เว้นภาษีที่ดินดึงที่รกร้างขายคาร์บอนเครดิต แนะกบพ.กระจายท้องถิ่นไฟเขียว

21 ธ.ค. 2567 | 01:53 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ธ.ค. 2567 | 02:16 น.

กูรูอสังหาฯ "อิสระ บุญยัง" ชี้ข้อดี แก้กฎภาษีที่ดินใหม่ เว้น-ผ่อนคลายเก็บภาษีที่ดิน ดึงที่รกร้างโลว์คาร์บอน แนะกบพ. กระจายอำนาจอปท.ด้านการปลูกกล้วย พื้นที่เกษตรในเมือง ทางเลือก บริโภคสินค้าเกษตรในเมือง /ทำพื้นที่เขียว/ลดถูกบังคับทำบ้านคอนโดฯเกิดซัพพลายล้น

 

จากปัญหาการตีความพื้นที่รกร้างไม่ทำประโยชน์แต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกันสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเจ้าของที่ดินรสมถึงภาครัฐ ล่าสุด  มติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่18ธันวาคม 2567 รับหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (พื้นที่สีเขียว) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

อิสระ บุญยัง

สำหรับเหตุผลที่ต้องออกร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่สีเขียวเข้าข่ายเป็นที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพซึ่งจะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูง จึงทำให้ที่ผ่านมามีผู้ปรับเปลี่ยนที่ดินที่เป็นพื้นที่สีเขียวให้เป็นที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมเพื่อให้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำลง

ขณะเดียวกัน  เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตีความ เรียกเก็บภาษีที่ดินฯ  ไปในทิศทางเดียวกัน

นายอิสระ บุญยัง ประธานกรรมการ บริษัท กานดาพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และ ในเครือและประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่ม อสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ตามมติครม. เห็นชอบ ร่างกฎกระทรวง เกี่ยวกับ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ได้ลดภาษีเป็นการทั่วไปแต่จะลดภาษี50%เกี่ยวกับสถาธารณูปโภค ของรัฐ เกี่ยวกับระบบผลิตน้ำประปามองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะมีผลเกี่ยวกับประชาชนซึ่งเรื่องนี้ตกหล่นไปเมื่อครั้งยกร่างกฎหมายรวมถึงเขตทางของระบบรางที่ได้รับยกเว้น

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ สนับสนุนพื้นที่โลว์คาร์บอน หรือซื้อขายคาร์บอนเครดิต  ลดโลกร้อน แต่ทั้งนี้การลดภาษีที่ดิน ที่รกร้างมาทำประโยชน์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต นอกจากเป็นผลดีกับเจ้าของที่ดินแล้วยังช่วยให้ท้องถิ่นกว่า7,000แห่งทั่วประเทศตีความกฎหมายไปในทิศทางเดียวกัน

ที่ผ่านมามีปัญหาการตีความที่ต่างกัน อย่าง พื้นที่ป่าชายเลนคือพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เรียกเก็บภาษีอัตราเกษตร ขณะอีกพื้นที่เป็นป่าจาก เคยตีความเป็นที่รกร้าง เสียภาษี 0.3% หรือ ล้านละ3,000บาท ขณะป่าชายเลนกับยกเว้น หากมูลค่าไม่เกิน50ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การจูงใจให้ประชาชนที่มีที่ดินไม่ทำประโยชน์ ปลูกต้นไม้ซื้อขายคาร์บอนเครดิต และได้รับการยกเว้นภาษี เป็นเรื่องที่ดี แต่ ฝากถึงองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO)หรือ อบก. ควรกระจายอำนาจ และวางหลักเกณฑ์ ให้อปท.เป็นผู้พิจารณาอนุญาติ  แทน เพราะหากต้องขออนุญาต ที่ อบก. เกรงว่าจะเกิดคอขวด เกิดความล่าช้าหากประชาชนต้องการนำที่ดินเข้าสู่ระบบโลว์คาร์บอน

ขณะ เจ้าของที่ดินที่ดินรกร้างไม่ทำประโยชน์ ในเมือง โดยใช้วิธีลดภาระภาษีด้วยการปลูกกล้วย ฯลฯซึ่งที่ผ่านมา เมื่อ5-6ปีก่อน ทั้งกระทรวงการคลังและ  กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ยืนยันว่า สามารถทำ ซิตี้ฟาร์ม หรือเกษตรในเมืองได้ ไม่ใช่เฉพาะเจาะจงชานเมือง ที่สำคัญ หากเจ้าของที่ดินปลูกต้นไม้ให้ร่มเงาได้มองว่าเป็นเรื่องที่ดีช่วยลดมลพิษในเมือง แต่หาก กำหนดใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังใองรวมกรุงเทพมหานคร เช่น พื้นที่สีแดง (ประเภทพาณิชยกรรม) อาจทำให้ซัพพลายล้นตลาดจากการบีบบังคับให้นำที่ดินออกพัฒนา และขายไม่ออกในที่สุด

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่าสำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง เป็นการยกเว้นภาษีให้แก่พื้นที่สีเขียว โดยกำหนดให้ที่ดินที่จะได้รับยกเว้นภาษีจะต้องเป็นที่ดิน ซึ่งปกคลุมด้วยพืชพรรณเป็นองค์ประกอบหลัก และมีประโยชน์เพื่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศการดำรงชีวิต หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ตลอดปีภาษี ดังนี้

1. ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) ในประเภทการลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตรจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เฉพาะโครงการที่สอดคล้องกับระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจประเภทปลูกป่าและฟื้นฟูป่า 

2. เป็นป่าชายเลน โดยมีรายละเอียดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งประกาศกำหนด 

3. เป็นพื้นที่สีเขียวตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศกำหนด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ทั้งนี้ ที่ดินที่เข้าข่ายได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะต้องไม่มีการใช้หาผลประโยชน์ เว้นแต่เป็นการขาย หรือการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตซึ่งได้รับการรับรองจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังประเมินว่า การยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่สีเขียว จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวรวมกันปีละ 1,096 ล้านบาท แต่จะช่วยลดปัญหาการแผ้วถางพื้นที่สีเขียวเพื่อภาระลดภาษี 

ทั้งนี้เนื่องจากที่ดินที่เป็นพื้นที่สีเขียวที่เข้าข่ายเป็นที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราสูง เริ่มต้นที่ 0.3% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน จึงทำให้มีผู้ปรับเปลี่ยนที่ดินที่เป็นพื้นที่สีเขียวให้เป็นที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม เพื่อให้การเสียภาษีลดลงเหลือแค่อัตราเริ่มต้นที่ 0.01% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินเท่านั้น