นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สมาคมโรงแรมไทยได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน มกราคม 2565 ผลสำรวจพบว่าอัตราการเข้าพักลดลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอน(Omicron) ในประเทศ และการยกเลิก Test & Go รายใหม่ชั่วคราวก่อนหน้านี้เป็นสำคัญ สอดคล้องกับสัดส่วนของลูกค้าที่ยกเลิกการจองห้องพักที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ทั้งนี้ โรงแรม 42% ยังมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดมาก
โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม (Hotel Business Operator Sentiment Index)เดือน มกราคม 2565 (สำรวจระหว่างวันที่ 10 – 26 มกราคม 2565) จากผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 200 แห่ง (เป็น AQ 18 แห่ง Hospitel 7 แห่ง) มีรายละเอียด ดังนี้
สถานะกิจการ
ข้อมูลสรุปผลสำรวจจากโรงแรมจำนวน 175 แห่ง (ไม่รวมโรงแรมที่เป็น AQ และ Hospitel) ในเดือน ม.ค. 65 มีโรงแรม 73% เปิดกิจการปกติ ใกล้เคียงเดือน ธ.ค. 64 ที่ 74% จากการเปิดประเทศ และรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ แม้มีการยกเลิก Test & Go รายใหม่ชั่วคราวในช่วงปลายเดือน ธ.ค. 64 ทั้งนี้ โรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวมีสัดส่วนราว 3% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่ปิดมามากกว่า 6 เดือน และคาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งในครึ่งหลังของปี 2565 เป็นต้นไป
รายได้
เดือน ม.ค. 65 โรงแรมส่วนใหญ่ยังมีรายได้อยู่ในระดับต่ำ ใกล้เคียงเดือน ธ.ค. 64 แม้โรงแรมที่เปิดกิจการอยู่และรายได้กลับมาไม่ถึง 10% เมื่อเทียบกับก่อน COVID-19 มีสัดส่วนลดลงต่อเนื่อง
แต่โรงแรมที่รายได้กลับมาไม่ถึง 30% ยังมีสัดส่วนราว 49% และมีโรงแรมเพียง 26% ที่รายได้กลับมาแล้วเกินครึ่งหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้และภาคตะวันออกเป็นสำคัญ
อัตราการเข้าพัก
เดือน ม.ค. 65 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 32% ลดลงจากเดือน ธ.ค. 64 ที่ 37% โดยเป็นการปรับลดลงของโรงแรมในเกือบทุกภูมิภาค จากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Omicron ในวงกว้าง และการยกเลิกมาตรการ Test & Go รายใหม่ชั่วคราว ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ยกเว้นโรงแรมในภาคใต้ที่ยังได้รับอานิสงส์จากการรับนักท่องเที่ยว Sandbox ส่งผลให้อัตราการเข้าพักยังสูงกว่าภาคอื่นโดยเปรียบเทียบ อย่างไรก็ตาม อัตราการเข้าพักในเดือน ก.พ. 65 ชะลอลงจากเดือนปัจจุบันมาอยู่ที่ 24% กลับมาใกล้เคียงกับเดือน ต.ค. 64 หรือช่วงก่อนเปิดประเทศ
สภาพคล่อง
เดือน ม.ค. 65 โรงแรมส่วนใหญ่มีสภาพคล่องลดลงจากเดือน ธ.ค. 64 และมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 53% ของผู้ตอบแบบสำรวจ โดยมีสัดส่วนของกลุ่มที่มีสภาพคล่องน้อยกว่า 1 เดือนอยู่ที่ 11% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ลดลง ขณะที่มีโรงแรมที่สภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเพียง 17% โดยส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยราว 40-55%
การจ้างงาน
เดือน ม.ค. 65 โรงแรมมีการจ้างงานเฉลี่ยลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 63.6% ของการจ้างงานเดิมก่อนเกิด COVID-19 (หากไม่รวมกลุ่มที่ปิดกิจการชั่วคราวการจ้างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 64.7%) โดยมีการจ้างงานลดลงในเกือบทุกภาค สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักที่ลดลง ยกเว้นโรงแรมในภาคใต้
สัดส่วนยกเลิกการจองห้องพัก
สัดส่วนยกเลิกการจองห้องพัก จากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ Omicron ส่งผลให้เห็นลูกค้ายกเลิกการจองห้องพักในเดือน ม.ค. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการยกเลิกการจองน้อยกว่า 25% ของยอดจองทั้งหมด ยกเว้นโรงแรมในภาคตะวันออกที่เกือบครึ่งมีลูกค้ายกเลิกการจองมากกว่า 50% ของยอดจองทั้งหมด
ด้านการบริหารการจัดการพนักงาน
ด้านการบริหารจัดการพนักงาน ส่วนใหญ่ยังคงมีการให้ใช้วันลาประจำปีเป็นหลัก รองลงมา คือ ให้สลับกันมาทำงาน โดยโรงแรมเกือบครึ่งมีการจ้างพนักงานชั่วคราวเพิ่มแทนการจ้างพนักงานประจำ เพื่อยืดหยุ่นในการปรับลดพนักงานและลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
มาตรการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการต้องการจากภาครัฐ
มาตรการช่วยเหลือที่ต้องการจากภาครัฐ ไม่ต่างจากการสำรวจรอบก่อน โดยโรงแรมส่วนใหญ่ต้องการสนับสนุนค่าจ้างพนักงานเดิม (Co-payment) และให้พักชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย มาเป็นอันดับแรก
