นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดีรองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และนายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดใจกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าปีนี้ธุรกิจโรงแรม เพิ่งถือว่าเริ่มฟื้นตัว โดยในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้จะเริ่มค่อยๆ ก้าวขึ้นมา จากมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดระบบรับนักท่องเที่ยวแบบ Test and Go และโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4”
ส่วนไตรมาส 2 นักท่องเที่ยวยุโรปอาจจะน้อยลง ต้องอาศัยนักท่องเที่ยวจากเอเชีย ตะวันออกกลางและอินเดีย เข้ามาทดแทน จากนั้นก็จะขยับดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และ 4 และจะค่อยๆ ฟื้นต่อเนื่องถึงปี 2566 แต่กว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติคาดว่าจะเป็นปี 2567-2568
ดังนั้นปีนี้ธุรกิจท่องเที่ยวก็เพิ่งออกจากห้องไอซียู และยังต้องให้นํ้าเกลืออยู่ เนื่องจากสถานประกอบการท่องเที่ยวกว่า 84% จากทั้งหมดทั่วประเทศ มีพนักงานเหลืออยู่ไม่เกิน 50% ของที่เคยมีมาก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 และธุรกิจโรงแรมที่พักแรม 77% มีพนักงานที่เหลืออยู่ไม่เกิน 50% ซึ่งสอดคล้องกับสถาน การณ์ในช่วงไตรมาส 3/2564 ที่ธุรกิจโรงแรมได้ปลดพนักงานออกกว่า 50% ส่งผลต่อคุณภาพการบริการและความมั่นคงในภาคการท่องเที่ยว
หัวใจสำคัญที่จะทำให้ภาคท่องเที่ยวสามารถพลิกฟื้นได้อย่างแท้จริง จะต้องมีการจัดตั้งคลินิกท่องเที่ยว หรือทัวริสซึ่มคลินิกขึ้น เพื่อช่วยในด้านการฝึกทักษะพนักงานใหม่ ซึ่งต้องให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้ เนื่องจากขณะนี้แรงงานในธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมหายไปมากกว่า 50%
เพราะคนกลับบ้านเกิดและไม่กลับมาทำงานใหม่มีจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่ทำงานมานาน 30-40 ปี ถือเป็นแรงงานที่มีทักษะสูง เมื่อออกไปและไม่กลับมาอีก เพราะไม่มั่นใจในอนาคต ว่าจะมีงานทำมั่นคงเท่าใดในระยะยาว ทำให้ผู้ประกอบการก็ต้องฝึกฝนแรงงานใหม่ ให้มีทักษะสูงเทียบเท่าเดิม เพื่อรองรับการกลับมาของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลชัดเจนให้ผู้ประกอบการบางรายไม่สามารถอยู่รอดได้
โควิดส่งผลกระทบกับภาคการท่องเที่ยวโดยรวมเกิดดิสรัปชั่น 6 ข้อ ได้แก่
1. การเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว เพิ่มมาตรการป้องกันการระบาดมากขึ้น
2. ตลาดลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเราจะต้องเพิ่มการทำตลาดไทยเที่ยวไทยมากขึ้น และเตรียมพร้อมตลาดใหม่ที่จะ พัฒนาเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีคุณภาพมากขึ้น
3. เทคโนโลยี ที่ต้องนำมาปรับใช้ในธุรกิจท่องเที่ยวมากขึ้น
4. การบริหารจัดการความยั่งยืน
5. กำลังคนหรือแรงงานที่ขาดแคลน
6. เงินทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการจะต้องเจอในตอนนี้ โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสายป่านยาวจะได้เปรียบในเรื่องเงินทุน ในการสร้างแรงงานขึ้นมาใหม่ รวมถึงลงทุนใหม่ในด้านอื่นๆ ส่วนผู้ประกอบการขนาดเล็ก โดยเฉพาะเอสเอ็มอี หรือไมโครเอสเอ็มอีต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลในการพัฒนาศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขัน
การรักษาการจ้างงานถือเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่หากไม่มีความต้องการ (ดีมานด์) เข้ามามากพอ สำหรับการสร้างกระแสเงินสดให้ธุรกิจอยู่ได้ ทำให้เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนระยะฟื้นตัวปี 2565 จึงเสนอให้รัฐบาลขยายเวลาเงินอุดหนุนค่าจ้างแรงงานเอสเอ็มอี เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อรักษาการจ้างงาน คนละ 3,000 บาท จำนวนลูกจ้างสูงสุด 200 คน พร้อมทั้งสนับสนุนค่าจ้างพนักงานใหม่ ที่เป็นนักศึกษาที่จบใหม่ภายใน 5 ปี เพื่อกระตุ้นการจ้างงานในช่วงฟื้นฟู 50% ของเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท และลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมสำหรับนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิม 5% เหลือ 2% การขอขยายเวลาการใช้ขาดทุนสะสมจาก 5 ปี เป็น 10 ปี
รวมถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่เป็นประเด็นใหญ่ของธุรกิจโรงแรม ที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือเพราะหากผู้ประกอบการมีภาระต้องจ่ายภาษีที่ดินเต็ม 100% คงไม่ไหว ซึ่งโรงแรมจัดว่าเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากโควิด-19 หากเทียบกับธุรกิจอื่นๆ อย่างอุตสาหกรรม หรือ อสังหาริมทรัพย์ จึงอยากขอให้รัฐบาลให้ความเห็นใจในการขอผ่อนผันจ่ายภาษีที่ดิน 10% ต่อไปอีก 2 ปี คือในปี 2565-2566 หรือปรับอัตราภาษีเก็บแบบเป็นขั้นบันได อย่าเพิ่งเหมารวมธุรกิจโรงแรมเข้าไปอยู่ในอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดิน 100% เพราะถ้าโรงแรมมีรายได้เหมือนเดิมก็พอมีกำลังจะจ่ายภาษีดินได้ แต่วันนี้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม มีศักยภาพด้อยกว่าธุรกิจอื่นเป็นอย่างชัดเจน
เพราะวันนี้ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือแค่ 4.2 แสนคน จากเดิมที่เคยมีเข้ามามากถึง 40 ล้านคนการเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบ Test & Go ก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามาราว 2-3 แสนคนต่อเดือน เทียบไม่ได้กับปกติที่ไทยจะมีนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 3.3 ล้านคนต่อเดือน และการพึ่งเพียงการเข้าพักของคนไทยอย่างเดียวจึงยังไม่เพียงพอ การท่องเที่ยวจึงยังคงต้องพึ่งความช่วยเหลือจากรัฐอยู่เพื่อประคองตัวให้ไปต่อได้