เกือบ 3 ปีที่นักธุรกิจและนักการตลาดมีความเครียดและสับสนในการทำแผนการตลาดจากความความผันผวนและเอาแน่นอนไม่ได้ อีกทั้งสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย สถานการณ์ความรุนแรงระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” เกิดขึ้นและกลายเป็นตัวแปรใหม่ ผนวกกับกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว ฝั่งของซัพพลายเชน ยังคงประสบปัญหาต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นและยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด คำถามคือ ภายใต้สถานการณ์ในโลกการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปในครั้งนี้นักการตลาดจะเดินหน้าต่ออย่างไร?
“อนุวัตร เฉลิมไชย” นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย สะท้อนมุมมองที่น่าสนใจว่า โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านสังคมและพฤติกรรมผู้บริโภคหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีความไม่รู้และไม่เข้าใจอย่างมาก นักธุรกิจและนักการตลาดต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์ 3.0 หรือ Digital asset ฯลฯ แม้แต่ความเคลื่อนไหวของโลกที่มุ่งไปสู่ Net-Zero ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ส่วนของความรุนแรงระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นทุนใน supply chain และราคาน้ำมันซึ่งเดิมเดือดร้อนอยู่แล้วอาจจะพุ่งสูงขึ้นอีก ซึ่งนักการตลาดเองมีการทำ scenario หรือแผนรับมือหลายๆ แผนเพื่อรองรับทั้ง Demand และ Supply
“Demand ปีนี้สามารถพูดได้ว่าเป็นปีที่จะฟื้นจากโควิด เพราะรัฐบาลเองพยายามผลักดันให้เป็นโรคประจำถิ่น โมเมนตัมนับตั้งแต่ช่วงต้นปีมา ถือว่าตลาดมีความคึกคัก และผลกระทบจากสงคราม"
นายกฯ อนุวัตร กล่าวต่อไปว่า เป็นหน้าที่ของนักการตลาด ที่จะทำให้บิสิเนสขับเคลื่อนไปได้ และหาโอกาสจากเรื่องเหล่านี้ “ใครที่ปรับตัวได้เก่งก็น่าจะรอด” โดยหัวใจสำคัญในการทำการตลาดหลังจากนี้มีหลักการที่น่าสนใจคือ H.E.A.R.T ซึ่งมาจาก H - Humanize เพราะผู้บริโภคมองหาแบรนด์ที่มีความเป็นมนุษย์ มีจิตสำนึก มีความเข้าใจถ้าแบรนด์มีความจริงใจและเป็นเสมือนเพื่อนกับผู้บริโภคได้เมื่อไรแบรนด์จะก้าวไปสู่หัวใจของลูกค้าได้
E - ESG & Sustainability เรื่องของ Green Trend กลายเป็นวาระระดับโลก ESG จะไม่ได้เป็นแค่การทํากิจกรรม CSR อีกต่อไป แต่จะถูกพัฒนาไปเป็นรูปแบบของ Sustainable Marketing อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งเรื่องของกระบวนการผลิต แนวคิดจนถึงการปรับโมเดลธุรกิจให้เกิดผลเชิงบวก A - Agile
การตลาดต้องมี Agile Marketing คือมีกลยุทธ์และแผนการตลาดที่มีความยืดหยุ่น รอบคอบ และมีแผนสํารองที่หลากหลาย พร้อมปรับเปลี่ยนให้เท่าทันกับ สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง การมี Agile Mindset ที่พร้อมเปิดรับความเปลี่ยนแปลง ให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม จะทำให้กล้าคิด สร้างสรรค์ นวัตกรรม เพื่อเกิดผลลัพธ์ใหม่
R-Resilience วัฒนธรรมองค์กรจะต้องเปิดโอกาสให้คนลองผิดลองถูกและมี growth mindset ไม่ยึดคิดกับความสําเร็จเดิมๆ แต่คือกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่ออยู่รอด เมื่อธุรกิจหรือแผนการตลาดไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ธุรกิจต้องเรียนรู้ เพื่อนำมาปรับและเตรียมพร้อมรับมือ และ T-Transformation ต้องรู้จักเลือกใช้เทรนด์อนาคตไม่ว่าจะเป็นกระแสรักสุขภาพ new platform เรื่อง digital asset หรือ metaverse ที่เหมาะกับธุรกิจ รวมทั้งใช้ Meaningful Data มาสร้าง Impactful Action ที่ช่วยให้ชีวิตของลูกค้าและโลกดีขึ้น รวมทั้งสร้างกำไรให้ธุรกิจ
“สิ่งที่นักการตลาดต้องให้ความสำคัญเป็นเบอร์ 1 คือเรื่องของ T-Transformation เพราะเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆ “เป็นสิ่งไม่รู้ที่ควรรู้” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเว็บไซต์ 3.0 และโลก metaverse ทั้งซัพพลายเชนว่าเราจะเข้าไปอยู่ในนั้นได้อย่างไร ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มาแน่ๆ ดังนั้นเราต้องรีบทำความเข้าใจและทำให้ “ความไม่รู้เป็นความรู้” แต่บางคนก็ยังปฏิเสธมันอยู่และมองว่าเป็นเพียงกิมมิค หรือมองว่าคริปโตเป็นการพนัน เรื่องเหล่านี้เคยอยู่ในโลกใต้ดินแต่ตอนนี้แบงก์ชาติหรือ ตลท ก็เริ่มผลักดัน digital asset เหล่านี้ให้ขึ้นมาบนดินให้ได้ และอาจกลายเป็น mainstream ในอีกปี 1-2 ปีข้างหน้า”
นอกจากนี้เทรนด์ ESG ซึ่งธุรกิจยุคใหม่ รวมทั้งนักการตลาดจำเป็นต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ทและนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ เพราะถ้าไม่ทำในอนาคตอันใกล้ก็อาจโดนกีดกันจากผู้บริโภค ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ว่าในช่วงแรกอาจมีความกังกลว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หรือจะเกิดขึ้นเร็วแค่ไหน แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าเทรนด์นี้จะเกิดขึ้นจริง เพราะฉะนั้นธุรกิจและนักการตลาด ต้องทำให้ตัวเองเข้าไปผูกในเรื่องของ ESG ให้ได้โดยเฉพาะในเรื่องของ BCG หรือสิ่งแวดล้อม
“ปีนี้ทุกอย่างน่าจะดีกว่าเดิมเพราะปีที่แล้วทั้งคนและธุรกิจยังไม่ค่อยกล้าใช้เงิน แต่ปีนี้ยังไงการตลาดก็ต้อง come back ทุกธุรกิจจะกลับมาทำการตลาด เพราะถูกขับเคลื่อนด้วยโลก เช่น ออสเตรเลีย ใช้นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” มีการเปิดประเทศ ประชาชนใช้ชีวิตปกติ เหลือแต่ทางจีน ไต้หวัน ฮ่องกง ที่ยังปิดสนิท ส่วนประเทศไทยตอนนี้ยังช้ากว่า หลายๆประเทศ เพราะยังจะต้องตรวจเชื้อก่อนขึ้นเครื่อง เดินทางหรือทำกิจกรรม ขณะที่ต่างประเทศเปิดให้ใช้ชีวิตปกติตราบใดที่สามารถ Home Isolation ได้”
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,763 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2565