วาโก้ เปลี่ยน “บราเก่า” เป็นงานศิลป์ The Art Of Waste

26 ก.พ. 2565 | 13:04 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.พ. 2565 | 20:26 น.

“วาโก้บราเดย์ บราเก่าเราขอ” สานต่อ กำจัดบราเก่าถูกวิธีและแปรรูปสร้างสรรค์ เปลี่ยนบราเก่าให้เป็นศิลป์ The Art Of Waste ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

“บรา” ไอเท็มสำคัญสำหรับผู้หญิง ที่วัสดุส่วนใหญ่ผลิตจากโพลีเมอร์ ส่งผลให้ “บรา 1 ตัว ใช้เวลาย่อยสลายกว่า 400 ปี” อีกทั้งการเผาในที่โล่งยังสร้างมลพิษและฝุ่น PM 2.5 บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) จึงผุดโครงการ “วาโก้บราเดย์ บราเก่าเราขอ” ก่อตั้งโครงการตั้งแต่ พ.ศ. 2555-2565 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 เพื่อรณรงค์ให้คนไทยทุกคนร่วมกันลดผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนและฝุ่นพิษ PM 2.5

 

โดยการแยกขยะหรือสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีแบบ Zero Waste (เปลี่ยนขยะให้เป็นศูนย์) และไม่ก่อให้เกิดขยะชุมชน โดยเปิดรับบริจาคบราเก่าเสื่อมสภาพทุกแบรนด์เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี โดยร่วมกับบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP นำบราที่ได้รับบริจาคไปแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานเชื้อเพลิง ทดแทนการใช้ถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้าในระบบปิดเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมของ TPIPP ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือพลังงานจากฟอสซิลต่างๆ ลดผลกระทบการเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือลดโลกร้อน (Global Warming)

นอกจากจะนำบราเก่าทุกแบรนด์ที่ได้รับบริจาคนำไปแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานเชื้อเพลิงแล้ว ยังได้นำมาอัพไซเคิล สรรค์สร้างเป็นงานแฟชั่นและงานศิลปะที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก จึงจัดแสดงนิทรรศการ The Art Of Waste เปลี่ยนบราเก่าให้เป็นศิลป์ เพื่อคนรักงานศิลป์และอินเรื่องเรื่องรักษ์โลก โดยร่วมกับ รศ.ดร. น้ำฝน ไล่สัตรูไกล นักออกแบบสิ่งทอยอดเยี่ยมแห่งปี 2560 ในการออกแบบงานศิลปะชื่อ Awaken Tree ต้นไม้ในดินแดนมหัศจรรย์ที่ถูกชุบชีวิตด้วยการนำบราเก่ากว่า 400 ตัว

 

รวมถึงเศษวัสดุเหลือใช้จากการผลิตชุดชั้นใน มาตัดเย็บและประกอบสร้างรูปทรงใหม่ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากต้นไม้ในดินแดนมหัศจรรย์ในภาพยนตร์เรื่อง Alice in Wonderland เศษขยะถูกชุบชีวิตใหม่ให้เป็น Awaken Tree ด้วยเทคนิค การเย็บ การเพนท์ การพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ตะแกรงใหม่อย่างประณีต รังสรรค์ เกิดเป็นต้นไม้ที่ถูกชุบชีวิตให้กลายเป็นงานศิลปะที่มีเพียงต้นเดียวในโลก และสามารถนำมาใช้เป็นของตกแต่งในเทศกาลต่างๆ เช่น นำชิ้นส่วนไปใช้ตกแต่งต้นคริสต์มาส เป็นต้น

และในปี 2564 ได้มีการจับมือกับ นะโม-ติณห์ ตันโสภณ ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ไฟแรง ผู้ก่อตั้ง Post-Thesis แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่น การคอลลาบอเรชั่นระหว่าง Wacoal x Post-Thesis นำเสนอเรื่องราวการนำบราเก่ากว่า 1,000 ชิ้น มารังสรรค์ให้บรรเจิดเกิดเป็น Wacoal Upcycle Collection โดยสื่อสารในรูปแบบแฟชั่นฟิล์มสุดเก๋ เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

โดยชุดที่ออกแบบได้เลือกสรรส่วนประกอบหลัก อาทิ สายบ่า ผ้าลูกไม้ เต้าโมล และตะขอเกี่ยว มาตัดเย็บและประกอบอย่างประณีต จนกลายเป็นซิกเนเจอร์ลุคได้กลิ่นอาย Post-Apocalyptic เหมือนหลุดไปอยู่ในยุคสิ้นโลก ทั้งชุดที่ออกแบบ กระเป๋า หน้ากากผ้าและแอกเซสซอรี ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้หญิง ผู้ชายหรือสายทรานส์ ก็ใส่ชุด Upcycle เดินสับขาสุดพลังออกไปช่วยโลกได้แบบปัง ปุริเย่ ฉีกนิยามเดิมๆ เพราะ “ชุดชั้นในจะไม่ใช่แค่เรื่องข้างใน” แต่เป็นเรื่องของเราทุกคน โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ การแปรรูปและสร้างสรรค์สิ่งของเหลือใช้ให้กลายเป็นสิ่งใหม่ และเพื่อกระตุ้นให้ทุกคนตื่นตัวเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

 

ทั้งนี้ในปี 2564 วาโก้ได้รับบริจาคบราเก่าจำนวน 130,000 ตัว รวมน้ำหนัก 13,000 กิโลกรัม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เกิดจากการฝังกลบ 20 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ทดแทนการใช้ถ่านหินในการเป็นเชื้อเพลิง 65 ตันคาร์บอนไดออกไซด์”

นับตั้งแต่ก่อตั้งโครงการ “วาโก้บราเดย์ บราเก่าเราขอ” ในปี พ.ศ. 2555-2564 วาโก้ได้มีส่วนช่วยกำจัดบราเสื่อมสภาพไปแล้วจำนวน 619,000 ตัว รวมน้ำหนัก 61,900 กิโลกรัม หรือลดขยะชุมชนไปได้กว่า 62 ตัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการ ฝังกลบ และจากการใช้ทดแทนพลังงานถ่านหินได้กว่า 402 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ถึงกว่า 33,529 ต้น”