ผลประกอบการของ 'การบินไทย' ปี2564 ซึ่งก็พลิกจากขาดทุน 141,170 ล้านบาท มาทำกำไร 55,113 ล้านบาท ถือว่าเป็นกำไรที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่ได้มาจากกำไรจากการดำเนินธุรกิจที่แท้จริง โดยกำไรที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากการบินไทยได้ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป โดยการพักชำระหนี้ เงินต้น และดอกเบี้ย 2-3 ปี การปรับลดภาระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยตามภาระผูกพันเดิม ปรับลดภาระผูกพันตามสัญญาเช่า/ซื้อเครื่องบิน โดยกำหนดการชำระค่าเช่าตามชั่วโมงการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง ( Power by the Hour)
รวมไปถึงการปรับปรุงมูลหนี้ ตามคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ อาทิ เงินกู้ยืมระยะสั้น ซึ่งตามแผนฟื้นฟูกิจการยังไม่ได้รับชำระภายในหนึ่งปี จำนวน14,990 บาท ได้ถูกเปลี่ยนกลุ่มไปอยู่กลุ่มเงินกู้ยืมระยะยาว การเพิ่มทางเลือกในการชำระหนี้ เช่น การใช้บัตรกำนัลแทนเงินสด ส่งผลให้การบินไทยรับรู้เป็นกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ในปี 2564 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 61,807 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีกำไรจากการขายเงินลงทุน จำนวน 2,834 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วย กำไรจากการขายหุ้นบริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ที่ขายหุ้นออกไป 122.07 ล้านหุ้น ทำให้รับรู้กำไร 2,714 ล้านบาท และการขายหุ้นในบริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ออกไป 163.01 ล้านหุ้น รับรู้กำไร 710 ล้านบาท
ทั้งยังมีกำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์และที่ดิน จำนวน 1,593 ล้านบาท โดยเป็นกำไรจากการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง อาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ 415 ล้านบาท ขายที่ดินและอาคารสำนักงานหลานหลวง 441 ล้านบาท ขายที่ดินและอาคารสำนักงานภูเก็ต 61 ล้านบาท การปรับปรุงผลประโยชน์พนักงาน 8,840 ล้านบาท จากการปรับโครงสร้างองค์กรที่ และโครงสร้างค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆของพนักงาน ซึ่งที่ผ่านมาการบินไทยได้ลดจำนวนพนักงานจาก 29,500 คนในปี2562 เหลือ 14,400 คนในปัจจุบัน(รวมไทยสมายล์และพนักงานเอ้าท์ซอร์ท)
ในขณะที่รายได้จากการดำเนินธุรกิจของการบินไทยจริงๆในปี2564 อยู่ที่ 23,747 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 24,684 ล้านบาท (51%) เนื่องจากการบินไทยมีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 24,599 ล้านบาท และรายได้จากการบริการอื่นๆลดลง 1,545 ล้านบาท (23.2%) ซึ่งเป็นสาเหตุมาจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศทั้งของไทยและประเทศต่างๆ
อย่างไรก็ตามถึงแม้การบินไทยจะมีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 1,460 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้ที่เกิดจากการหักหลบลบหนี้ค่าบริการรายเดือนและการซ่อมบำรุงตามสัญญาที่ค้างชำระตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการชำรุดของเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวม 43,449 ล้านบาทต่ำกว่าปีก่อน 40,396 ล้านบาท (48.2%) และการลดค่าใช้จ่ายตามแผนฟื้นฟูกิจการ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปจากการที่ไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ ส่งผลให้การบินไทยขาดทุนจากการดำเนินงานอยู่ 19,702 ล้านบาท ซึ่งก็ถือว่าขาดทุนลดลงจากปีก่อน 15,712 ล้านบาท
แม้ในปี2564 การบินไทยจะยังประสบปัญหาขาดทุนจากการดำเนินงานอยู่ แต่ก็มีแนวโน้มการขาดทุนจากการดำเนินงานที่ลดลงจากปีก่อนถึง 44% รวมถึงการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการ และ แผนปฏิรูปธุรกิจ (Transformation Initiatives) กว่า 600 โครงการ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ด้านการลดต้นทุนและ ค่าใช้จ่าย และการเพิ่มการหารายได้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายโดยรวมได้กว่า 4 หมื่นล้านบาทต่อปี และปรับลดความต้องการสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาทจากเดิมมีความต้องการสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ในการประชุมครม.ล่าสุดก็มีการหารือถึงแนวทางเพิ่มเติมในการจ่ายหนี้รายย่อย นอกเหนือไปจากการจัดหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบของสินเชื่อใหม่วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท จากสถาบันการเงินเจ้าหนี้
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันการบินไทยมีความต้องการสินเชื่อใหม่เพียง 2.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากสามารถลดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นการจัดหาสินเชื่อใหม่ผ่าน 5 ธนาคารเจ้าหนี้ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ,ธนาคารออมสิน,ธนาคารกรุงไทย ,ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิม แบงก์) คาดว่าจะดำเนินการเซ็นสัญญาได้ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้
“ขณะนี้กระทรวงการคลังแจ้งว่า รัฐจะไม่ใส่เงินกู้ใหม่เข้ามา แต่อาจจะมีการดำเนินการในเรื่องอื่นๆต่อไปในอนาคต เพื่อให้ภาครัฐยังคงถือหุ้นอยู่ในการบินไทยอย่างน้อย 40% ซึ่งกระทรวงการคลัง อาจจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลง แต่ก็มีธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และกองทุนวายุภักษ์ ถือหุ้นเพิ่มขึ้นประกอบกับธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทยก็เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อใหม่ให้การบินไทยด้วยก็สามารถใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนได้
ทั้งนี้ผมมั่นใจว่าการบินไทยจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ก่อน 5 ปี หลังการปรับโครงสร้างทุนใหม่ ที่ในขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่าง ซึ่งคาดว่าจะยื่นต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ได้ในปลายเดือนมี.ค.นี้ และบริษัทลดค่าใช้จ่ายลงได้มาก หลายประเทศทยอยเปิดประเทศ การบินไทยก็มีโอกาสกลับมาเปิดบินได้เพิ่มขึ้น