รองลงมา คือ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น การเพิ่มจำนวนห้อง และระยะเวลาโครงการเราเที่ยวด้วยกัน สนับสนุนการจัดประชุมสำหรับองค์กร และด้านการตลาดหลังโควิด ทั้งนี้ โรงแรมบางส่วนต้องการให้มีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม อาทิ เงินช่วยเหลือพนักงานโรงแรมเพิ่มเติมในจังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น เชียงใหม่ รีไฟแนนซ์เงินกู้ระยะสั้นเป็นระยะยาวแบบปลอดเงินต้น สนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข
เช่น ค่า ATK รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยจากการเปิดประเทศ โดยมีมาตรการและสถานที่รองรับผู้ป่วยจากโควิดอย่างทั่วถึง ครอบคลุม และทันเวลา หรืออาจทดลองเปิดการท่องเที่ยวในประเทศเต็มรูปแบบอย่างน้อย 1 ไตรมาส ให้สามารถรับมือในการจัดการแพร่ระบาดได้ดีก่อน นอกจากนี้ ควรมีความชัดเจนของมาตรการรัฐและการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าสู่ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวก่อนปฏิบัติจริงทั้งระบบที่รองรับการยื่นคำขอเข้าประเทศ และการจองคิวตรวจ RT-PCR
ปัญหาหรืออุปสรรคในการเข้าถึงมาตรการฟื้นฟูฯ
เดือน ม.ค. 65 ปัญหาหรืออุปสรรคในการเข้าถึงมาตรการฟื้นฟูฯ ไม่ต่างจากการสำรวจครั้งก่อนมากนัก โดยผู้ประกอบการราว 60% ยังมองว่าอุปสรรคสำคัญของการเข้าร่วมแต่ละโครงการ คือ สถาบันการเงินสร้างเงื่อนไข หรือกำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมซึ่งทำให้เข้าถึงมาตรการได้ยากขึ้น ด้านโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มีปัญหาเรื่องไม่มีความชัดเจนว่าสถาบันการเงินจะให้เข้าร่วมโครงการมากที่สุด ขณะที่สินเชื่อฟื้นฟูฯ ส่วนใหญ่มีอุปสรรคเรื่องอัตราดอกเบี้ย /ค่าธรรมเนียมสูงเกินไป และการสื่อสารรายละเอียดของมาตรการ นโยบายหรือแนวปฏิบัติของสถาบันการเงินไม่ชัดเจนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ บางโรงแรมเช่าสถานที่ในการประกอบธุรกิจจึงไม่มีหลักทรัพย์ และสถาบันการเงินเสนอสินเชื่อเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี (OD) ค่อนข้างสูง
ประเด็นพิเศษ #1 : ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron)
ประเด็นพิเศษ#2 : ช่องทางที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ Omicron
โรงแรมส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบแล้วผ่านประชาชนลดการท่องเที่ยวในประเทศ/ทำกิจกรรมนอกบ้านลดลง และการระงับการใช้ Test & Go เป็นสำคัญ สะท้อนจากอัตราการเข้าพักที่ลดลง และมีสัดส่วนลูกค้ายกเลิกการจองห้องพักในเดือน ม.ค. เพิ่มขึ้น
จากมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ศบค.เปิดลงทะเบียน Thailand Pass รับนักท่องเที่ยวเพื่อเดินทางเข้าไทยโครงการ TEST & GO อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พร้อมเงื่อนไขที่เข้มงวดมากกว่าเดิม ต้องตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 2 ครั้ง และต้องมีหลักฐานการจองโรงแรมที่พัก ในวันที่ 1 และ 5 ที่เข้ามาในประเทศ เพื่อการติดตามตัวมาตรวจหาเชื้อโควิด-19 นั้น ทุกหน่วยงานยังคงปฏิบัติและต้องดำเนินการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มแข็งรัดกุม
พร้อมต่อยอดการท่องเที่ยวไทย ในการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการต่างๆ แต่ไม่ขัดต่อสถานการณ์การควบคุมโรคโควิด -19 ของทั่วโลก ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีคาดการณ์ว่าในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย ใกล้เคียงกับเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือนมีนาคม
แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์เศรษฐกิจ และการระบาดของโควิด-19 ยังไม่ทุเลา รายได้ยังฟื้นตัวช้ากลับมาไม่เหมือนเดิม และยังอยู่ในสถานการณ์ความเสี่ยงและความไม่แน่นอน แต่หากว่ากระทรวงการคลัง ยังคงยืนยันไม่ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบในการประกอบธุรกิจ รายได้ไม่เพียงพอ ไม่มีความพร้อมที่จะชำระภาษี และส่งผลกระทบธุรกิจเป็นลูกโซ่ ขาดภาพคล่อง มีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงานอีกด้วย
สมาคมโรงแรมไทย (THA) ขอให้รัฐบาลพิจารณาหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีสำหรับธุรกิจโรงแรมเป็นการเฉพาะ โดยขอผ่อนปรนและยืดเวลาการจัดเก็บออกไปอย่างน้อย 2 ปี เพื่อประเมินสถานการณ์ของไวรัสโควิดและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถประคับประคองธุรกิจ เกิดการจ้างงานและดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
ที่มา : การสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม โดย สมาคมโรงแรมไทย ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย