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน 6 คลื่น และพื้นที่ภูมิภาค จำนวน 49 คลื่น โดยการยื่นประมูลแต่ละคลื่นความถี่พิจารณาจากหลายปัจจัยด้วยกัน อาทิ ความสามารถในการสร้างผลกำไร ความแข็งแกร่งของเครือข่ายในการครอบคลุมพื้นที่ (Network Coverage Area)
รศ. เกษมศานต์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับคลื่นวิทยุที่ บมจ.อสมท ไม่ได้เข้าประมูลในครั้งนี้ ไม่ได้มีผลกระทบ ต่อการดำเนินธุรกิจของ บมจ.อสมท อย่างมีนัยสำคัญ บมจ.อสมท ยังคงมีศักยภาพในการออกอากาศครอบคลุมพื้นที่ (Network Coverage Area) ทั่วประเทศที่ไม่แตกต่างจากเดิม โดยสามารถใช้การออกอากาศกระจายเสียงจากสถานีข้างเคียง ควบคู่ไปกับรูปแบบดิจิตอลแพลตฟอร์ม
รวมถึงการแสวงหาเครือข่ายและพันธมิตร ซึ่งต่อจากนี้จะมีการปรับโครงสร้างและรูปแบบการบริหารจัดการ (Refreshing Organization Structure & Management) การจัดผังรายการให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย (Refreshing Program) การจัดสรรช่วงเวลาออกอากาศ (Broadcasting Time Allocation) ระหว่างสถานีวิทยุแต่ละแห่งกับการออกอากาศของเครือข่ายคลื่นส่วนกลาง และ การผลักดันคู่ขนานระหว่างการออกอากาศในรูปแบบเดิมกับรูปแบบดิจิตอลแพลตฟอร์ม (Traditional & Digital Platforms) รวมถึงการจัดกิจกรรมเฉพาะกลุ่มผู้ฟังและแฟนคลับ (On Ground Events) โดยการดำเนินการเหล่านี้ จะให้ความสำคัญกับความสามารถในการเพิ่มรายได้ การควบคุมค่าใช้จ่าย และความรับผิดชอบต่อสังคมในบทบาทของการเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ
เอกชนที่เข้าร่วมประมูลมีดังนี้ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ยื่นประมูลคลื่นความถี่จำนวน 6 คลื่นความถี่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนภาคเหนือ จำนวน 14 คลื่นความถี่ ,ภาคกลาง จำนวน 6 คลื่นความถี่ , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 15 คลื่นความถี่ และ ภาคใต้ จำนวน 14 คลื่นความถี่ รวมทั้งสิ้น 55 คลื่นความถี่ ขณะที่ บริษัท ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 24 ชั่วโมง จำกัด ในเครือบมจ.อสมท ยื่นประมูลทั้งสิ้น 44 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร จำนวน 1 คลื่น คือ คลื่น 98.50 เมกะเฮริตซ์, ภาคกลาง จำนวน 6 คลื่นความถี่,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 15 คลื่นความถี่ และ ภาคใต้ จำนวน 10 คลื่นความถี่
อัพเดท: ประมูลวิทยุเอฟเอ็มรอบ 2 ราคาประมูลยังไม่เสร็จสิ้น นายนที ศุกลรัตน์ กรรมการกสทช. เปิดเผยว่า ประมูลคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม รอบ 2 เสร็จสิ้นไปเมื่อเวลา 15.50 น. กสทช.ต้องยืนยันราคา เพราะรอบที่ 2 ราคาเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูงราคารวม 22 สถานีเริ่มต้นอยู่ที่ 7.6 ล้านบาท ราคาอยู่ที่ 160 ล้านบาท ยกตัวอย่างเช่น ราคาคลื่นที่แข่งขันสูง ๆ คือ จังหวัด นครศรีธรรมราช คลื่นความถี่ 104.5 ราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 942,000 บาท เคาะครั้งละ 4000 บาท ปรากฏว่าราคาขยับไปอยู่ที่ 27 ล้านบาท ทำให้ราคาในรอบสองสูงประมาณ 20 เท่า ขณะที่รอบแรกราคาสุดท้ายอยู่ที่ 443 ล้านบาท รวมประมูลทั้งสองรอบ 603 ล้านบาท
สำหรับรอบที่สอง 5 อันดับ มีการแข่งขันสูงสุด คืน นครศรีธรรมราช สุราษฏร์ เชียงใหม่ เชียงราย สงขลา
ล่าสุด ห้างหุ้นส่วนแบ่งปันกรุ๊ป ซึ่งเข้าประมูลในรอบที่ 3 ยื่นประมูลคลื่น 93.50 เมกะเฮิรตซ์จังหวัดนครพนม ซึ่งเข้าประมูลเวลา 13.30-14.30 น. เคาะประมูลแต่ปรากฎว่าระบบประมวลไม่ทำงาน แต่คู่แข่งกลับปรากฎว่าระบบประมวลผลราคาแสดง หลังจากนี้จะปรึกษาทนายความว่าจะดำเนินการฟ้องร้องหรือไม่ และ ดูท่าทีของ กสทช.ชี้แจ้งก่อน