"อพท." ผนึกยูเนสโกดึงประเทศสมาชิกอาเซียนใช้ VMASTสู่ความยั่งยืน 4 ด้าน

26 ก.พ. 2565 | 03:47 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.พ. 2565 | 10:47 น.

อพท. ผนึกยูเนสโกดึงประเทศสมาชิกอาเซียนใช้ VMASTสู่ความยั่งยืน 4 ด้าน ทั้งการจัดการนักท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม และเศรษฐกิจ พร้อมเตรียมขยายผลไปสู่ระดับเอเชีย-แปซิฟิกต่อไป

นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. และประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับอาเซียน – การใช้เครื่องมือประเมินผลการบริหารจัดการขององค์การยูเนสโกในแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งมรดกโลกอาเซียน เปิดเผยว่า

 

อพท. ได้ดำเนินการร่วมกับองค์การยูเนสโก เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับอาเซียนผ่านระบบการประชุมทางไกล (Online Meeting) ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศสมาชิกอาเซียน 15 แหล่งมรดกโลก 

 

และผู้เข้าร่วมประชุมจากแหล่งมรดกโลกและแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป จำนวน 90 คน เพื่อสร้างการรับรู้ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และแนะนำวิธีการใช้งานเครื่องมือการประเมินผลการบริหารจัดการนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งมรดกโลก หรือ VMAST  (Visitor Management, Assessment and Strategy Tool) ในการจัดการแหล่งมรดกโลกของประเทศสมาชิกอาเซียน  

สำหรับ VMAST  คือเครื่องมือช่วยเหลือหน่วยงานและผู้มีส่วนรับผิดชอบแหล่งมรดกโลกและแหล่งท่องเที่ยวในการประเมินสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว และนำไปสู่การวางแผนการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อนำไปสู่เป้าหมายความยั่งยืน 4 ประการ ได้แก่

 

  • การกำกับดูแลและการจัดการนักท่องเที่ยว

 

  • ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม 

 

  • ความยั่งยืนด้านสังคมและวัฒนธรรม 

 

  • ความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ  

 

นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท.

 

สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการ ASEAN VMAST Workshop  นี้มีกำหนดจัดขึ้น 2 ช่วงเวลา คือช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นการจัดประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจ VMAST โดยให้ผู้เข้าร่วมประชุมนำเครื่องมือไปทดลองประเมิน  

 

จากนั้นในการประชุมครั้งที่ 2 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 มีนาคม 2565  ให้ทุกพื้นที่ที่นำเครื่องมือ VMAST ไปทดลองประเมินนั้น ได้นำผลการประเมินแหล่งท่องเที่ยวมานำเสนอ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน   

“การประชุมครั้งแรกที่ผ่านมา ในเบื้องต้นทุกประเทศสมาชิกอาเซียนให้การตอบรับที่ดี มีความสนใจในเครื่องมือดังกล่าว ซึ่ง อพท. และยูเนสโก ตั้งเป้าหมายว่าในอนาคตจะเตรียมขยายผลการใช้เครื่องมือนี้ให้ขยายวงกว้างไปสู่ระดับเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC เพื่อเป็นการยกระดับภาพลักษณ์และภารกิจของ อพท. ในเวทีระดับนานาชาติต่อไป”

 

นาวาอากาศเอกอธิคุณ กล่าวอีกว่า อพท. เป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทยที่นำเครื่องมือการประเมินและพัฒนากลยุทธ์การจัดการนักท่องเที่ยวฯ มาใช้ในการวิเคราะห์ศักยภาพด้าน Supply Side ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับแหล่งท่องเที่ยวทุกพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่มรดกโลก 

 

อีกทั้ง VMAST ยังเป็นเครื่องมือใหม่ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการวิเคราะห์และประเมินการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวว่ามีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร หรือบอกได้ว่าต้องเร่งดำเนินการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวด้านใดเป็นพิเศษ

 

เพื่อเป็นแนวทางกำหนดกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์การบริหารจัดการนักท่องเที่ยวในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